คุยกับบ้าน ‘ตันศิริมาศ’ ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

4 ธันวาคม 2020 3540 views

Highlight

  • Mission: To Green เป็นโปรเจกต์โฮมสคูลที่ 'ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ' ได้เริ่มทำเมื่อ 3ปี ก่อนโดยตั้งเป้าหมายที่ท้าทายให้ทั้งครอบครัวช่วยกันลดปริมาณขยะประเภทต่างๆ ลง โดยเริ่มจากขยะประเภทถุง, ขวด, แก้วพลาสติก และกล่องโฟม
  • จากโปรเจกต์โฮมสคูลของ 'ภูมิ' ลูกชายคนโตในเทอมนั้น ขยายต่อมาเป็นวิถีการลดขยะที่ครอบครัวนี้ทำกันจนเป็นชีวิตประจำวันและต่อเนื่องมาถึงเรื่องการแยกขยะด้วย
  • วิถีชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมซึ่งกลายเป็นเป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัวนี้ กลายมาเป็นตัวอย่างให้อีกหลายๆ ครอบครัวและหลายคนที่อยากเริ่มต้นมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้รู้ว่า การเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องยาก หากมีแรงบันดาลใจบวกกับความตั้งใจ

“ถ้าให้ผมกลับไปกินไส้กรอก ก็คงไม่อร่อยเท่าเดิมแล้ว”

“ผมก็ไม่อร่อยด้วย”

ประโยคแรกเป็นเสียงของ ภูมิ ตันศิริมาศ เด็กชายวัย 12 ขวบ ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในวิทยากรช่วง Inspiration Talk ในงาน ‘SD Symposium 2020 Circular Economy: Actions for Sustainable Future’ ที่จัดขึ้นโดย SCG เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ส่วนประโยคหลังเป็นเสียงของ ภูริ ตันศิริมาศ น้องชายวัย 7 ขวบของภูมิที่เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเมื่อปีที่แล้ว พร้อมๆกับพี่ชายของเขา ความที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนในครอบครัวเริ่มจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน ทำให้หลายเรื่องในชีวิตประจำวันของสมาชิกตัวเล็กที่สุดของบ้านและทุกคนในครอบครัวเป็นวิถีชีวิตที่พยายามทำร้ายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

สองแรงที่อยู่เบื้องหลังการสร้างครอบครัวที่เด็กๆทั้งสองคนคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ก็คือ จตุพร และ สุชาดา ตันศิริมาศ คุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มคิดเรื่องนี้และพยายามลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในชีวิตประจำวันลงตั้งแต่ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว จนกระทั่งพัฒนามาเป็นเรื่องที่จริงจังมากขึ้น หลังจากอ่านหนังสือเรื่อง The Story of Stuff ของ แอนนี เลียวนาร์ด ให้ลูกชายคนโตฟังตอนที่เขาอายุเพียง 9 ขวบ

ความสนใจที่ลูกชายมีต่อเนื้อหาในหนังสือที่เขียนโดยนักสิ่งแวดล้อมเล่มนั้น ต่อยอดมาเป็นโปรเจกต์โฮมสคูลในช่วง ป.4 ของภูมิ ที่ใช้ชื่อว่า ‘Mission: To Green ซึ่งมีเป้าหมายในเรื่องการลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และนำไปสู่การแยกขยะ

จากจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดีกรีในการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้เมื่อปีที่ผ่านมา ลูกชายคนโตของครอบครัวบอกกับแม่ว่าอยากจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หลังจากที่มองเห็นผลเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จากฟาร์มอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในอนาคต ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าทำไมเด็กชายทั้งสองคนจึงบอกว่า ไส้กรอกที่เคยเป็นเมนูอร่อยสำหรับพวกเขาคงไม่อร่อยเท่าเดิมอีกต่อไป

(ซ้าย ภูมิ และภูริ สองพี่น้องแห่งครอบครัวตันศิริมาศ)

