แนวคิดเจ๋ง ๆ ของ 4 คนรุ่นใหม่ ที่อยากชวนคุณมาสร้าง Trashless Society ไปด้วยกัน!

3 กันยายน 2021 8055 views

พูดถึงการชวนแก้ปัญหา “ขยะ” ในสังคมไทย หลายคนอาจเมินหน้า เพราะไม่อยากเชื่อว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้จริง แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้และไม่หันมาช่วยกันแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ก็อาจย้อนมาส่งผลกระทบต่อทั้งเราและโลกที่เราแคร์ได้สักวัน

วันนี้เลยอยากชวนมาฟัง 4 Trashless Hero จากแคมเปญ “Trashless Society” กับมุมมองดี ๆ ที่จะช่วย Inspire ให้เราลุกขึ้นมาสร้าง “สังคมที่ไม่มีคำว่าขยะ” หรือสังคมที่เห็นคุณค่าของทรัพยากร ไม่ทำให้มันกลายเป็น “ขยะ” ในทันทีแต่ทำให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้

หวาย-ร่มธรรม ขำนุรักษ์ กับ Passion ในการชวนคนรุ่นใหม่ให้หันมาใส่ใจโลก ผ่าน Green Online Community “Environman” ที่มีคนติดตามกว่า 5 แสนคน!

กว่าจะมาเป็น Environman

หลายคนอาจคิดว่าเพจ Environman ตั้งมาเพราะอยากเห็นสังคมไทยมีฮีโร่ด้านสิ่งแวดล้อม

(เหมือน Superman อะไรประมาณนั้น) แต่จริง ๆ แล้ว วิธีคิดของ “หวาย” ในขณะซึ่งยังเป็นเด็กมหาลัยในตอนนั้นต่างออกไป 

“เราคิดว่าทุกวันนี้มนุษย์ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เวลาจะทำอะไรกับมัน เราคิดแค่ว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ “ล้อมรอบตัวเรา” แต่ถ้าคิดดี ๆ มนุษย์เราต่างก็เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ผมจึงอยากนำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมในแบบที่ทำให้คนเห็นความสำคัญของมันชัดเจนขึ้น เช่น จะเล่าเรื่องมลพิษในอากาศ ก็ต้องบอกว่าในที่สุดมันก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเรา หรือเล่าเรื่องปลาที่กินขยะ ก็ต้องทำให้เห็นว่าสุดท้ายเราก็กินปลาพวกนั้นเข้าไป เพราะปัญหาทั้งหมดมันเกิดจากเรานี่แหละที่เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของสิ่งแวดล้อม เลยเป็นที่มาของการนำคำว่า “Environment” มาบวกกับ “Man” รวมกันเป็น “Environman” ครับ” หวายเล่าให้เราฟัง

แล้วอะไรที่ทำให้อยากลุกขึ้นมา Take Action กับปัญหาขยะ ?

“คงเป็นตอนปีหนึ่งที่มีโอกาสได้เรียนวิชาชื่อ “หน้าที่พลเมือง” ซึ่งมีกิจกรรมพาไปดูโรงงานกำจัดขยะ พอเห็นแล้วเราถึงรู้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก! ขยะเน่ารวมกันกองใหญ่เท่ารถถังเกือบร้อยคัน แต่พวกมันกลับถูกนำไปรีไซเคิลใช้งานใหม่ได้น้อยมาก พอเราเห็นแบบนั้นแล้วก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เลยลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เราถนัด คือการสื่อสาร เลยได้เริ่มก่อตั้งเพจ Environman ขึ้นมา”

แต่เรื่องการจัดการขยะก็ต้องอาศัยจิตสำนึกของทุกคนด้วยหรือเปล่า แค่เราคนเดียวจะทำไหวเหรอ ?

“มายาคติที่ว่าคนไทยไม่ค่อยมีจิตสำนึกเรื่องนี้ จริง ๆ ผมไม่ค่อยเชื่อนะ ผมว่ามันมาจากความไม่รู้มากกว่า

พอไม่รู้ก็เลยปฏิบัติไม่ถูกต้อง ซึ่งเราก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการสื่อสารให้เขารู้วิธีที่ถูก”

หวายยังบอกอีกว่า สำหรับยุคนี้ แค่สื่อสารอย่างเดียวอาจไม่พอ คงดีกว่าถ้าเรานำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การทำแอปพลิเคชันที่ช่วย Track Carbon Footprints หรืออื่น ๆ ที่ช่วยทำให้เกิดการลงมือทำจริงได้มากขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกความตั้งใจในสเต็ปต่อไปของเขาและเพื่อน ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Environman ที่อยากขยายจากการสร้าง Awareness ไปเน้นเรื่องของ Action การลงมือทำมากขึ้นด้วย

“เราอาจเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ลงมือทำได้เลย ก็คือการลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวันนี่แหละ ด้วยการปรับพฤติกรรม เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ลดการใช้ทรัพยากร เช่น นำภาชนะของตัวเองไปซื้ออาหาร ซื้อของ เพื่อช่วยสร้าง Trashless Society ไปด้วยกัน ถ้าเราช่วยกัน โลกเราจะน่าอยู่ขึ้นแน่ ๆ” หวายบอกทิ้งท้าย

แป้ง-นนทิกานต์ อัศรัสกร กับไอเดียสร้างสรรค์ เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์ ด้วยการนำเสื่อจากพลาสติกรีไซเคิลมาทำพวงหรีด

ใครจะไปคิดว่าพวงหรีดที่เคยกลายร่างเป็นขยะกองโตหลังใช้งานไม่กี่วัน จะเป็นของใช้ที่ไม่มีใครเอาไปทิ้ง เพราะยังใช้ประโยชน์ได้อีกนาน

แต่ “แป้ง” นักธุรกิจรุ่นใหม่คนนี้เกิดปิ๊งไอเดีย และได้ปั้นแบรนด์ ‘ลฤก’ พวงหรีดที่ใช้แสดงความ “ระลึก” ถึงคนที่จากไป แต่ก็ “คำนึงถึงโลก” เพราะทำจากเสื่อที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ ไม่เป็นขยะ แถมเสื่อยังทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ที่ช่วยให้เกิดหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ตามหลัก Circular Economy ด้วย

“คนที่สั่งพวงหรีดส่วนใหญ่จะเป็นวัยกลางคนขึ้นไปค่ะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน แต่ก็จะมีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งกลุ่มนี้แหละคือกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา ที่เราตั้งใจบอกเล่าให้เห็นถึงจุดอ่อนของพวงหรีดแบบเดิมที่ใช้งานได้ไม่กี่วัน สุดท้ายก็จะกลายเป็นขยะจำนวนมาก แต่พวงหรีดของเราสามารถนำไปหมุนเวียนใช้งานได้ใหม่อีกหลายครั้ง” แป้งเล่าให้ฟังถึงกลุ่มลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงด้านดีว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่คำนึงถึงความสำคัญของการไม่สร้างขยะ

เป็นเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิลแบบนี้ มีปัญหาเข้ามาท้าทายเรามากแค่ไหน ?

“การทําธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิล จริง ๆ ต้นทุนมันสูงขึ้น แต่คนมักจะไม่เข้าใจ ก็เลยเป็นปัญหาของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ที่คนมักจะพูดว่า เราเอาขยะ(พลาสติกรีไซเคิล)มาใช้ ต้นทุนมันก็ถูก ๆ ทําไมเราถึงเอามาขายในราคานี้ หรือคนอีกกลุ่มก็อาจดูถูกว่ามันดูไม่มีมูลค่า แต่จริง ๆ แล้วเราต้องมีการลงทุน ต้องผ่านการคิด การหาไอเดียมานานว่าทำยังไงถึงจะทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้พลาสติกรีไซเคิลได้จริงด้วยค่ะ”

แป้งยังแนะนํา สําหรับคนที่อยากจะทําธุรกิจตามหลัก Circular Economy ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงตอนนี้ด้วยว่า “อยากให้ศึกษาให้ดี ๆ ว่าจริง ๆ แล้วเรามาทําตรงนี้เพราะอะไร และเราทําแล้วมันจะเกิดประโยชน์อะไร ถ้าตอบสองข้อนี้ได้แล้วเป็นคําตอบที่โอเค ก็ยินดีสนับสนุนให้ทําค่ะ เพราะว่ายิ่งคนทําเยอะเท่าไหร่ การหมุนเวียนทรัพยากรให้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ก็จะยิ่งได้ผลมากขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน และกระจายไปในวงกว้างมากขึ้นจริง ๆ ค่ะ”

นอกจากมุมของการทำธุรกิจแล้ว Trashless Society ในสังคมรอบ ๆ ตัว จะสร้างได้ยังไง ?

