บ้านศาลาดิน

“ชีวิตยั่งยืนของชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน”




“แหล่งน้ำ” ความหวังเดียวของชุมชนเกษตร

บ้านศาลาดิน จ.นครปฐม ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน ชาวบ้านมักประสบปัญหาเรื่องน้ำอยู่เสมอ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำกร่อย ทั้งหมดล้วนเกิดจากการไม่ดูแลรักษาแหล่งน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว เมื่อไม่มีแหล่งน้ำ ก็ไม่มีรายได้ ปัญหาความยากจนจึงตามมา ในปี 2554 ชุมชนประสบภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก น้ำไม่สามารถระบายไปยังคลองต่างๆ ได้ เพราะมีการทำประตูกั้นคลองสายต่างๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำท้ายประตู นอกจากนี้ในคลองยังเต็มไปด้วยผักตบชวา ขยะ สารเคมีจากการทำการเกษตร และของเสียจากการประกอบอาหารในครัวเรือน อีกปัญหาสำคัญคือชุมชนขาดผู้นำเข้ามาแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้สถานการณ์ในชุมชนเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ



สร้างผู้นำ สร้างการเรียนรู้ สู่ชุมชนพึ่งพาตัวเอง

หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 ชุมชนเริ่มมีการบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง สร้างผู้นำชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของแหล่งน้ำ ซึ่งทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ

  • มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรบ้านศาลาดิน ร่วมกับ สสน. ดำเนินงานแม่ข่ายบริหารจัดการน้ำ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้
    • จัดทำผังน้ำ เรียนรู้วิธีเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยี เช่น แผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียมและเครื่องระบุพิกัด หรือ GPS
    • ฟื้นฟูคลองในพื้นที่โดยขุดลอกคลองซอยต่างๆ วางท่อลอดถนนเพื่อให้คลองเชื่อมต่อกัน ช่วยให้การระบายน้ำดีขึ้น และเกิดระบบหมุนเวียนน้ำในชุมชน
    • สร้างต้นแบบเครื่องเติมออกซิเจนในน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในคลอง
    • ติดตั้งถังดักไขมันในครัวเรือนแบบง่ายๆ เพื่อช่วยแยกไขมันจากการประกอบอาหารไม่ให้ปนกับน้ำทิ้ง ใช้น้ำหมักชีวภาพ และก้อนจุลินทรีย์เพื่อบำบัดน้ำ
    • น้อมนำวิถีการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับชุมชน ดูแลและจัดรูปที่ดินให้เหมาะสมกับการใช้น้ำซ้ำเพื่อปลูกพืชในแต่ละพื้นที่ เช่น นาข้าว นาบัว สวน ไร่ การเลี้ยงปลา
  • ขุดลอกคลองริมทางรถไฟ ขุดลอกคลองเชื่อมต่อคลองหม่อมเจ้าเฉลิมศรี และทำท่อลอดถนน เพื่อให้น้ำไหลเวียน ซึ่งเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามธรรมชาติ โดยการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ชุมชนช่วยกันกำจัดสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและช่วยกันดูแลรักษาคลอง
  • จัดตั้งกองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคูคลอง มีการรับซื้อผักตบชวาเพื่อนำไปแปรรูป ร่วมกับอนุรักษ์คลอง และปลูกต้นไม้ท้องถิ่นตามแนวคลองทั้งตำบลมหาสวัสดิ์







ความสำเร็จ…ที่มากกว่าเรื่องน้ำ

หลังจากร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำชุมชน จนชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จากการเรียนรู้เรื่องการลอกคลองซอย และการทำพื้นที่เก็บกักน้ำ ใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพ ทำให้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำกลับคืนมาอีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย น้ำกร่อยอีกเลย อีกทั้งสภาพคลองก็ดีขึ้น ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ผู้คนเริ่มกลับมาสัญจรทางน้ำ เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจากการท่องเที่ยวนาบัว พร้อมทั้งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเรียนรู้การจัดสรรที่ดินทำกิน ใช้แนวทางการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งทำนาบัว ปลูกพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ และเลี้ยงปลาเพิ่มเติม ในอีกมุมหนึ่งชุมชนก็ร่วมมือกันนำขยะกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มโอกาสเรื่องรายได้ให้กับชุมชน เช่น นำผักตบชวามาใช้ผสมทำเป็นดินพร้อมปลูกขายสร้างรายได้ เกิดเป็นกองทุนชุมชน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตยั่งยืน


วีดีโอ

โบรชัวร์

ยังไม่มีโบรชัวร์

ติดต่อเรา