The Stories of This Family

 “เรื่องสิ่งแวดล้อมค่อยๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราตั้งแต่ตอนท้องน้องภูมิแล้ว แม่เลิกดื่มน้ำอัดลม เหลือแต่พ่อที่ยังดื่มอยู่ พอเราออกไปข้างนอกกันสองคน เขาสั่งมาดื่มคนเดียวก็ดื่มไม่หมด เพราะเราหิ้วขวดน้ำของเราไปต่างหาก ไป ๆ มา ๆ ก็เลยเริ่มหิ้วเผื่อกัน” คุณแม่เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการลดขยะที่ทำจนเป็นนิสัยมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีลูกชายคนแรก

เมื่อภูมิเข้าสู่วัยเรียนรู้ ครอบครัวเลือกที่จะให้ภูมิเรียนโฮมสคูลตั้งแต่เด็ก ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล ในทุก ๆ เทอมจะต้องมีโปรเจกต์ที่มาจากการเรียนรู้ หนึ่งในนั้น คือ ‘Mission: To Green โปรเจกต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่ภูมิเริ่มทำตั้งแต่อยู่ ป.4

คุณแม่เล่าต่อว่า “เราเป็นบ้านที่อ่านหนังสือกันเยอะอยู่แล้ว ที่เลือก The Story of Stuff เล่มนี้มาอ่านให้ลูกฟังเพราะเนื้อหาน่าสนใจ พออ่านเสร็จแล้วก็รู้สึกว่าข้อมูลในหนังสือเล่มนี้เปิดโลกของเรามาก พออ่านจบก็คุยกันกับลูก ปรากฏว่าเขาก็สนใจเรื่องนี้เหมือนกัน เราคิดว่าสำหรับเด็ก ๆ พอเขาเห็นว่ามันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสัตว์ทะเล เขาก็จะมีอินเนอร์กับเรื่องนี้ เพราะหนังสือที่เราเลือกอ่านให้ข้อมูลแบบครบวงจร”

 เมื่อความสนใจถูกนำมาขยายเป็นโปรเจกต์การเรียนรู้ ภูมิจึงตั้งชื่อโปรเจกต์ของเขาและช่วยกันกับครอบครัวในการออกแบบชาร์ตที่จะช่วยบันทึกปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถลดลงได้ในแต่ละเดือน จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทุก ๆ วัน

หนึ่งในตัวเลขชุดแรกที่ครอบครัวตันศิริมาศตั้งไว้เพื่อท้าทายตัวเองก็คือ การลดปริมาณถุงพลาสติกให้ได้ 100 ถุงภายในเวลา 1 เดือน โดยใช้วิธีปฏิเสธถุงเมื่อไปซื้อของตามห้างร้านต่าง ๆ พร้อมกับการลดขยะประเภทอื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน ผลปรากฏว่าพวกเขาสามารถทำตามเป้าที่ตั้งไว้ได้ภายในเวลา 10 กว่าวัน

 “พวกขยะประเภทอื่นอย่างหลอด แก้วพลาสติก หรือโฟม เราก็ลด แต่เรายังตั้งเป้าที่เป็นปริมาณไม่ถูก ก็เลยเริ่มตั้งจากถุงพลาสติกก่อน แต่เราลดได้เกิน 100 ถุงตั้งแต่ยังไม่ถึงเดือน แสดงว่าปริมาณการใช้ของเรามันเยอะกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก” คุณแม่เล่าถึงช่วงเดือนแรกของภารกิจ

(แทร็กชาร์ตที่ภูมิทำขึ้น เพื่อเช็คปริมาณขยะที่สมาชิกในครอบครัวช่วยกันลดในแต่ละเดือน)

ส่วนขยะประเภทแก้วพลาสติกนั้น คุณพ่อเสริมว่าแต่ก่อนขยะประเภทนี้จะมาจากตัวเขาเป็นหลัก เพราะติดซื้อกาแฟเป็นประจำ แต่เมื่อเริ่มภารกิจนี้ก็ทำให้ปริมาณขยะประเภทนี้ลดลงตามไปด้วย

