1 ทศวรรษ SD Symposium

ความร่วมมือเพื่ออนาคตยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เคยเก่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (Climate Emergency) ถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม และภาคประชาชน

เอสซีจี ตระหนักถึงปัญหานี้และผลกระทบที่จะตามมาเป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เอสซีจีจึงได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) มาปรับใช้กับทุกธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2553 เมื่อเอสซีจีมีอายุครบ 96 ปี (8 รอบ) ในปีนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Collaboration Network) จากในประเทศ สู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในแต่ละระดับ อันมีเป้าหมายสุดท้าย คือ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก จึงริเริ่มจัดงาน Thailand Sustainable Development Symposium (Thailand SD Symposium) ขึ้นตั้งแต่ปี 2553

ต่อมาในปี 2555 เอสซีจีได้ยกระดับการจัดงานเป็น ASEAN Sustainable Development Symposium ที่ถือเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแชร์ประสบการณ์ และ Best Practice จากองค์กรและหน่วยงานชั้นนำในอาเซียนและระดับโลกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวจริงเสียงจริงด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการครบรอบ 1 ทศวรรษของการจัดงาน SD Symposium ที่ยังคงมุ่งเน้นการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก

1 ทศวรรษ SD Symposium

Thailand SD Symposium 2010 “The Imperative Agenda for Businesess”
วันที่ 18 ตุลาคม 2553

ครั้งแรกของการจุดประกายแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และทำความเข้าใจกับคำว่า SD เปิดรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ธุรกิจต้องเข้าใจ ใส่ใจ และเริ่มต้นลงมือทำอย่างจริงจัง ธุรกิจ และองค์กรที่ดีในโลกยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับทั้งกำไร คน และสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
2010

Thailand SD Symposium 2011 “Challenge & Opporturnity for ASEAN Business”
วันที่ 19 กันยายน 2554

เปิดเวทีให้องค์กรธุรกิจระดับโลกมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการปรับตัวมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจัง ในวันที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แนวโน้มประชากรเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด ต้นทุนทรัพยากรสูง การบำบัดมลพิษเป็นสิ่งจำเป็นที่มีค่าใช้จ่าย ทางออกที่ดีที่สุด คือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ซึ่งต้องเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนทุกระดับ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมจะก้าวไปสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม

ASEAN SD Symposium 2012 “Sustainable Future in a Challenging World”
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

ขยายแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน ด้วยการจัดงานประชุม SD ระดับภูมิภาคอาเซียน เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วของโลก กำลังสร้างความเสียหายไปทั่วทุกภูมิภาค ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องตั้งเป้าหมายและวางแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน การลดการใช้ทรัพยากรและน้ำ การเพิ่มพื้นที่ป่า การจัดการเมืองให้ขยะเหลือศูนย์ ฯลฯ ซึ่งภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ASEAN SD Symposium 2014 “Collaboration for ASEAN Sustainable Growth”
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557

สานต่อความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน โดยชักชวนกันมาร่วมมองหากลไกในการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน เนื่องจากอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารที่สำคัญ การพัฒนาภูมิภาคอาเซียนจึงส่งผลกระทบในวงกว้างถึงประชาคมโลกด้วย ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนความคิดว่าการลงทุนด้านการพัฒนายั่งยืนไม่ใช่ความเสี่ยง แต่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเพื่อโลกของเรา

SD Symposium 2015 “Innovation for Sustainability: The Power of Collaboration”
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558

หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จขององค์กรทั่วโลก คือ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ หน่วยงาน หรือองค์กรที่สนับสนุนงานวิจัย และผลักดันงานวิจัยสู่ตลาด ซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่ยกระดับงานวิจัยที่มีคุณภาพ แต่ยังต้องประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันงานวิจัยให้นำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เกิดการสร้างอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใหม่เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

SD Symposium 2016 “Thailand Sustainable Water Management Forum”
วันที่ 20 มิถุนายน 2559

จากประสบการณ์การขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านเวทีระดับประเทศและระดับอาเซียนอย่างต่อเนื่องมาหลายปี นำมาสู่การเจาะประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤตทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง การบริหารจัดการน้ำอย่างรอบด้าน จึงถึงเวลาที่ต้องจัดเวทีระดมความคิดและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศ ทั้งการดูแลและฟื้นฟูแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีการรวมศูนย์การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมในครั้งนี้ ได้นำเสนอเป็นแนวทางสำหรับรัฐบาล เพื่อร่วมผลักดันสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

SD Symposium 2018 “Circular Economy : The Future We Create”
วันที่ 9 กรกฎาคม 2561

ท่ามกลางปัญหาทรัพยากรโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต แนวคิดใหม่ที่ต้องสร้างความตื่นตัวและตระหนักรู้อย่างจริงจัง คือ แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจกับวิถีการ ‘ผลิต-ใช้-วนกลับ’ (make-use-return) ให้ทุกกระบวนการผลิตและบริโภคอยู่บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ออกแบบวงจรให้สินค้ามีอายุใช้งานได้ยาวนานขึ้น สร้างแพลตฟอร์มการแบ่งปันทรัพยากร นำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ปรับโมเดลธุรกิจทำบริการให้เป็นสินค้า และจัดหาทรัพยากรหมุนเวียน ซึ่งอนาคตทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความมุ่งมั่น และบทบาทของทุกภาคส่วนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ก้าวแรกของการส่งเสริมแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้รับการตอบรับที่ดีมาก เกิดโครงการความร่วมมือระหว่างเอสซีจีกับหลายองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมมากมาย

SD Symposium 10 Years "Circular Economy: Collaboration for Action"
วันที่ 26 สิงหาคม 2562

ต่อยอดการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การสร้างความร่วมมือและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในทุกระดับ ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน มุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับสากลและระดับประเทศ นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งยังจัดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดียิ่งขึ้นสำหรับการจัดการขยะของประเทศไทย พร้อมนำเสนอข้อสรุปดังกล่าวต่อคณะรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบแผนงานพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยและอาเซียนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future”

อีกก้าวของการผลักดันแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงพลัง สร้างและขยายครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อโลก นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกร่วมกันในที่สุด