แป้งทิ้งท้ายว่าเราสามารถเริ่มต้นสร้าง Trashless Society ได้ง่าย ๆ จากการแยกขยะ ซึ่งเปรียบง่าย ๆ  ก็เหมือนการลดความอ้วน!“

ถ้าเราอยากลดความอ้วน แล้วเราไปอดอาหาร ไม่กินข้าวเลย อย่างนี้ก็ไม่ถูก มันแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่ถ้าเราบาลานซ์ ลดการกินนิดหน่อยแล้วออกกําลังกายด้วย มันก็จะยั่งยืน อนาคตจะไม่กลับมาโยโย่อีก การสร้าง Trashless Society ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะทำให้ไม่มีขยะเลย เพราะตอนนี้คนอาจรู้สึกผิดว่าเราใช้พลาสติกแล้วมันกลายเป็นขยะเยอะ แต่จริง ๆ แล้วเราใช้ได้ พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แค่ต้องมองให้ครบลูป ให้เห็นว่าเมื่อใช้แล้วมันนำไปทําประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่เราต้องแยกมัน เพื่อให้น้องกลับไปสู่สายพานที่เขาจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นการแยกขยะถึงสําคัญ ถ้าเราจําเป็นต้องใช้ก็แยกมันให้ถูกซะ มันจะได้ถูกนำไปหมุนเวียนกลับมาใช้ต่อ”

ภูมิ ตันศิริมาศ นักจัดการขยะรุ่นเล็ก แค่เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว ที่ใคร ๆ ก็ทำตามได้ แค่เริ่มทำ!

เปลี่ยนการใช้ชีวิตในบ้านให้สนุกขึ้น ด้วยการลุกขึ้นมาจัดการขยะ

ภูมิ ตันศิริมาศ เยาวชนไทยหัวใจรักษ์โลก ผู้ริเริ่มทำ “Mission to green”

โปรเจกต์จัดการขยะในบ้านตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วที่เขาอายุแค่ 9 ขวบ! จนถึงวันนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ไปติดตามกัน

“เริ่มทํา Mission to green เพราะเห็นว่าแก้วพลาสติกที่ใส่กาแฟในบ้านเยอะมากครับ และครอบครัวผมไปซุปเปอร์มาร์เก็ตบ่อย ทุกครั้งที่ไปเราก็รับถุงใส่ของกลับมาตลอดเลย ปกติเราจะเอามาใช้ใส่ขยะ แต่หลัง ๆ มันเริ่มล้นจนเก็บไม่ได้ ผมก็เลยลองทําโปรเจกต์ Mission to green จดบันทึกว่าเราลดการสร้างขยะไปได้แค่ไหน จากนั้นพอเราไปซื้อของ ก็จะพยายามพกถุงพับได้แบบเล็ก ๆ ติดไปด้วย พกกระติกน้ำ พกกล่องข้าวไปใส่อาหารด้วย ก็ลดขยะไปได้เยอะครับ”

แล้วตอนนี้โปรเจกต์มีการเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ?

“ตอนนี้กำลังปรับ Mission ให้เข้ากับสถานการณ์ครับ ช่วงนี้มีสถานการณ์โควิด ก็จะมีขยะเช่นถุงพลาสติกเยอะมาก เพราะว่ามันก็เลี่ยงไม่ได้ (เพื่อความปลอดภัย ร้านค้าจึงไม่ใส่อาหารในภาชนะของลูกค้า) เราก็เลยพยายามไม่ไปซื้ออาหารข้างนอกหรือสั่งเดลิเวอรี ส่วนใหญ่เราจะทํากินเองครับ เวลาออกไปซื้ออะไรก็ไปรอบเดียวเลย ไม่ออกไปหลายที จะได้ไม่เสี่ยง”

มีวิธีชวนเพื่อน ๆ มาร่วมลดขยะให้ดีต่อโลกได้ยังไงบ้าง ?

ภูมิเล่าถึงวิธีการชวนเพื่อน ๆ ใกล้ตัวให้มาเริ่มทำเรื่องนี้ไปด้วยกันว่า “ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้สำเร็จได้ เกินครึ่งก็คือความร่วมมือ ถ้าคนไม่ร่วมมือก็ไม่มีความเป็นไปได้ แต่เราต้องบอกในสิ่งที่เขาอยากฟังด้วย แค่บอกว่าหยุดทําอย่างนี้แล้วไปทําอย่างนี้แทนนะ เขาอาจจะไม่ยอม ต้องบอกเขาดี ๆ ให้เขารู้ว่าทำไมต้องทำ แล้วก็ต้องมีทางเลือกอื่นด้วย สมมติบอกให้คนไม่ใช้ถุงพลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง) เราก็ต้องมีสิ่งที่แทนกันได้ด้วย ซึ่งทางเลือกอื่นที่ว่า ผมคิดว่าภาครัฐต้องเข้ามาช่วยด้วย เช่นถ้าเราจะลด PM 2.5 ก็ควรปรับปรุงแท็กซี่หรือรถเมล์ให้มันน่าใช้ คนจะได้ใช้รถส่วนตัวน้อยลงครับ”