 “สมัยที่พ่อยังซื้อกาแฟบ่อย ๆ บ้านเราเคยมีแก้วกาแฟเยอะมาก ถึงขนาดที่พ่อสามารถเอามาตั้งเรียงกันเป็นกำแพง แล้วผมจะชอบวิ่งทะลุกำแพงนั้น แต่ว่าตอนนี้ไม่เหลือแล้วก็เลยไม่ได้เล่นแบบนั้นอีก ซึ่งผมว่าแบบนี้ดีแล้วครับ” ภูมิช่วยเล่าอีกคน

ตอนที่เริ่มต้นทำชาร์ตลดขยะช่วงแรกนั้น ทุกคนในบ้านรู้สึกเหมือนกำลังเล่นเกมที่จะต้องปฏิเสธการรับถุงพลาสติก ต่อให้ต้องหอบข้าวของพะรุงพะรังก็ยอมเพื่อภารกิจนี้

“เมื่อก่อนผมซีเรียสเรื่องนี้มาก จะไม่เอาถุงเลย เวลาซื้อขนมมา ต่อให้ถุงใหญ่แค่ไหน ซื้อมาหลายอันขนาดไหน ก็จะแบกให้ได้” เด็กชายเจ้าของโปรเจกต์เล่าพร้อมกับทำท่าหอบขนมประกอบ ก่อนจะเล่าต่อว่า “แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นครับ เพราะขนมที่ผมชอบมากเลิกขายไปแล้ว ตอนนั้นนี่ซื้อทีละหลายแพ็ก จะกี่แพ็ก ก็ต้องหอบให้หมดให้ได้”

การลดขยะนั้นยังนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างการเปลี่ยนที่ซื้ออาหาร จากซูเปอร์มาร์เก็ตไปเป็นตลาดสดแทน เพราะสามารถเอากล่องใส่อาหารไปใส่ของที่ซื้อมาได้ โดยมีคุณแม่เป็นคนเลือกซื้ออาหาร ในขณะที่ลูกชายคนโตทำหน้าที่ช่วยถือและดูแลน้องไปในเวลาเดียวกัน

ส่วนเรื่องพกขวดน้ำนั้น คุณแม่อธิบายว่า ให้เด็ก ๆ เริ่มพกกันอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก จึงไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับบ้านนี้ เพราะว่า “เราให้เขาทำจนชิน ให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการออกนอกบ้านทุกครั้ง เด็ก ๆ ก็จะไม่รู้สึกว่าหนักหรือเป็นภาระ การที่เราทำให้เขาชิน แม้แต่แค่เรื่องขวดน้ำเรื่องเดียวก็ช่วยลดขยะไปได้เยอะแล้ว”

“เพื่อนที่โรงเรียนของผมหลายคนก็เอาขวดน้ำมานะครับ ที่โรงเรียนเองก็มีที่เติมน้ำให้อยู่แล้ว แต่พอถึงช่วงพักเที่ยงแล้วเพื่อน ๆ เอาไว้ข้างบน ไม่ได้เอาลงมา เขาก็เลยซื้อน้ำในขวดพลาสติกที่ขายในโรงอาหารแล้วเอาไปเติมขวดข้างบนแทน” ภูมิเล่าถึงประสบการณ์ของเขาหลังจากไปโรงเรียนเทอมแรกมา

 “แต่ผมจะซื้อทีนี่เครียดเลย หิวข้าวก็หิวข้าว หิวน้ำก็หิวน้ำ ขวดน้ำก็อยู่ข้างบน ห้องเรียนก็อยู่บนชั้น 3 จะวิ่งขึ้นไปตอนนี้เลยดีไหม หรือจะว่าจะซื้อขวดน้ำก่อนแล้วค่อยไปเติมทีหลังเหมือนเพื่อน

