เทศบาลเมืองทุ่งสง หาวิธีจัดการขยะที่เหมาะสมกับตนเอง

28 กันยายน 2020 5419 views

Highlight

  • เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประสบปัญหาที่ไม่ต่างจากพื้นที่เมืองหลายๆ แห่ง “ปัญหาขยะล้นเมือง”
  • ปัญหาคงจะเป็นปัญหาต่อไปถ้าไม่จัดการ ปัญหาได้กลายเป็นผลงานความสำเร็จ และสร้างกำลังใจให้เดินหน้าต่อไป เมื่อผู้นำมุ่งมั่น และมีความร่วมมือของทีมงาน ชุมชน รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตร
  • ขยะที่เคยไร้ค่าและสร้างปัญหา กลับสร้างคุณค่ามหาศาลให้กับชุมชนเทศบาลเมืองทุ่งสง

ขยะเป็นปัญหาของเทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาเนิ่นนาน

“ขยะในเขตเทศบาลทุ่งสงวันหนึ่งมีมากกว่า 50 ตัน ถ้านำไปฝังกลบทั้งหมดจะเสียค่าฝังกลบถึงปีละ 4 ล้านบาท เลยมาคิดว่าถ้าเราไม่ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง นอกจากปัญหาขยะล้นเมืองแล้ว ยังต้องเสียงบประมาณจำนวนมากจัดการขยะอีกด้วย”

ทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง กล่าวถึงปัญหาขยะที่จะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต หากไม่รีบจัดการ

“การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากตัวเรา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทบทวนคือ หาวิธีการที่เหมาะสมกับชุมชนของเราเมืองทุ่งสงควรจัดการขยะอย่างไร แต่ละพื้นที่คงไม่เหมือนกัน ทุ่งสงไม่เหมาะกับชุมชนไร้ถัง เพราะเราไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า ไม่มีถังแล้วชุมชนจะนำขยะไปทิ้งที่ไหน จึงนำหลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 “ระเบิดจากข้างใน” มาเป็นแบบอย่าง ด้วยการให้ความรู้ ให้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบจากขยะ แนวทางจัดการลดขยะในครัวเรือน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาของขยะด้วยตนเอง แล้วลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้เองอย่างจริงจัง โดยเทศบาลได้ส่งพี่เลี้ยง ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่กองช่างสุขาภิบาลของเทศบาลเข้าไปช่วยดูแลให้ความรู้การจัดการขยะในชุมชนทั้ง 20 ชุมชน” 

นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นอนาคตของทุ่งสง

พลิกถุงพลิกโลก เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

นักเรียน 6 โรงเรียนในเขตเทศบาลทุ่งสง จำนวน 3,200 คนดื่มนมวันละถุง ในแต่ละวันจึงมีขยะถุงนมถึง 3,200 ถุง ในอดีตถุงนมเหล่านี้บูดเน่าส่งกลิ่นเหม็นอยู่ในถังขยะ ปัจจุบันถุงนมแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน เมื่อนายกฯ ทรงชัย ริเริ่มโครงการ “พลิกถุงพลิกโลก” 

เมื่อดื่มนมหมดแล้ว นักเรียนทุกคนต้องล้างถุงนม โดยพลิกล้างทั้งสองด้าน แล้วเอาไปตากแดดขจัดความชื้น โรงเรียนจะรวบรวมส่งให้เทศบาล เพื่อนำถุงนมที่ล้างสะอาดแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) แล้วส่งต่อให้โรงงานปูนซิเมนต์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด  ใน SCG นำไปทำเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงหลักในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนอกเหนือจากถุงนมแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานแล้ว ขยะแห้งที่เทศบาลทุ่งสงคัดแยกแล้วสามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้เช่นกัน 

กษิดิศ แสงจันทร์ ผู้อำนวยการกองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองทุ่งสง อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการจัดการขยะทุ่งสง บอกเล่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะที่ถูกมองว่าไร้ค่ามาโดยตลอด 

ขยะเชื้อเพลิงหรือ RDF เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองทุ่งสงและบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด สร้างโรงงานคัดแยกขยะเพื่อผลิต RDF  จากขยะล้นเมือง เทศบาลเมืองทุ่งสงและภาคเอกชนในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดการขยะอย่างมีคุณภาพ ด้วยความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เทศบาลได้ลดปริมาณขยะ และเอสซีจีได้เชื้อเพลิงทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาดสำหรับใช้ในกระบวนการผลิต

นอกจากคัดแยกขยะแห้งแปรเปลี่ยนเป็นขยะเชื้อเพลิงแล้ว ยังมีขยะที่เหลือให้สร้างมูลค่าได้อีกคือ ขยะอินทรีย์ เรานำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ย มีทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง และขยะอีกประเภทหนึ่งคือ กิ่งไม้มากมายจากสวนของชุมชน จึงต้องหาวิธีสร้างประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จึงทำขยะเศษไม้กลายเป็นถ่าน จนทำให้ถ่านหุงต้มจากเทศบาลเมืองทุ่งสงที่แปรรูปจากกิ่งไม้และท่อนไม้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สร้างรายได้ให้เทศบาลรวมทั้งชาวบ้านจำนวนไม่น้อย

ด้วยความมุ่งมั่นของเทศบาลเมืองทุ่งสง ความร่วมมือของของชาวทุ่งสง รวมถึงเอกชนในพื้นที่ที่ร่วมกันจัดการขยะอย่างมีคุณภาพ ทำให้ขยะวันละ 50 ต้น ลดลงเหลือ  25 ตัน งบประมาณที่เคยต้องใช้จัดการขยะปีละ 4 ล้านบาท เหลือเพียง 1.5 ล้านบาท และเทศบาลเมืองทุ่งสง ยังมีรายได้จากขยะอีกปีละ 1 ล้านบาท 

นี่เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ขยะมีค่า ถ้าเราจัดการให้เป็น

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3 / 5. Vote count: 4

No votes so far! Be the first to rate this post.