Mono Material Packaging โซลูชันพลาสติกของโลกอนาคต

12 ตุลาคม 2020 6393 views

พลาสติก ประดิษฐกรรมที่ปฏิวัติแวดวงวัสดุศาสตร์เมื่อ 113 ปีที่แล้ว และสร้างอรรถประโยชน์ให้กับสังคมในหลากหลายมิติ ด้วยคุณสมบัติที่ทั้งแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา สามารถปรับแต่งคุณสมบัติได้ตามความต้องการด้วยการใส่สารเติมแต่งและการขึ้นรูป และพลาสติกยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวัสดุประเภทอื่น เมื่อพิจารณาถึงการใช้ทรัพยากรในการผลิต ทำให้พลาสติกถูกนำมาใช้งานทดแทนวัสดุดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ หากขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ วัสดุมหัศจรรย์นี้จะก่อให้เกิดปัญหากับสังคมและสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภคคัดแยกและทิ้งขยะพลาสติกให้ถูกต้องแล้ว การคิดค้นและพัฒนาพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น แต่ยังต้องตอบโจทย์การใช้อย่างเต็มที่ประสิทธิภาพ ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน

เอสซีจีหนึ่งในผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตระหนักถึงความสำคัญของแนวโน้มนี้ จึงมุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนา Mono Material Packaging นวัตกรรมพลาสติกที่ตอบโจทย์เรื่องการใช้งานดังกล่าว

ความท้าทายของอุตสาหกรรม

ในบรรดาพลาสติกหลากหลายประเภท บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นกลุ่มประเภทสินค้าที่มีการใช้พลาสติกเป็นวัสดุสูงที่สุดและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากประโยชน์ในการปกป้องคุณภาพและยืดอายุของสินค้าที่บรรจุภายใน โดยมีบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว หรือ Flexible Packaging เป็นสินค้าสำคัญในตลาดบรรจุภัณฑ์ของโลก มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 33 และมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 30 ล้านล้านบาท

โดยทั่วไปนั้น บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว (Flexible Packaging) ประกอบด้วยชั้นฟิล์ม 3 ชั้น ที่มีหน้าที่แตกต่างกันไป ผู้ผลิตจึงนิยมเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นและเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละส่วน ดังนี้

  • ชั้นนอกสุด ทำหน้าที่เป็นชั้นพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ฉลาก สื่อสารแบรนด์สินค้า หรือเพื่อความสวยงาม โดยวัสดุสำหรับฟิล์มชั้นนี้จะต้องมีความแข็ง ทรงรูป (High Stiffness) ไม่ยืดย้วย (Low Elongation) เพื่อการพิมพ์ที่สวยงาม คมชัด ฟิล์มที่นิยมใช้ ได้แก่ PET, Nylon และ BOPP (Biaxially Oriented Polypropylene) 
  • ชั้นกลาง ทำหน้าที่เป็นชั้นป้องกันการซึมผ่านของอากาศและความชื้น (Barrier) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สินค้าภายในบางประเภทเสียหาย หรือเสื่อมสภาพ เช่น สินค้าที่อยู่ในรูปแบบผง ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ครีมเทียม ที่จะจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายเมื่อโดนอากาศหรือความชื้น ฟิล์มที่นิยมใช้จึงต้องมีค่าการซึมผ่านของออกซิเจนและน้ำต่ำ (OTR; Oxygen Transmission Rate and WVTR; Water Vapor Transmission Resistance) ได้แก่ อลูมิเนียม และ Metalized Film หรือฟิล์มที่เคลือบด้วยไอระเหยของอลูมิเนียม เป็นต้น
  • ชั้นในสุด เรียกว่าชั้นซีล (Sealant) เพราะต้องสามารถซีลปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ได้แข็งแรง ไม่รั่วซึม อีกทั้งเป็นชั้นที่ให้ความแข็งแรงกับบรรจุภัณฑ์โดยรวม จึงต้องมีความเหนียวรับน้ำหนักได้ดี (Toughness) บางชนิดยังสามารถใช้ซีลทับไปบนเศษอาหารหรือน้ำมันที่อาจกระเด็นระหว่างบรรจุได้ดี วัสดุที่นิยมใช้จึงต้องมีจุดหลอมเหลวต่ำ เพื่อให้สามารถใช้ความร้อนต่ำและซีลปิดผนึกได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต (productivity) ได้แก่ LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) และ CPP (Cast Polypropylene)

ด้วยความที่บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว (Flexible Packaging) ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภทที่มีคุณสมบัติต่างกัน จุดหลอมเหลวต่างกัน และไม่สามารถแกะหรือดึงแยกออกจากกันได้ จึงไม่ตอบโจทย์การรีไซเคิล เพราะการรีไซเคิลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะต้องแยกเอาวัสดุประเภทเดียวกันมารีไซเคิลด้วยกัน แต่หากนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลทั้งชิ้นจะทำให้พลาสติกรีไซเคิลที่ได้มีคุณสมบัติลดลง เนื่องจากจุดหลอมเหลวของวัสดุทั้ง 3 ชั้นที่แตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ซองขนมขบเคี้ยว หรือซองกาแฟ ซึ่งประกอบด้วยชั้น PET, อลูมิเนียม และ CPP หากนำไปรีไซเคิลโดยการหลอมด้วยอุณหภูมิต่ำ ชั้นอลูมิเนียมที่มีจุดหลอมเหลวสูงก็จะไม่ละลาย เหลือเป็นสิ่งปนเปื้อนในเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ แต่หากนำไปหลอมด้วยอุณหภูมิสูง พลาสติกชั้น CPP ที่มีจุดหลอมเหลวต่ำก็จะเสื่อมสภาพ ทำให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่สูญเสียคุณสมบัติในการใช้งานไปนั่นเอง

จากประเด็นดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายของเอสซีจีในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ ที่ต้องคิดค้นเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แนวคิด Mono Material Packaging ซึ่งเป็นการเลือกใช้วัสดุพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมด เช่น PE ทั้งหมด หรือ PP ทั้งหมดมาผลิตเป็นฟิล์มในบรรจุภัณฑ์ โดยสิ่งสำคัญคือต้องสามารถคงคุณสมบัติการใช้งานที่เทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์เดิมให้ได้

ความหวังของสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากประโยชน์ของพลาสติกที่ถูกนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เพราะสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัย ทนอุณหภูมิสูงที่ใช้ในการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้ ทนอุณหภูมิเย็นจัดสำหรับอาหารแช่แข็งได้ ป้องกันไอน้ำและก๊าซออกซิเจนซึมผ่านได้ดี ซึ่งทั้งหมดนี้คือฟังก์ชันของพลาสติกที่คนทั่วไปรับรู้

แต่ถ้ามองในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม พลาสติกคือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้พลังงานและน้ำน้อยกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศต่ำกว่าด้วย แต่พลาสติกมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย เพราะตกค้างอยู่ตามธรรมชาติจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งนั่นเป็นการมองที่ปลายทางหลังจากใช้สินค้าแล้ว โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคจำนวนมากที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางและการขาดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ

Mono Material Packaging ที่เอสซีจีกำลังมุ่งมั่นพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน จะกลายมาเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยยกระดับฟังก์ชันของพลาสติกให้มีศักยภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนของการนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อถนอมและยืดอายุผลิตภัณฑ์อาหารอย่างคุ้มค่า และเอื้อต่อการต่อการจัดการหลังการใช้ นั่นคือ การนำกลับมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งหมดนี้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 9 ขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.8 / 5. Vote count: 4

No votes so far! Be the first to rate this post.