“แต่สรุปว่าก็วิ่งครับ”

(กระบอกใส่น้ำดื่มประจำตัวของแต่ละคน เพื่อช่วยลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว)

The Stories of Three RsReduce, Reuse, and Recycle

“การลดขยะตอนแรกเริ่มจากการที่เราปฏิเสธและลดการใช้ แต่สเต็ปต่อมาก็คือขยะที่เราได้มาแล้ว เราก็ต้องรับผิดชอบและจัดการมันได้ อย่างถุงแกงเวลาเราไปซื้อกับข้าว เราก็จะล้าง เก็บ เพื่อเอามาใช้ซ้ำ อย่างเช่นใช้แยกเหรียญให้ร้านค้า คือใช้ซ้ำแบบไม่ได้ใช้กับอาหารแล้ว” คุณแม่เล่าถึงขั้นต่อไปของการลดการใช้ นั่นคือการนำมาใช้ซ้ำ

 ถึงตรงนี้ ภูมิเล่าบ้างว่า “ตอนนั้นผมจะมีจ๊อบเป็นงานล้างถุง แม่จะบอกว่า ภูมิ…ล้างถุงนี้ให้หน่อย ล้างอันนี้ให้ด้วย”

 “ใช่ค่ะ เขาเป็นมือล้าง ล้างเก่ง” คุณแม่หัวเราะและพูดต่อว่า “ทีนี้ล้างไปล้างมา เราก็รู้สึกว่ามันเยอะ เปลืองทรัพยากรที่ใช้ในการล้างหรือเปล่า ก็เลยมีคนแชร์กฎ 7 ใบมาว่าให้ล้างแค่วันละ 7 ใบ ถ้ารับมาเกินกว่านั้นก็ต้องทิ้ง พอเราต้องรับผิดชอบขยะ ก็เลยเป็นกุศโลบายไปเองว่า เราจะพยายามลดตั้งแต่ต้นทาง อย่างเช่นเอาปิ่นโตหรือคอนเทนเนอร์ไปใส่อาหาร แต่สำหรับขยะที่เราเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เราก็ต้องจัดการกับขยะของเราด้วยการแยกขยะ”

ครอบครัวตันศิริมาศบอกว่า หลักการแยกขยะไม่ใช่เรื่องซับซ้อน โดยเริ่มจากการแยกขยะที่เป็นเศษอาหารออกจากขยะอื่น ๆ

“บ้านเราจะมีถังขยะเล็ก ๆ ใบหนึ่งไว้ใส่ขยะอาหาร ขยะในนี้เราจะทิ้งทุกวัน ส่วนขยะแห้งจะอยู่อีกถัง สิ่งที่จะลงไปอยู่ในถังขยะแห้งก็จะถูกแยกประเภทมาแล้ว ขยะแบบนี้เราก็จะทิ้งทุก ๆ 3-4 วันหรือทุกอาทิตย์ เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ต้องใช้ถุงขยะเยอะ แล้วถุงขยะส่วนใหญ่อย่างถุงขยะอาหารก็เป็นถุงที่เราได้มาจากการซื้ออาหาร อย่างถุงใส่ขนมปัง ถุงที่ใส่ทิชชู่ เราก็เอามาใส่ขยะได้” คุณแม่อธิบายถึงวิธีจัดการกับขยะของครอบครัว

คุณพ่อเลยช่วยเสริมว่า “อย่างถุงขนมขบเคี้ยว ถ้าเราเอามาตัดปากถุงให้เรียบร้อย ก็ใช้เป็นถุงขยะได้นะ แล้วเป็นถุงขยะเนื้อดีด้วย เหนียว ไม่รั่ว เพียงแต่เราชินกับการใช้ถุงก๊อบแก๊บกัน จริง ๆ แล้วถุงแพ็กเกจจิ้งหลายอย่างที่เราเลี่ยงไม่ได้ เราก็เอามาใส่ขยะได้”

