‘ลฤก’ พวงหรีดเสื่อ ลดขยะ หมุนเวียนทรัพยากรให้คุ้มค่า

25 ธันวาคม 2020 2629 views

หลังจาก Environman ได้ร่วมชมงาน SD Symposium 2020 ที่จัดโดย SCG เมื่อเร็วๆ นี้แล้ว ก็ต้องสะดุดกับ “คุณแป้ง – นนทิกานต์ อัศรัสกร” สาวน้อยหนึ่งเดียวบนเวทีใหญ่ ที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่มาร่วมพูดคุยถึงการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการทำธุรกิจในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างน่าสนใจมาก เราจึงขอไปสัมภาษณ์เจาะลึกถึงแนวคิดต่างๆ ของเธอ เพื่อมาแชร์ให้ทุกคนได้เห็นอีกหนึ่งมุมของการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในธุรกิจ

คุณแป้งเป็นทายาทโรงงานผลิตเสื่อพลาสติก ซึ่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล 100% ในการผลิตเสื่อตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่น จึงได้เข้ามาต่อยอดธุรกิจครอบครัว เพราะเห็นว่าปัจจุบันคนเริ่มใช้เสื่อน้อยลง เลยเกิดไอเดียนำเสื่อธรรมดามาปรับรูปแบบสีสันลวดลายให้ทันสมัย พัฒนาเป็นสินค้าใหม่ๆ เช่น กระเป๋า เพื่อใช้วัสดุและต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ Environman สนใจ คือ การนำเสนอพวงหรีดเสื่อแบรนด์น้องใหม่วัย 1 ขวบ ในชื่อ ‘ ลฤก พวงหรีดเสื่อ ’ ที่ทำให้เราระลึกถึงคนที่จากไปได้แบบใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะนอกจากพวงหรีดนี้จะทำจากเสื่อพลาสติกรีไซเคิล 100% แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ไม่กลายเป็นกองขยะทันทีหลังใช้งาน

คุณแป้งเล่าถึงจุดเริ่มต้นนี้ว่า “เราอยากเอาวัสดุนี้ไปทำอะไรที่เป็นมากกว่าเสื่อ เป็นมากกว่าการปูพื้น เลยเริ่มคิดจากอะไรใกล้ๆ ตัว อย่างกระเป๋าหรือของตกแต่งบ้าน แล้วเราก็เริ่มคิดต่อว่าจะเอาเสื่อมาทำอะไรได้อีกบ้าง พอดีได้ไปงานศพเห็นพวงหรีดพัดลม จึงเห็นข้อดีว่าพวงหรีดพัดลมมันรักสิ่งแวดล้อมกว่าพวงหรีดดอกไม้ มันไม่เป็นขยะ เอาไปใช้งานต่อได้ ก็เลยคิดว่าจริงๆ เสื่อก็เป็นของที่ใช้ในวัดอยู่แล้ว เราสามารถนำมาออกแบบเป็นพวงหรีดเสื่อที่สวยงาม และนำไปใช้งานได้ต่อได้ด้วย ก็เลยเริ่มจากตรงนั้น”

คุณแป้งยังเล่าย้อนไปถึงต้นทางกระบวนการผลิตเสื่อที่ต้องปรับเปลี่ยนไปเมื่อมีการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ด้วยว่า “การเปลี่ยนมาใช้พลาสติกรีไซเคิล จริงๆ ทำให้ผู้ผลิตมีขั้นตอนที่มากขึ้น เพราะต้องเอาขยะที่แยกแล้ว มาล้างก่อน จึงนำไปอัดเป็นเม็ดพลาสติก แล้วค่อยมาผสมสี ฉีดออกมาเป็นเส้น แล้วเอามาทอเป็นเสื่อ แต่ถ้าเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ โรงงานก็ซื้อมาผสมสีแล้วฉีดเป็นเส้นได้เลย แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้ช่วยโลกควบคู่กับการทำธุรกิจไปด้วย ส่วนที่บางคนอาจจะมองว่า เอาขยะมาใช้เป็นวัตถุดิบแล้วคุณภาพผลิตภัณฑ์จะไม่ดีหรือเปล่า ต้องตอบว่าไม่เลย เราทดลองมาหมดแล้ว มันโอเคแน่นอน”

เมื่อได้รับฟังคุณแป้ง เราจึงเข้าใจว่าทำไม SCG ถึงชวนคุณแป้งมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน SD Symposium 2020 นี้ เพราะแนวคิดของคุณแป้งและครอบครัวที่ถ่ายทอดผ่านการทำธุรกิจพวงหรีดเสื่อล้วนเดินตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่ยังครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการเกิดขยะจากการใช้ทรัพยากรแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งคุณแป้งได้กล่าวว่า “ดีใจที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ใหญ่และสำคัญแบบนี้ จริงๆ เราเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น จุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ที่ว่าเราขายอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราช่วยโลกหรือสิ่งแวดล้อมได้ยังไงบ้าง ซึ่งทุกคนก็สามารถทำหรือมีส่วนร่วมได้เช่นกัน”

คุณแป้งยังเสริมต่อว่า “จากงาน SD Symposium 2020 นี้ ก็ดีใจที่ได้เห็นว่าหลายภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อไปก็อยู่ที่ว่าเราจะช่วยกันทำอะไรที่ทำให้การตระหนักนี้เกิดการปฏิบัติจริงขึ้นมา ก็อาจจะต้องมีวิธี มีการส่งเสริมจากภาคส่วนอื่นๆ ที่จะช่วยมากระตุ้นให้ทุกส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน หรือบอกได้ว่าทางไหนจะช่วยอะไร แล้วใครทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง มันน่าจะทำให้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น”

วันนี้ Environman ได้รับแรงบันดาลใจดีๆ เรื่องการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ได้ต่อสู้กับความท้าทายในการต่อยอดธุรกิจครอบครัว ซึ่งคุณแป้งได้เล่าแนวคิดต่างๆ อย่างเรียบง่าย สะท้อนตัวตนของเธอที่ใส่ใจกับความยั่งยืนของโลก และหวังว่าทุกคนที่ติดตามเราจะสามารถนำไปปรับใช้กับทั้งชีวิต การทำงาน หรือการทำธุรกิจของตัวเองได้เช่นกัน

ทิ้งท้ายเราจึงอยากให้เธอเปรียบตัวเองเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมว่า ถ้าวันนี้สามารถพูดแทนธรรมชาติได้ เธออยากจะบอกอะไรกับทุกคน คุณแป้งใช้เวลานึกเพียงไม่นานแล้วจึงตอบสั้นๆ ว่า “รักเราเยอะๆ หน่อย เดี๋ยวเราจะรักพวกเธอกลับเอง” ตอกย้ำความคิดของเราที่เชื่อว่าหากธรรมชาติดีขึ้น คุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

สำหรับใครที่อยากรับชมคุณแป้งและ Speaker ชั้นนำท่านอื่นๆ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” โดย SCG ย้อนหลัง สามารถชมได้ที่ https://bit.ly/32b0R7N

ขอบคุณบทความจาก เพจ Environman

#SCG #SDsymposium2020 #ร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3 / 5. Vote count: 4

No votes so far! Be the first to rate this post.