บทสรุป ข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน งาน SD SYMPOSIUM 2020

Circular Economy: Actions for Sustainable Future

 

ดาวน์โหลดบทสรุป ฉบับเต็ม (pdf) ได้ที่นี่

 

SCG ได้จัดงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future”  ขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563  โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้เชิญผู้สนใจทุกภาคส่วนกว่า 200 ท่าน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมระดมความคิดเพื่อหาทางออกแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม 4 ด้าน ดังนี้

  1. การบริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” เตรียมพร้อมรับวิกฤตน้ำขาดแคลนรุนแรงปี 2564  ขณะที่ประเทศไทยเก็บน้ำได้เพียง 7-8% ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศ  การแก้ปัญหา คือ จัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี สร้าง ”ระบบน้ำหมุนเวียน” ให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละชุมชน ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้การเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาตลาดค้าส่งให้แก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่น  ซึ่งภาคเอกชนได้ร่วมมือกันสนับสนุนชุมชนจำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จ มีรายได้มั่นคง ยั่งยืน แต่การสนับสนุนของภาคเอกชน อาจจะไม่ทันต่อวิกฤตน้ำที่จะเกิดขึ้น จึงขอเชิญภาครัฐร่วมขยายผล “ระบบน้ำหมุนเวียน” ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกได้ในที่สุด
  2. การทำเศรษฐกิจหมุนเวียนด้าน “การเกษตร” จากปัญหาภัยแล้ง มลพิษจากการเผาวัสดุเหลือใช้ และพื้นที่เกษตรสร้างผลผลิตได้น้อย การแก้ปัญหาจึงต้องส่งเสริมเกษตรให้ “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2565 เพื่อลด PM2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้เพิ่ม โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังฟางข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์  สามารถสร้างรายได้สู่เกษตรกร 25,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยี “นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต” โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง ด้วยการจัดตั้งกองทุนชุมชน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรทางการเกษตร สร้างความมั่นคงให้เกษตรกร  พัฒนาความรู้ให้เกษตรกรและสร้างโมเดลต้นแบบการเกษตร เพื่อให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตคุณภาพสูง
  3. การบริหารจัดการ “ขยะ” สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ปัญหาปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น แต่มีสัดส่วนการนำมารีไซเคิลได้น้อยมาก จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนให้มีการคัดแยกที่เหมาะสมและนำเอาขยะกลับไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ใหม่ได้ จึงควรปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยผลักดันการประกาศแผนปฏิบัติการจัดการขยะ (Waste Management System Roadmap) เพื่อกำหนดเป้าหมายและการทำงานที่เป็นรูปธรรม ให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมดำเนินการไปพร้อมกัน ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการคัดแยกและจัดการขยะ การออกมาตรการสนับสนุนสินค้ารีไซเคิล เช่น การจัดซื้อสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างฉลากสินค้ารีไซเคิล การกำหนดสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากขึ้น เป็นต้น รวมถึงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขยะและรีไซเคิล
  4. การทำเศรษฐกิจหมุนเวียน “กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง” อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก และเกือบทั้งหมดผลิตจากวัตถุดิบที่เป็น virgin materials อีกทั้งการบริหารจัดการยังไม่ได้คำนึงถึง ปัญหาทรัพยากรที่จะขาดแคลนในอนาคต จึงทำให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างในปริมาณมาก และขาดการนำไปใช้ประโยชน์  รวมไปถึงด้านการประหยัดพลังงานหรือการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์  กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาครัฐจึงต้องร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่ Green and Clean Construction  โดยขอให้ภาครัฐเป็นต้นแบบในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองการบริหารจัดการดังกล่าว อาทิ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ การออกแบบที่เน้นอาคารประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน  การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปริมาณวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้าง และการสนับสนุนระบบจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น


การจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน”

สถานการณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์น้ำประเทศไทยในปี 2564 จะเกิดวิกฤตหนัก จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปริมาณฝนน้อยลง แต่ประเทศไทยสามารถเก็บน้ำได้เพียง 7-8% ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศที่สูงถึง 120,000-150,000 ล้านลบ.ม. ขณะที่แหล่งเก็บน้ำของประเทศมีความจุ 80,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เก็บน้ำได้จริงเพียง 40,000 ล้าน ลบ.ม. และปีหน้าจะเก็บน้ำได้แค่ 20,000 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น พื้นที่เกษตร 154 ล้านไร่ มีน้ำเพียงพอทำการเกษตรเพียง 10 ล้านไร่ ที่เหลือต้องขาดแคลนน้ำ เป็นปัญหาซ้ำซาก ในแต่ละปีภาครัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณเยียวยาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมถึง 6,000 ล้านบาท ทางรอดจากภัยแล้งอย่างยั่งยืน คือ การทำ “ระบบน้ำหมุนเวียน” ของชุมชน ซึ่งหากนำงบประมาณเยียวยาดังกล่าวมาส่งเสริมชุมชนจัดการน้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

ระบบน้ำหมุนเวียน คือ การจัดการน้ำและจัดรูปที่ดินให้สามารถใช้น้ำซ้ำได้หลายรอบ ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมชุมชนเรียนรู้การจัดการน้ำด้วยตนเอง จนเกิดเป็นชุมชนตัวอย่างที่แก้ปัญหาสำเร็จ ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร สร้างอาชีพมั่นคง รายได้ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง และรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งได้

ชุมชนต้นแบบใช้ระบบจัดการน้ำหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี

แหล่งเพาะพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหญ่ที่สุดของไทย ทั้งตำบลมีเงินออมรวมกันกว่า 480 ล้านบาท  จัดทำเขื่อนใต้ดิน 2,000 บ่อสำหรับกักเก็บน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และขุดบ่อน้ำตื้น สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้น้ำหมุนเวียนในครัวเรือน

ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และนาบัว ประสบปัญหา ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำกร่อย และน้ำเสีย แก้ปัญหาด้วยการทำผังน้ำ ขุดลอกคลอง วางท่อลอดถนนให้คลองเชื่อมต่อกัน บำบัดน้ำเสียด้วยถังดักไขมันในครัวเรือน หมุนเวียนน้ำในการทำนา ปลูกข้าวได้ปีละ 3 รอบโดยไม่ต้องหว่านใหม่

ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น

แล้งซ้ำซากกว่า 40 ปี พื้นดินเก็บน้ำไม่ได้ เรียนรู้จัดการน้ำมีใช้ได้นาน 4 ปี แม้มีฝนน้อย ด้วยการทำแผนที่น้ำตามระดับสูงต่ำของพื้นที่ จ่ายน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่สูงที่สุด ไปยังแหล่งน้ำระดับต่ำกว่าลงไปเรื่อย ใช้น้ำหมุนเวียนซ้ำจากมวลน้ำเดิมตั้งแต่ต้น

ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ จ.ลำปาง

พลิกชีวิตที่เคยมีหนี้สินท่วมท้น สู่ชุมชนมีน้ำเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ทำบ่อพวงคอนกรีต กระจายน้ำจากบ่อพวงเข้าพื้นที่เกษตร สร้างวังเก็บน้ำ และฝายใต้ทราย สูบน้ำหมุนเวียนทำการเพาะปลูกได้หลายรอบ สร้างรายได้ 11 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน

ข้อเสนอการแก้ปัญหา

ร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตน้ำแล้งด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน”  โดย

  1. สนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเอง เรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี สร้าง ”ระบบน้ำหมุนเวียน” ให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละชุมชน รวมทั้งเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน อาทิ โครงการขุดดินแลกน้ำ ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้การเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาตลาดค้าส่งในท้องถิ่นให้แก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่น จากพิษเศรษฐกิจ COVID-19
  2. ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมมือกันสนับสนุนชุมชนจำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จ มีรายได้มั่นคง ยั่งยืน แต่การสนับสนุนของภาคเอกชน อาจจะไม่ทันต่อวิกฤตน้ำที่ทวีความรุนแรง และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายผล “ระบบน้ำหมุนเวียน” ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุด

 