บนเวทีงาน ‘SD Symposium 2020’ ของ SCG ภูมิแชร์ประสบการณ์ว่า ครอบครัวของเขาปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจนถึงขนาดที่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไม่มีถุงก๊อบแก๊บพอจะใส่ขยะ ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหากันตามที่คุณพ่อได้เล่าให้ฟัง

คุณพ่อยังเล่าอีกว่า “ตอนนั้นยังมีคิดกันว่า เอ๊ะ สงสัยไปซื้อของคราวหน้า เราต้องรับถุงบ้างแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ใช้วิธีอย่างที่บอกนี่ล่ะ”

นอกจากการนำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำ ภูมิยังมีกิจกรรมโปรดของเขาในการนำขยะประเภทกล่องกระดาษมาเปลี่ยนเป็นของเล่นให้น้องชายได้สนุกไปด้วยกัน

 “ส่วนใหญ่ผมจะใช้พวก cardboard เอามาประกอบหุ่นยนต์ ทำเป็นหน้ากากหุ่นยนต์ให้น้อง แต่บางทีก็ใส่กลไกอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปด้วย ใส่ LED ให้ไฟมันเปลี่ยนเป็นสีต่าง ๆ ได้ ใส่ใบพัด” ภูมิเล่าถึงผลงานของเขาที่เปลี่ยนจากขยะให้เป็นของเล่นที่ดูน่าตื่นเต้นทั้งสำหรับคนทำและคนเล่นอย่างน้องชายที่ห่างกัน 5 ปี

เพราะนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกเรื่องที่ภูมิสนใจไม่น้อยไปกว่ากันก็คือเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่เขาสามารถนำมารวมกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ใช่เฉพาะแต่ของเล่นให้น้องชายเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงโฮมสคูลโปรเจกต์เมื่อปีที่ผ่านมา ที่โปรเจกต์ของเขาคือการเขียนโปรแกรมเกมผจญภัยที่ให้ข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ภูมิต้องรีเสิร์ชเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ ก่อนจะนำข้อมูลมาใช้ประกอบการเขียนโปรแกรมเกม

(ภูมิกับภาชนะใส่อาหาร และเครื่องดื่มส่วนตัว ที่สามารถล้างนำกลับมาใช้ใหม่ได้)

The Stories of Going Vegan

“ปีที่แล้วผมกับแม่ไปดูหนังเรื่อง Eating Animals กัน ก่อนจะเข้าไปดูหนัง ผมอยากกินเบอร์เกอร์ แต่พอดูเสร็จปุ๊บ ผมกินไม่ลงเลย รู้เลยว่า ไม่เอาแล้ว ไม่อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว เพราะรู้สึกว่ามันโหดร้าย” ภูมิพูดถึงที่มาของการเลิกกินเนื้อสัตว์ของเขาที่ต่อเนื่องไปถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ในฟาร์มเป็นเหตุผลหนึ่ง อีกเหตุผลคือเรื่องของสุขภาพของผู้บริโภคเพราะกระบวนการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มในปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น จนทำให้เกิดเรื่องของ Superbugs (เชื้อไวรัสที่เกิดจากสัตว์ในฟาร์ม และมนุษย์นำเนื้อของพวกมันมาบริโภค) ที่ส่งต่อมาถึงคนได้ และที่สำคัญ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ยังเชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ยังเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรื่องโลกร้อนโดยตรง

