ชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น

8 เมษายน 2020 3443 views

จากดินแดนที่เคยมีวิถีชีวิตที่สะอาดสวยงาม มาวันหนึ่งชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลับกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขยะ

พันธุ์วดี พูลสวัสดิ์ ประธานชุมชน มองเห็นปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอดก่อนจะรวมตัวกับเพื่อนๆ ไม่กี่ชีวิต ก่อตั้งธนาคารขยะขึ้นมาในหมู่บ้านๆ

นี่คือธนาคารที่ชาวบ้านโพธิ์ซ้ายร่มเย็นต่างได้รับดอกเบี้ยที่สูงมากร่วมกัน ดอกเบี้ยที่ว่าคือความสะอาดสวยงามที่กลับมาอีกครั้ง

ปัญหาขยะเกิดจากทัศนคติ

ในอดีตชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็นคือดินแดนที่เต็มไปด้วยความสะอาดและสวยงาม ก่อนที่ในเวลาต่อมาความเจริญและโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้ามาทำให้ผืนแผ่นดินแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขยะ

พันธุ์วดี พูลสวัสดิ์ ประธานชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น หมู่ 5 ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พยายามแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนของเธอ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยกับการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงของเธอนัก

แรกเริ่มเดิมทีประธานชุมชนหญิงวัย 66 ปี คิดว่าปัญหาอยู่ที่การที่มีถังขยะ หากไม่มีถังขยะแล้ว ชาวบ้านอาจจัดการแยกขยะกันเอง ผู้นำหญิงจัดการแก้ปัญหาแบบหักดิบด้วยการให้เทศบาลมาเก็บถังออกไป แต่กลับกลายเป็นโดนเสียงต่อต้านจนต้องปล่อยให้ทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นที่สุดแล้วเกิดจากปัญหาเรื่องทัศนคติ ชาวบ้านหลายคนสุขสบายจนเคยตัวและไม่เห็นคุณค่าของขยะ ในเมื่อไม่ค่อยมีใครให้ความร่วมมือ พันธุ์วดีจึงเปลี่ยนแนวทางใหม่ ประธานชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น รวบรวมสมัครพรรคพวกได้ประมาณ 10 ชีวิต ก่อนจะประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับขยะที่มีอยู่ในชุมชน และให้คนโพธิ์ซ้ายร่มเย็นลุกขึ้นมาจัดการคัดแยกขยะ

หลังการประชุม ทุกคนได้ข้อสรุปร่วมกัน พวกเขาจะสร้างธนาคารเพื่อจัดการขยะ

ธนาคารขยะ

ภายหลังจากระดมหัวคิดอยู่นาน ทุกคนก็ลงความเห็นร่วมกันว่าจะจัดการทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินมาเป็นทุนในการก่อตั้งธนาคารขยะขึ้นในหมู่บ้าน โดยได้เงินจากการทอดผ้าป่าและขายขยะรวมแล้ว 6,740 บาท มาเป็นทุนตั้งต้น ประธานชุมชนหญิงอย่างพันธุ์วดีมองว่าสาเหตุที่ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือในช่วงแรก นั่นเป็นเพราะพวกเขามองไม่เห็นคุณค่าของการจัดการขยะ ดังนั้นหากทำให้ขยะมีคุณค่าขึ้นมาได้ ชาวบ้านจะให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน

“พอมีแนวโน้มที่ดี ผู้คนเริ่มให้การตอบรับมากขึ้น เราก็เลยเริ่มเปิดธนาคารขยะขึ้น หลังจากนั้นก็เดินประกาศตามบ้านว่าจะเปิดธนาคารขยะแล้วนะ ใครจะเป็นสมาชิกให้มาสมัครได้ที่ที่ทำการชุมชน”

เงื่อนไขการสมัครสมาชิกเพียงแค่ถือขยะมาให้กับคณะกรรมการ แล้วหลังจากนั้นก็ทำการกรอกประวัติเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นทุกคนก็จะได้สมุดธนาคารขยะของตัวเอง เมื่อเกิดการทำธุรกรรมขึ้นไม่ว่าจะเป็นการฝากหรือถอนก็จะมีการบันทึกข้อมูลลงไป นอกเหนือไปจากดอกเบี้ยที่ได้รับจากราคาขายขยะที่สูงกว่าราคากลางทั่วไปแล้ว ทุกๆ สิ้นปีก็จะมีการลุ้นจับฉลากของรางวัล อาทิเช่น จักรยาน พัดลม ชุดเครื่องนอน ฯลฯ โดยปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 110 คน และยังมีทีท่าว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“คนที่มียอดเงินออมสูงสุดตอนนี้มีถึงประมาณ 3,000 บาท แค่จัดการขยะ เขาสามารถที่จะมีเงินเอาไปทำอะไรได้เยอะเลย”

ชาวบ้านมีเงิน ชุมชนสะอาดขึ้น นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะที่ชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น

เส้นทางของขยะ

หลังจากได้ขยะมาแล้วทางคณะกรรมการธนาคารจะทำการคัดแยกขยะออกเป็น 2 ส่วนคือขยะที่รีไซเคิลได้ และรีไซเคิลไม่ได้

“สำหรับขยะที่รีไซเคิลได้ เราจะนำมาเก็บไว้ จากนั้นจึงค่อยนำออกมาขาย แต่ละรอบก็จะได้น้ำหนักอยู่ราวๆ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ เราก็นำมาทำของประดิษฐ์วางขายเสียเลย สิ่งที่เราขายคือไอเดียและฝีมือล้วนๆ ขณะที่ในส่วนของขยะเศษอาหารก็จะมีการนำมาเลี้ยงไส้เดือนและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นไม้ให้งอกงาม ส่วนขยะอันตรายนั้นจะมีจุดทิ้งอยู่ที่ที่ทำการของชุมชน โดยจะนำส่งทางเทศบาลและทางจังหวัดนำไปบริหารจัดการอย่างถูกต้อง”

เมื่อชุมชนมีการคัดแยกขยะและขยะทุกที่ต่างมีเส้นทางของตัวเอง ทำให้เหลือขยะที่จำเป็นต้องทิ้งอยู่น้อยมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่าพวกเขากำลังเดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องของการจัดการขยะ

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 1 / 5. Vote count: 2

No votes so far! Be the first to rate this post.