ทำความรู้จักตำบลบ้านสาและตำบลเมืองมาย กับการยืนหนึ่งวิถีชุมชนจัดการขยะ ภายใต้แนวคิด ‘Circular Economy’

7 กรกฎาคม 2020 4503 views

ตำบลบ้านสาและตำบลเมืองมาย สองตำบลในอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ถือเป็นตำบลที่มีความงามทางด้านภูมิประเทศตามธรรมชาติ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสมบูรณ์ ภูเขาสลับซับซ้อน มีแม่น้ำ ลำห้วยน้อยใหญ่ไหลผ่าน ชาวชุมชนส่วนมากอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มและตามริมน้ำ ชาวบ้านดำเนินชีวิต ทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ยังชีพ เชื่อมโยงไปกับธรรมชาติ 

แต่เมื่อความเจริญมาพร้อมกับการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่ วิถีชีวิตชาวชุมชนก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่เรื่องขยะมูลฝอยไร้ที่ฝังกลบ อันเกิดจากการบริโภคในชีวิตประจำวัน และไม่สามารถเผาทำลายเนื่องจากผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนจากมลภาวะทางกลิ่นและสุขอนามัยไปถ้วนหน้า เพียงแต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่สองตำบลเท่านั้น แต่กำลังกลายมาเป็นวาระสำคัญเรื่องหนึ่งของประเทศชาติและของผู้คนทั่วโลกที่ต้องเผชิญหน้าหาทางออก 

เช่นเดียวกับชุมชนในตำบลทั้ง 2 แห่ง ที่ทุกคนได้พยายามหาวิธีการแก้ไขและทางออกให้กับปัญหานี้ แล้วปัญหาทุกอย่างก็แก้ไขสำเร็จได้ด้วยความสามัคคีของคนในชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในเครือ SCG นำความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ ‘Circular Economy’ ภายใต้แนวปฏิบัติ ‘SCG Circular Way’ ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การผลิต การใช้และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ มาถ่ายทอดและประยุกต์ใช้กับคนในชุมชน 

เมื่อผสานเข้ากับความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน จนเกิดเป็นโครงการจัดการขยะมาตั้งแต่ปี 2540 ณ ตำบลบ้านสาขึ้นเป็นแห่งแรก โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ ผ่านโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ศูนย์จัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โครงการชุมชนปลอดขยะอันตราย และโครงการทำน้ำหมักจากขยะเปียก เป็นต้น 

ปัจจุบันมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่ชุมชนตำบลเมืองมายที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งนำไปสู่การยกระดับเป็นชุมชนต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางต่อไป

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนเล็กๆ ในตำบลบ้านสาและตำบลเมืองมาย ให้กลายมาเป็นตัวอย่างของชุมชนที่มีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายมาเป็นวิถีชีวิตและเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่พวกเขามองขยะทุกชิ้นมีคุณค่าและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน อาทิ

คุณพ่อผู้ใหญ่วินัย สายแปง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านแป้นโป่งชัย ตำบลบ้านสา หนึ่งในกำลังสำคัญในการผลักดันและปลูกฝังวิธีการคัดแยกขยะของชุมชนให้กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน และทุกคนในชุมชนสามารถเป็นฮีโร่ที่ช่วยโลกได้

คุณครูสมบูรณ์ และคุณครูแสงจันทร์ ขยันดี สองสามีภรรยา เจ้าของสวน ๙ พอเพียง ที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณไปกับงานหัตถศิลป์และเกษตรพอเพียง ซึ่งทำด้วยความสุข ทั้งยังนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ยางรถยนต์และขวดน้ำพลาสติกมาปลูกผักสลัดเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็เอามาจำหน่ายให้คนในชุมชน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย 

ความร่วมมือกันแบบบูรณาการระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองมาย และโรงเรียนไผ่งามวิทยา สู่การต่อยอดผลสำเร็จจากตำบลบ้านสา ที่เน้นการสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะกับเด็กนักเรียน ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตำบลเมืองมายยังมีงานหัตถกรรมจากไม้ไผ่ที่ศูนย์จักสาน บ้านไผ่แพะ ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้าน ประดิษฐ์เครื่องจักสานในรูปแบบต่างๆ เช่น กล่องข้าว ตะกร้า เป็นต้น

ทั้งหมดนอกจากจะช่วยให้ธรรมชาติทางภูมิประเทศกลับมาสวยงามดังเดิมแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของรายได้และการอยู่อาศัย สำคัญเหนืออื่นใด นั่นคือเรื่องราวของคนในชุมชน ที่กลายมาเป็นเหล่า ‘ฮีโร่’ ตัวจริงเสียงจริงในการกอบกู้สถานการณ์เลวร้ายให้กลับคืนและดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่

โดยเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาด SCG ร่วมกับช่างภาพสายแฟชั่นเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ‘ทอม โพธิสิทธิ์’ มาถ่ายทอดสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และจิตสำนึกของการรักษาสิ่งแวดล้อม กับการเล่าเรื่องราวและมุมมองความคิดผ่านคมเลนส์ออกสู่สาธารณะ ตอกย้ำถึงภาพฮีโร่ในโลกจริงได้อย่างสวยงามและมีสไตล์อีกด้วย

ตอนหน้า เราจะมารู้กันว่าชุมชนตำบลบ้านสามีวิธีการบริหารจัดการขยะกันอย่างไร

เราทุกคนสามารถร่วมมือกันช่วยสร้างโลก เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีการแยกขยะ เรียนรู้แนวปฏิบัติของ ‘SCG Circular Way’ ได้ที่ http://bit.ly/FBSCGCES028

วิดีโอแนะนำชุมชน ตำบลบ้านสา ชุมชนต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.5 / 5. Vote count: 2

No votes so far! Be the first to rate this post.