ข้อตกลงความร่วมมือในการติดตั้ง The InterceptorTM เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลในประเทศไทย

11 พฤศจิกายน 2019 3435 views

เอสซีจี ผนึกกำลัง The Ocean Cleanup สตาร์ทอัพระดับโลก วิจัยและพัฒนาขยะจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้จาก The InterceptorTM มุ่งแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะ และนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

ทั้งนี้ The Ocean Cleanup ได้ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการติดตั้ง The InterceptorTM เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลในประเทศไทย

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ The Ocean Cleanup องค์กรสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดย มร.วอเตอร์ ฟาน ทองเกอรอน Head of International Relations – Extraction ร่วมลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ท่านเคส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

Boyan Slat CEO ของ The Ocean Cleanup ได้เดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสำรวจความคืบหน้าการติดตั้งนวัตกรรม The InterceptorTM ในแม่น้ำ สำหรับดักจับขยะก่อนไหลลงสู่ทะเล และมาที่เอสซีจี โดยมีคุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี ให้การต้อนรับ

ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ประเทศไทยมีขยะในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบกเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ในขณะเดียวกันการเก็บขยะทะเลก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์กล่าวว่า “ปัจจุบัน ปัญหาขยะในแม่น้ำและทะเลส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก การคัดแยกขยะ รวมถึงการนำ R&D มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับขยะในแหล่งน้ำ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง The Ocean Cleanup ในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเอสซีจีจะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะทะเลมาสร้างประโยชน์สูงสุดต่อไป”

The Ocean Cleanup

ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดย Boyan Slat นักศึกษาด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศในขณะที่อายุเพียง 18 ปี โดยมีความมุ่งมั่นที่จะคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อดักจับขยะในมหาสมุทร ด้วยการใช้ประโยชน์จากการไหลเวียนของกระแสน้ำ โดยมีเป้าหมายในการกำจัดขยะในแพขยะมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Garbage Patch) ให้ได้ 50% ในทุก ๆ 5 ปี ซึ่งเป็นแหล่งสะสมขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในมหาสมุทร หลังจากการสำรวจและทดสอบระบบเป็นที่เรียบร้อย The Ocean Cleanup ได้ปล่อยระบบลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในปี 2561 และ 2562 ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติการและเก็บรวบรวมข้อมูลขยะที่เก็บได้ โดยล่าสุดได้เปิดตัว The InterceptorTM อีกหนึ่งโครงการเพื่อป้องกันการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2562 ณ ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

The InterceptorTM

นวัตกรรมที่ช่วยป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร และสามารถขยายผลได้ทั่วโลก โดยสามารถเก็บขยะได้ 50,000 – 100,000 กิโลกรัมต่อวัน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีหลักการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ 100% และบรรจุพลังงานในแบตเตอรี่ลิเธียมที่ช่วยให้สามารถทำงานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ปราศจากเสียงและกลิ่นรบกวน พร้อมระบบการทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง และใช้การไหลเวียนของแม่น้ำตามธรรมชาติในการดักจับขยะพลาสติก โดยมีทุ่นลอยน้ำที่ช่วยปัดให้ขยะไหลตามทิศทางที่กำหนดเพื่อเข้าสู่ตัวเครื่อง ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำของยานพาหนะรวมถึงสัตว์น้ำ มีระบบคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน พลังงานที่ใช้ และสภาพของส่วนประกอบต่าง ๆ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: https://theoceancleanup.com/press/press-releases/the-ocean-cleanup-unveils-plan-to-address-the-main-source-of-ocean-plastic-pollution-rivers/

เครดิตภาพ: https://theoceancleanup.com/media-gallery/

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.7 / 5. Vote count: 3

No votes so far! Be the first to rate this post.