ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี

“ชุมชนพึ่งพาตน พ้นภัยแล้งบนวิถีพอเพียง”





เพราะปัญหาน้ำ คือปัญหาชีวิต

ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี แม้จะมีสภาพเป็นที่ลุ่มและมีป่าต้นน้ำเขาชีปิดที่สามารถเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำหลักของชุมชนได้ แต่ในหน้าแล้งกลับไม่มีน้ำใช้ ในหน้าฝนก็เจอปัญหาน้ำหลากท่วมชุมชนและถนนสายหลักทุกปี เพราะคูคลองตื้นเขิน ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน เดิมชาวบ้านดงขี้เหล็กมีอาชีพทำนา แต่ต่อมาหันมาปลูกไผ่ตงที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ต้องปรับพื้นที่ถมที่นาให้สูงขึ้น ทำให้คันนาเดิมที่เคยกักเก็บน้ำได้หายไป ชุมชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เพราะไผ่ตงต้องใช้ปริมาณน้ำมาก ปลูกได้สักระยะก็ตายหมด จึงหันมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับส่งขายแทน ก็ประสบปัญหาเรื่องการแย่งน้ำใช้อีก แม้จะมีการขุดลอกคลองแต่ก็มีน้ำไม่พอใช้ หากจะมีน้ำใช้เพียงพอต้องสร้างเขื่อน แต่ใช้งบก่อสร้างกว่า 153 ล้านบาท ชาวบ้านจึงเริ่มขาดแคลนรายได้ และขาดความเป็นอยู่ที่ดี



บูรณาการความรู้ สู่จัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ชาวดงขี้เหล็ก ตัดสินใจร่วมมือกันหาหนทางแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำด้วยตนเอง พร้อมทั้งบูรณาการองค์ความรู้จากศาสตร์ต่างๆ เริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูลเส้นทางน้ำ ได้แก่

  • สำรวจเส้นทางน้ำ และวางผังเส้นทางตลอดทั้งตำบล ทำให้เห็นทิศทางที่มาที่ไปของน้ำ เพื่อวางแผนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำที่เหมาะสม พร้อมสร้างโมเดลแสดงเส้นทางน้ำทั้งตำบล เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพรวมได้ชัดเจนเวลาหารือกัน
  • มีการสำรวจปริมาณการใช้น้ำ พบว่าทั้งชุมชนต้องใช้น้ำมากถึงวันละ 55,000 ลบ.ม. จำเป็นต้องอาศัยการเติมน้ำเข้าแหล่งน้ำจากตาน้ำ 3 จุดที่มีในหมู่บ้าน จากน้ำใต้ดินที่เติมน้ำเข้าจากน้ำหมุนเวียนใช้ซ้ำ และจากน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำใช้ต่อเนื่องตลอดปี
  • จัดทำ “เขื่อนใต้ดิน” ให้เป็นบ่อน้ำประจำไร่นาของแต่ละครัวเรือน โดยขุดเป็นลักษณะบ่อแคบ หลุมลึก ทำให้น้ำไหลลงไปรวมกัน เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้น
  • ซ่อมประตูน้ำ ฝายยกระดับน้ำ ฝายกักเก็บน้ำทั้งตำบล เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม
  • จัดทำระบบสูบน้ำโซลาเซลล์จากอ่างเก็บน้ำเขาชีปิด เข้าระบบประปาหมู่บ้านและระบบท่อไปยังพื้นที่เกษตร
  • จัดทำ “บ่อน้ำตื้น” เพื่อหมุนเวียนน้ำในครัวเรือนมาใช้ใหม่ โดยน้ำจะมาจากบ่อเติมระบบปิด ไหลซึมผ่านชั้นดิน หิน ทรายกรองแบบธรรมชาติกลับมาลงในบ่อน้ำตื้นเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง
  • จัดทำ “บ่อเติมน้ำบาดาล” ขุดบ่อลึกประมาณ 10 เมตร โดยต่อท่อเอาน้ำฝนจากหลังคา ใส่เติมเข้าไปในบ่อเติมน้ำ ทำให้มีน้ำใช้ไม่ขาด
  • ใช้โซลาเซลล์แบบลอยน้ำ ช่วยลดการระเหยของน้ำ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ เป็นการจัดการพลังงานที่ควบคู่กับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ชุมชนมีพลังงานทางเลือกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อใช้บริโภคและจำหน่าย ตามแนวทฤษฎีใหม่ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยกองทุนสวัสดิการ 12 กองทุน







จากความสำเร็จชุมชน สู่เครือข่ายลุ่มน้ำปราจีนบุรีที่เข้มแข็ง

ผลสำเร็จจากความร่วมมือที่เห็นผลลัพธ์จับต้องได้ และเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

  • ชุมชนมีแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น มีแหล่งสำรองน้ำในพื้นที่เกษตรของตนเอง จากการกักเก็บน้ำในสระประจำแปลง และจากแหล่งสำรองน้ำ ได้แก่ ฝายกักเก็บน้ำ 25 ฝาย สระน้ำแก้มลิง 15 สระ และอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง เกิดกองทุนสระน้ำ มีสมาชิกรวม 1,200 ครัวเรือน ช่วยให้ชุมชนมีน้ำกิน น้ำใช้ สร้างรายได้จากการเกษตรได้ตลอดปี
  • น้ำมีคุณภาพมากขึ้นจากน้ำไหลเวียนและเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ เมื่อใช้โซลาเซลล์แบบลอยน้ำ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ชุมชนมีพลังงานทางเลือกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำและบริหารจัดการประตูน้ำร่วมกัน ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,020,047 ลบ.ม. ฝายและอาคารน้ำล้นช่วยกักเก็บและรักษาระดับน้ำ ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 12,400 ไร่
  • ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีกิน มีรายได้ จากผลผลิตทางการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่ที่เพิ่มขึ้น มีขายตลอดทั้งปี

ความสำเร็จครั้งนี้ ไม่หยุดอยู่แค่ชุมชนดงขี้เหล็กเท่านั้น ยังมีการขยายแนวคิดเรื่องการจัดการน้ำไปสู่แผนการจัดการลุ่มน้ำปราจีนบุรี เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายครอบคลุมถึง 2 จังหวัด 46 ตำบล สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายลุ่มน้ำปราจีนบุรี อันมีที่มาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในชุมชน

วีดีโอ

โบรชัวร์

ยังไม่มีโบรชัวร์

ติดต่อเรา