“ตอนที่บ้านเราลดนี่คือลดกันจริงจังมาก ลดแบบไม่กินเลย มากินประปรายในช่วงโควิด เพราะบางวันทำเองทั้งสามมื้อไม่ทันจริง ๆ แต่เราก็เลือกเมนูที่ไม่ได้มีเนื้อสัตว์เท่าไร ก่อนหน้าโควิด เรายังออกไปกินตามร้านมังสวิรัติบ้าง แล้วเราก็ไม่อยากสั่งอาหารมาที่บ้าน เพราะเคยสั่งมาครั้งหนึ่งนานแล้ว แค่มื้อเดียวก็ใช้แพ็กเกจจิ้งเยอะ สร้างขยะเพิ่มมากขึ้น เพราะทางร้านเขาต้องแยกทุกอย่างมาให้ จนเราคุยกันว่า ไม่เอาแล้วดีกว่าเนอะ” แม่ครัวประจำบ้านที่เปลี่ยนมาเป็นแม่ครัววีแกนเล่า

ภูมิช่วยเสริมว่า “เราโละเนื้อสัตว์ในฟรีซเซอร์หมดเลย เมื่อก่อนมีเก็บไว้เยอะมากก็โละไปหมด แล้วก็ยังมีชีวิตรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้” ซึ่งคุณแม่บอกว่า ถึงตอนนี้ก็ครบปีแล้วที่ตู้เย็นของบ้านตันศิริมาศไม่มีเนื้อสัตว์เก็บไว้

“ตอนแรกพ่อเขามีปัญหานิดหนึ่งครับ เพราะว่าพ่อชอบสเต๊กมาก แต่ตอนนี้พ่อโอเคแล้วครับ” ภูมิหันไปแซวคุณพ่อ อดีตคนชอบกินเนื้อประจำบ้าน

“ตอนนี้นอกจากจะไม่มีปัญหาแล้ว คุณพ่อยังเป็นคนซัพพอร์ตสำคัญเลย เวลาใครจะใจอ่อน พ่อจะบอกว่า ไม่ ๆ อย่าเลย” คุณแม่เล่าอีกเสียง

ถึงตาคุณพ่อพูดถึงเรื่องนี้บ้างว่า “ตอนแรกก็ยากเหมือนกันนะ เพราะผมชอบกินเนื้อมาก ก๋วยเตี๋ยวเนื้อนี่ยิ่งชอบ แต่ว่าเวลาที่เราไม่ได้อยู่หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อก็ไม่เป็นไร ส่วนเวลาผ่านร้านที่ชอบก็จะมีคิดถึงนิดหน่อย แต่เราตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่กิน ครอบครัวเราคุยกันว่า ถ้าวันไหนรู้สึกอยากกินจริง ๆ จะกินก็ได้นะ เพราะเหตุผลที่เราไม่กินมันไม่ใช่เรื่องความเชื่อ กฎเกณฑ์ หรือศาสนา เราไม่กินเพราะเราเห็นประโยชน์บางอย่างจากการไม่กิน”

คุณแม่ขยายความถึงเรื่องประโยชน์จากการไม่กินเนื้อสัตว์ว่า “เราไม่กินเพราะมีใจอยากจะดูแลสิ่งแวดล้อม เหมือนกับว่าคนกินเนื้อสัตว์เยอะแล้ว เราก็แค่ย้ายมาอีกฝั่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์ของเรา เราไม่ได้คิดว่าเราทำดีกว่าคนอื่นนะ หรือว่าต้อง convince คนอื่น ครอบครัวเราไม่กินเพราะเรามีเหตุผลของเรา”

   สำหรับเด็กชายที่เคยชอบกินแฮมเบอร์เกอร์มาก่อน การตัดสินใจเปลี่ยนมาเลิกกินเนื้อสัตว์สำหรับเขาก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนอกจากความตั้งใจส่วนตัวแล้ว อีกเรื่องที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ง่ายมาก ๆ ก็เพราะว่า “คุณแม่ทำเมนูผักอร่อยครับ” โดยเฉพาะเมนูแกงกะหรี่ที่แม่ครัวประจำบ้านดัดแปลงใช้ขนุนมาแทนเนื้อสัตว์ และอร่อยจนกลายเป็นเมนูแรกที่ภูมินึกถึงเมื่อถูกถามว่า เมนูผักของคุณแม่เมนูไหนอร่อยสุด ๆ