ระบบจัดการน้ำหมุนเวียนในแปลงนาให้ใช้น้ำซ้ำได้หลายรอบ

ระบบจัดการน้ำหมุนเวียน

ระบบจัดการน้ำหมุนเวียนในครัวเรือน

ระบบน้ำหมุนเวียนบนพื้นที่สูงลอนคลื่น

เศรษฐกิจหมุนเวียนด้าน “การเกษตร”

สถานการณ์ปัจจุบัน

จากวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกว่า 150 ล้านไร่  มีเพียง 30 ล้านไร่ในเขตชลประทานที่ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่  อีก 120 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรรายได้ลดลง จากพืชเศรษฐกิจเสียหาย  นอกจากนี้  ปัญหามลพิษ PM 2.5 จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซังฟางข้าว  ใบอ้อย และซังข้าวโพด ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องของเกษตรกร

ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจมีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตรมาใช้อย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาแนวคิดเกษตรปลอดการเผา เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดการหมุนเวียนและคุ้มค่าที่สุด  เช่น นำกลับมาแปรรูป หรือเอามาใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทต่อปี กลับสู่ภาคการเกษตร การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม  การลดต้นทุนในการบริหารจัดการฟาร์ม ทำเกษตรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดด้วยแนวคิดเกษตรทฤษฏีใหม่ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างมีคุณค่า เป็นต้น

ข้อเสนอการแก้ปัญหา

สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน  โดยมุ่งลด PM 2.5 ด้วยการเปลี่ยนการเผาสู่การแปรรูปสร้างมูลค่า และสนับสนุนเทคโนโลยีเกษตรเพิ่มผลผลิต  ดังนี้

  1. ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2565 เพื่อลด PM 2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้เพิ่ม โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ สามารถสร้างรายได้สู่ภาคเกษตร 25,000 ล้านบาท/ปี ด้วยการให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร
  2. สนับสนุนเทคโนโลยี “นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต” โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง ด้วยการจัดตั้งกองทุนชุมชน หรือสหกรณ์ชุมชนที่มีอยู่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรทางการเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้เกษตรกร ส่งเสริมการใช้แพลทฟอร์มในการเข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น การลดต้นทุนในการบริการฟาร์ม ด้วยการทำเกษตรปลอดนาหว่าน (Zero Broadcast Solutions) ที่ช่วยลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ลง 50-60% และการทำเกษตรแม่นยำข้าว (Precision Farming Solution) ที่ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย  โซลูชั่นการปรับพื้นที่ให้เรียบด้วยเลเซอร์ (Laser Levelling Solutions) ที่ช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำในการทำนา และยังช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น
  3. พัฒนาเกษตรกรและโมเดลต้นแบบการเกษตร เพื่อส่งเสริมทักษะ ความรู้เกษตรกรให้ทั่วถึง เหมาะสมตามสภาพพื้นที่เกษตรกรรม และเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้ได้วิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม และได้ผลผลิตคุณภาพสูง
  4. ภาครัฐจัดตั้งศูนย์รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตร (Big Data) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและรวดเร็ว

เกษตรปลอดการเผา หมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน

เทคโนโลยีนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตการเกษตร

การบริหารจัดการ “ขยะ”

สถานการณ์ปัจจุบัน

ขยะ เป็นปัญหาเรื้อรังของคนไทย ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะขยะจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีตัวอย่างที่ดีของการจัดการขยะในหลายภาคส่วน อาทิ ชุมชน ตลาด วัด มหาวิทยาลัย บ้านเรือน เริ่มขยายผลและปฏิบัติในหลายพื้นที่ เช่น ชุมชน Like (ไร้) ขยะ ที่บ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จัดการขยะรีไซเคิลและมูลฝอยในชุมชนอย่างยั่งยืน วัดจากแดง เป็นศูนย์กลางการจัดการขยะชุมชนอย่างครบวงจรและนำมาสร้างสรรค์ผลงานจากขยะพลาสติกรีไซเคิล ตลาดสี่มุมเมือง ดำเนินการจัดการขยะ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและนำขยะอินทรีย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด SMART (AP Thai) จัดการขยะในหมู่บ้านกับลูกบ้านโดยนิติบุคคล เอาระบบ Digital มาช่วยเก็บข้อมูล โครงการ Chula Zero Waste ต้นแบบการจัดการขยะกลางเมือง TRBN เครือข่ายพลังเอกชนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เช่น วิภาวดี ไม่มีขยะ และส่งพลาสติกกลับบ้าน รวมทั้ง PPP Plastic โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ข้อเสนอการแก้ปัญหา

ยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายบังคับใช้เรื่องการจัดการขยะอย่างจริงจัง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้

  1. เร่งผลักดันการประกาศแผนปฏิบัติการจัดการขยะ (Waste Management System Roadmap) เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และเกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการไปพร้อมกัน
  2. ภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนสินค้ารีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ (Green Procurement) การสร้างฉลากสินค้ารีไซเคิล การกำหนดสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากขึ้น และผลักดันความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการรีไซเคิล
  3. รัฐบาลให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการรีไซเคิล เพื่อเป็นแรงจูงใจให้โรงงานรีไซเคิลมีการปรับปรุงระบบการผลิตให้สอดคล้องกับข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม และเข้าระบบภาษีอย่างถูกต้อง
  4. ภาครัฐผลักดันให้มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบจัดเก็บและจัดการขยะ เช่น ขึ้นทะเบียนซาเล้งให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ส่งเสริมให้นำระบบดิจิทัลมาใช้ โดยเข้าระบบ Application ที่เชื่อมระหว่างแหล่งกำเนิดขยะกับร้านรับซื้อของเก่า และผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาจุดรับคืนผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เช่น ในพื้นที่บริเวณห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เพื่อส่งต่อให้กับโรงงานรีไซเคิล
  5. ปลูกฝังจิตสำนึกให้แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมการสร้างค่านิยมในสังคม เรื่องการลดและการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง คัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ก่อนคัดแยกต่อตามประเภท เช่น พลาสติก กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม แก้ว และให้ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากหรือมีส่วนผสมของรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง

การคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง

กระถางต้นไม้จากแกลลอนน้ำยาล้างไต

เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิลจากถุงนมโรงเรียน

ถนนจากพลาสติกรีไซเคิล

เศรษฐกิจหมุนเวียน “กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง”

สถานการณ์ปัจจุบัน

อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมีการบริหารจัดการที่อยู่ในรูปแบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Liner Economy) กล่าวคือ มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (Virgin Materials) มาผลิตสินค้าเป็นหลัก เกิดวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างมากถึง 15-20% จากวัสดุทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร และวัสดุนั้นก็ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานหมุนเวียน ก็ยังมีเป็นส่วนน้อย ซึ่งผลดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงต่อการเกิดภาวะโลกร้อนและปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต

กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จึงได้รวมกลุ่มกันในนามของ CECI (Circular Economy in Construction Industry) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมมือกัน นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยทุกภาคส่วนจะร่วมคิดและพัฒนา นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการออกแบบที่ประหยัดทรัพยากร ประหยัดพลังงานควบคู่ไปกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ลดวัสดุเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด และนำวัสดุเหลือทิ้งนั้นไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบ ตามแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างมาตรฐานและระบบบริหารจัดการการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ข้อเสนอการแก้ปัญหา

กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาครัฐ ต้องร่วมมือกันเพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ Green and Clean Construction โดย

  1. ภาครัฐเป็นต้นแบบในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองการบริหารจัดการดังกล่าว อาทิ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ การออกแบบที่เน้นอาคารประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน
  2. สนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาทิ ระบบรวบรวมเศษวัสดุ ระบบปรับสภาพเศษวัสดุ เพื่อการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการรีไซเคิล
  3. มอบสิทธิพิเศษทางภาษี เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับโครงการก่อสร้างที่ให้ความร่วมมือตามนโยบายที่รัฐกำหนด

ระบบซอฟท์แวร์ออกแบบการใช้วัสดุก่อสร้างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การจัดการเศษคอนกรีตเสาเข็ม ด้วยเครื่อง Mobile Crusher เพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง

 

ดาวน์โหลดบทสรุป ฉบับเต็ม (pdf) ได้ที่นี่