ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่

27 มีนาคม 2020 7349 views

ในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร แทบทุกชีวิตที่นี่ล้วนเป็นคนหาเช้ากินค่ำ

อย่าว่าแต่จะคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงโลก หรือทำให้สังคมสะอาดเป็นระเบียบ เอาแค่จะทำอย่างไรให้มีชีวิตรอดไปวันๆ กินอิ่มนอนหลับ ยังจะลำบาก

แต่ท่ามกลางความยากจน ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กลับกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่ลุกขึ้นมาจัดการขยะ มิเพียงแต่นำขยะที่ใครต่างก็มองว่าไม่มีค่า มาจับจ่ายใช้สอยแทนเงิน หากแต่พวกเขายังนำขยะมาเชื่อมร้อยทุกคนในชุมชนเข้าด้วยกัน

คงไม่เป็นการเกินเลยแต่อย่างใด หากจะบอกว่าขยะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

จุดเปลี่ยนความคิด

ในฐานะผู้นำ พีรธร เสนีย์วงศ์ ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่อย่างไรดี ก่อนที่สุดท้ายจะตัดสินใจปลดล็อคทุกอย่างด้วยขยะ

หนุ่มใหญ่ผู้ซึ่งหาเลี้ยงปากท้องจากการขับซาเล้งเก็บขยะขายตัดสินใจนำเงินที่พอจะมีเหลืออยู่ติดตัว 2,000 บาทไปซื้อของใช้อาทิเช่นแฟ้บ สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม แล้วก็ให้คนนำขยะมาแลกสินค้าตามราคาที่กำหนดไว้

“ถ้าคุณอยากได้ยาสระผมที่มีราคา 20 บาท คุณไม่ต้องใช้เงินซื้อ แต่คุณเอาขยะที่รวมกันได้ราคา 20 บาทมาจ่ายแทน วิธีการนี้มีแต่คนได้ทั้งหมด ผู้ซื้อได้ของไปใช้โดยไม่ต้องเสียเงินแถมยังได้ลดขยะภายในบ้านตัวเอง เราก็ไม่ต้องไปหาขยะให้เหนื่อยเพราะขยะจะเดินมาหาเราเอง แถมได้จำนวนมากกว่าเดิมด้วย ขณะที่ในด้านมูลค่าเราก็ได้กำไรจากทั้งสองทางอย่างยาสระผม 20 บาท ต้นทุนจริงๆ แค่ 15 บาท แต่เขาเอาขยะมาเราให้ 20 บาท แต่เมื่อเอาขยะไปขายจริงๆ เราจะได้เงินถึง 40 บาทกลายเป็นเราได้กำไรถึง 25 บาท โดยแบ่งเป็น 5 บาทจากราคาสินค้า แล้วก็ 20 บาทจากราคาขยะ”

ทุกสิ่งทุกอย่างในเวลานั้นถือได้ว่าลงตัวอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อหันหลังกลับมามองชุมชนของตัวเองก็พบว่ากว่า120 หลังคาเรือนในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ แทบไม่มีใครรู้จักกัน บ้านทุกหลังต่างคนต่างอยู่ พีรธรมองว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไปอีกหน่อยคงมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกแน่ๆ ตามความคิดของเขามันควรจะมีอะไรสักอย่างที่เชื่อมร้อยทุกคนเข้าด้วยกัน

ในช่วงเวลาดังกล่าวสิ่งๆ นั้นไม่น่าจะมีอะไรที่ทำหน้าที่ได้ดีไปกว่าขยะ

ร้านค้าศูนย์บาทพลัส

พีรธรตัดสินใจเปิดร้านค้าศูนย์บาทพลัสโดยใช้ขยะแทนเงินขึ้นในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ พร้อมกับชักชวนคนในชุมชนมาร่วมเป็นสมาชิกด้วยกันและทำการปันผลในรูปแบบสหกรณ์ ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกเพียงแค่ถือขยะจำนวน 100 บาทมาลงหุ้นก็สามารถเป็นสมาชิกกับทางร้านได้ทันที โดยทุกๆ 6 เดือนจะได้รับเงินปันผลหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์

“สิ่งที่เราได้คือคนในชุมชนของเราเขาแยกขยะกันตั้งแต่ต้นทาง เพราะการที่คุณจะเอาขยะมาซื้อของหรือสมัครสมาชิกได้คุณต้องแยกขยะมา ขณะเดียวกันสิ่งที่เราเห็นและได้ตามมาก็คือคนในชุมชนเริ่มรู้จักกันมากขึ้น เพราะเวลาเอาขยะมาแลกของหรือลงหุ้นที่ร้านศูนย์บาทพลัส เขาก็ต้องเจอกัน ต้องคุยกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น กลายเป็นว่าเขามาสนิทกันได้เพราะขยะ”

ปัจจุบันร้านศูนย์บาทพลัส มีสมาชิกทั้งหมด 94 ครอบครัว ผู้คนในชุมชนแม้ไม่ได้ถึงกับอยู่ดีกินดีเป็นเศรษฐีเงินล้าน กระนั้นพวกเขาก็มีความสุขตามอัตภาพไม่ต้องกัดก้อนเกลือกิน อย่างไรก็ตามพีรธรในฐานะผู้นำชุมชนกลับมองไปไกลกว่านั้น

ขยะสวัสดิการ

“เรามาคิดว่าถ้าเราจะดูแลคนในชุมชนของเรา เราก็ควรจะดูแลเขาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่จะดีกว่า เราก็เลยทำสวัสดิการบางอย่างขึ้นมาเพื่ออย่างน้อยก็เป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องในชุมชนของเรา โดยที่ใช้ขยะเป็นตัวเชื่อมเหมือนเดิม”

ใครที่ต้องการได้รับสวัสดิการนี้ขอเพียงนำขยะมูลค่า 1 บาท มาส่งที่ร้านศูนย์บาทพลัสทุกวัน โดยจะส่งเป็นรายวัน วันละ 1 บาทหรือจะส่งเป็นรายเดือน เดือนละ 30 บาทก็ได้ เพียงเท่านี้ก็จะมีสิทธิในสวัสดิการของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ทันที

“สวัสดิการที่ทำขึ้นมาก็จะมี 1.ในกรณีที่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วต้องนอนที่โรงพยาบาล เรามีค่าห้องให้คืนละ 200 บาท 2.เรามีค่ารถให้ไปหาหมอครั้งละ 100 บาทแต่กำหนดว่าต้องห้ามเกิน 7 ครั้งต่อปี 3.สำหรับเด็กๆ ในชุมชนที่เรียนดีเรามีค่าทุนการศึกษาให้ 500 บาทต่อเทอม 4.ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ไม่มีคนดูแล ทุกเดือนเราจะมีข้าวสารให้จำนวน 5 กิโลกรัม และ 5.ในกรณีเสียชีวิต เราก็จะมีพวงหรีด โลงศพ และของชำร่วยให้ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวเขาที่ยังอยู่ด้วยการอาสาเป็นเจ้าภาพในงานศพให้อีก 1 คืน โดยเราจะบอกพี่น้องในชุมชนไว้เลยว่าเงินส่วนนี้หากใครยังไม่ได้ใช้หรือหากไม่อยากส่งต่อ จะไม่สามารถถอนคืนหรือนำออกมาใช้ได้ คือให้แล้วต้องให้เลย ถือเป็นเงินที่เรานำมาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้กับคนในชุมชน”

นี่คือเรื่องราวของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ชุมชนที่เรื่องราวดีๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นมาจากขยะ

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4 / 5. Vote count: 6

No votes so far! Be the first to rate this post.