รวมพลังชุมชน “ระยอง” เมืองน่าอยู่ไร้ขยะ

27 มีนาคม 2020 11050 views

Highlight

  • ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ต้นทาง การจัดการขยะก็จะเป็นเรื่องง่าย
  • เรื่องของขยะไม่ใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว
  • มีขยะมากกว่า 6,500 กิโลกรัม จากชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ จ.ระยอง ที่หมุนเวียนเข้าสู่กระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียน

ถ้าพูดถึงจังหวัดระยอง หลายคนมักจะคิดถึงผลไม้ขึ้นชื่อ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม หรือว่าเมืองแห่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่ใครจะรู้ว่าจังหวัดระยองนั้นมีชุมชนที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ถ้าพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของขยะนั่นเอง เพราะในทุก ๆ วันเราทุกคนสร้างขยะขึ้นมาโดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นจากการอุปโภค บริโภคสินค้า หรือกิจกรรมอื่น ๆ จริงอยู่ที่ขยะเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ถ้าเรามีระบบการบริหารจัดการที่ดี สิ่งแวดล้อมก็จะน่าอยู่ขึ้น

        เรามาดูชุมชนตัวอย่างจากเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่มีวิธีการจัดการและรับมือกับขยะได้อย่างเป็นระบบ สร้างมูลค่าทางทรัพยากรให้กับชุมชนของตัวเอง โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนโดยนำแนวทาง SCG Circular Way เข้ามาเชื่อมโยงทุกภาคส่วนผ่านโมเดลท้องถิ่นให้กลายเป็น ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บ้าน – วัด – โรงเรียน และธนาคารขยะ มาผนวกเข้าด้วยกัน

เริ่มต้นกันที่ “บ้าน” กับชาวหมู่บ้านทรัพย์เจริญ 

        ชุมชนเริ่มคัดแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง และแยกขยะตามประเภทของวัสดุ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ออกจากกัน มีการทำความสะอาดถุงพลาสติก โดยมีประธานชุมชนประสานงานขายขยะให้กับธนาคารขยะเขาไผ่ สร้างรายได้ให้กับชุมชน

ขับเคลื่อนในส่วนของ “วัด”

        สร้างองค์ความรู้และความเข้าใจให้กับพระภิกษุ สามเณร และชุมชนใกล้เคียงที่มาทำบุญที่วัด เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าผ่านการปฏิบัติจริงภายในวัด เริ่มจากขยะที่เกิดจากการมาทำบุญ หลังเสร็จกิจกรรมแล้วให้มีการแยกประเภทของขยะ นำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ต่อตามคุณสมบัติของพลาสติกแต่ละประเภท

“โรงเรียน” กับการจัดการขยะ 

มีการปลูกฝังเนื้อหาเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้าไปในระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน ตลอดจนการนำไปปฏิบัติจริง อย่างเช่นโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 ซึ่งทางโรงเรียนมีการสอดแทรกเรื่องของการจัดการขยะลงไปในเนื้อหาของวิชาเรียน สอนให้นักเรียนล้างถุงนม รวมถึงการแยกขยะและทิ้งลงในถังให้ถูกประเภท เพื่อเตรียมนำไปรีไซเคิลต่อ 

และส่วนสุดท้าย “ธนาคารขยะในชุมชน” 

เป็นแหล่งที่จะให้ทั้งความรู้เกี่ยวกับขยะประเภทต่าง ๆ และเป็นสถานที่รับขยะจากบ้าน วัด และโรงเรียนที่ร่วมโครงการ โดยนำแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) โซลูชันด้านดิจิทัลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรจากเอสซีจี เข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และเพิ่มช่องทางจำหน่ายขยะไปยังโรงงานรีไซเคิล

อย่างที่บอกไว้ว่าเรื่องของขยะไม่ใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันจัดการขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ของชุมชนในจังหวัดระยองจึงสามารถทำให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 80 ครัวเรือน มีขยะมากกว่า 6,500 กิโลกรัม* ที่หมุนเวียนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และเราเชื่อว่าหากทุกบ้าน ทุกชุมชน รวมถึงวัดและโรงเรียน หันมาจัดการขยะอย่างชุมชนเมืองระยอง โดยอาจมีโมเดลต้นแบบของชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ มาเป็นตัวอย่าง คงจะทำให้สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนและโลกของเราน่าอยู่มากขึ้นเลยทีเดียว

* ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3.7 / 5. Vote count: 7

No votes so far! Be the first to rate this post.