ฝากถึงเพื่อนๆ ที่ยังไม่สนใจปัญหาทรัพยากรหรือปัญหาขยะหน่อยสิ

“ต้องลองมองขยะในมุมใหม่ ไม่ตัดสินมันเร็วเกินไป อย่างภูมิเองเคยทำ Eco bricks เอาขยะที่รีไซเคิลไม่ได้อย่างถุงขนมมายัดใส่ขวดแล้วเอาไปทำประโยชน์เหมือนอิฐ ตอนแรกคิดว่าไม่น่าทำได้ แต่สุดท้ายมันก็ใช้ได้ครับ อยากให้เพื่อน ๆ มาลองทำไปด้วยกัน บางทีคุณอาจจะคิดว่าทําคนเดียวไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้ทำคนเดียวครับ เพราะผมก็ทํา และก็มีหลาย ๆ คนที่ทําเหมือนกัน ลองเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน เช่น ไม่รับถุงจากร้านค้าโดยไม่จำเป็น พกถุงของเราไป หรือแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ทําให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ถ้าช่วยกัน เราสามารถทําให้โลกดีขึ้นได้แน่นอน” ภูมิบอกทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ

แอนโทนี-ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ กับไอเดียนวัตกรรมดักจับ CO2 เปลี่ยนเป็น O2 เสนอต่อ Elon Musk หมุนเวียนพลังงาน เปลี่ยนอากาศโลกนี้ให้ดีขึ้น!

จากความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน สู่การเป็นตัวแทนเยาวชนระดับสากล

แม้แอนโทนีจะกำลังศึกษาชั้นมัธยมปลาย แต่เขากลับมีแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่ชั้นประถม ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และขยะในชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่

“ที่โรงเรียนปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะอยู่แล้วครับ ผมเองก็ได้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ จนตอนอายุ 10 ปี ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนเยาวชนไทย นำเสนอโครงการกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนทั่วโลก ร่วมกันลดปริมาณขยะและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น”

ทุกคนต้องหายใจ เรื่องอากาศสะอาด จึงไม่ไกลเกินตัว

ด้วยความที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่บ่อยครั้ง ทำให้แอนโทนีเกิดแรงบันดาลใจ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้

 “เชียงรายประสบปัญหาทั้งไฟไหม้ป่า และมลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ทำให้ผมและคนจำนวนมากที่อยู่บริเวณนั้นหายใจไม่ออก ซึ่งจะเกิดขึ้นนานประมาณ 2 เดือนในทุก ๆ ปี พอเห็นว่ามีโครงการประกวดของ Elon Musk เลยลองเสนอไป เพราะอยากให้เขานำไอเดียนวัตกรรมของผมไปสร้างให้เกิดขึ้นจริง โดยไอเดียที่ผมได้นำเสนอ เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศให้เป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนบริสุทธิ์ ซึ่งไฮโดรเจนสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานสะอาดได้ ส่วนออกซิเจนก็ช่วยให้เราได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ มีบ้าน มีสังคมที่น่าอยู่กันอีกครั้ง” แอนโทนี่เล่าให้ฟังถึงไอเดียของเขาที่ได้นำเสนอต่อ Elon Musk นักธุรกิจระดับโลกที่สนใจการสร้างสรรค์นวัตกรรม

อยากฝากอะไรถึงเพื่อน ๆ ที่อยากคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยโลกบ้าง

แอนโทนีบอกทิ้งท้ายอย่างมุ่งมั่นว่า “จริง ๆ แล้วนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเดียวอาจจะไม่พอที่จะช่วยโลกทั้งใบของเราให้รอดพ้นจาก Climate Emergency ได้ ผมอยากที่จะทำโครงการให้น้อง ๆ เพื่อน ๆ ในโรงเรียน และพี่ ๆ ในมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้มาร่วมกันมือกันสร้าง Community ที่ให้ความสำคัญกับปัญหา Climate Emergency ทรัพยากร และขยะ แค่เริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง สิ่งที่อาจดูไม่มีค่าก็จะมีค่าขึ้นมา แต่ความสำเร็จทั้งหมดต้องมาจากการที่เราทุกคนร่วมมือร่วมแรงกัน เพื่อให้โลกใบนี้หมุนต่อไปอย่างยั่งยืนครับ”

ทั้งหมดนี้คือไอเดียจาก Trashless Hero ทั้ง 4 คน ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาขยะและทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อโลกเรา แต่ถ้าจะให้เกิดพลังปังปุริเย่จริง ๆ เพื่อน ๆ ทุกคนก็ต้องมาช่วยกันสร้าง “Trashless Society” ให้เป็นสังคมที่พวกเราเห็นทุกสิ่งมีค่า และไม่รีบด่วนตัดสินว่าเป็น “ขยะ” เพื่อให้เขาได้หมุนเวียนไปเกิดเป็นสิ่งใหม่ ให้โลกที่เราแคร์หมุนต่อไปอย่างยั่งยืน

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3.6 / 5. Vote count: 8

No votes so far! Be the first to rate this post.