 “จริง ๆ แล้วแม่ทำอาหารเมนูไหนก็อร่อยหมดเลยครับ…แต่ถ้าเมนูนั้นมีเห็ดหอมด้วย ผมก็จะชั่งใจ นิดหน่อย เพราะว่าไม่ชอบเห็ดหอม” ภูมิเล่าถึงวัตถุดิบเดียวที่เป็นข้อยกเว้นสำหรับเขา

จากประสบการณ์การเลี้ยงลูกโดยที่ทำให้เรื่องของการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน คุณแม่บอกว่า ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น จริง ๆ แล้วเด็กเองก็ไม่ได้ต่างกับผู้ใหญ่

“แม่ว่าเด็กก็เหมือนผู้ใหญ่นะคะ เขาจะขยับตัวเรื่องพวกนี้ได้ก็ต่อเมื่อเขามีแรงบันดาลใจ ผู้ใหญ่เองก็เหมือนกัน ถ้าเขามีอะไรบางอย่างที่ทำให้ใจเขารู้สึกอะไร เหมือนอย่างตอนภูมิไปดูหนังสารคดีแล้วรู้สึกขึ้น ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ หรืออ่านหนังสือแล้วก็อยากลดขยะ เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่เองก็ต้องหาแรงบันดาลใจบางอย่าง ที่ทำให้รู้ว่าเราจะทำสิ่งนี้เพื่ออะไร และทำไปทำไม”

สำหรับตัวภูมิเองในวัย 12 ขวบกับความสนใจและความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น เขาเข้าใจดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เพื่อน ๆ วัยเดียวกับเขาจะหันมาสนใจเรื่องนี้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เขาก็เชื่อว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นได้

“ถ้าจะชวนให้เขาสนใจ ผมคิดว่าคงต้องบอก fact เขาตรง ๆ ว่า โลกร้อนทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรคือสาเหตุของโลกร้อน แล้วปัญหาขยะจะส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง แต่นอกจากบอกข้อมูลเหล่านี้แล้ว เราต้องบอกเขาด้วยว่า วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยเรื่องพวกนี้ได้มีอะไรบ้าง เด็กอย่างเราทำอะไรได้บ้าง อย่างเวลาไปซื้อของ ถ้าถือได้ก็ถือ หรือเอาใส่กระเป๋าแทนจะได้ลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น หรือการพกขวดน้ำก็ไม่ใช่เรื่องยาก

  “ผมว่าถ้าเราจะทำ ทุกเรื่องมัน simple ครับ”  เด็กชายภูมิกล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับรอยยิ้มจากครอบครัวตันศิริมาศ

FACT BOX

  • ‘We can save the world together.’ คือข้อความที่ภูมิเขียนไว้ด้านบนของชาร์ตที่เขาทำขึ้นเพื่อไว้ติดตามปริมาณขยะที่สมาชิกในครอบครัวช่วยกันลดในแต่ละเดือน เพื่อดูว่าการปฏิเสธถุงเมื่อไปซื้อของ การเปลี่ยนจากซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตไปเป็นตลาดสด การพกขวดน้ำของตัวเองทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน หรือการนำภาชนะไปใส่อาหารที่ซื้อจากตลาดเอง จะช่วยลดปริมาณขยะประเภทต่างๆ ที่เขากำหนดไว้ได้เดือนละกี่ชิ้น
  • ‘How many of these have you not wasted this month?’ คืออีกหนึ่งข้อความที่อยู่ในชาร์ตนั้น และเป็นข้อความที่นอกจากครอบครัวนี้จะใช้ถามตัวเองแล้ว การแชร์เรื่องราวและตัวอย่างที่ทำผ่านเพจ BhoomPlay ยังเป็นการส่งต่อคำถามให้อีกหลายครอบครัวเริ่มคิดตาม และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง

Credit : The Momentum

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 2.3 / 5. Vote count: 3

No votes so far! Be the first to rate this post.