เราปรับ โลกเปลี่ยน เริ่มได้วันนี้! ‘ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก’

24 สิงหาคม 2020 29366 views

Highlight

  • ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็นจำนวน 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด ที่น่าเสียดายคือ ขยะพลาสติกเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่เหลือกว่า 1.5 ล้านตันถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย บางส่วนที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ไหลลงสู่ทะเล
  • เราจึงควรปรับวิถีชีวิต เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและใช้งานพลาสติกให้คุ้มค่า และจัดการให้ถูกต้องมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • เจาะลึก 5 บุคคลต้นแบบ กับการจัดการขยะ ตามวิถี SCG Circular Way “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ที่ได้ผลจริงและเกิดประโยชน์ครอบคลุมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมโลก

ในภาวะที่ทั่วโลกพยายามหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ปัญหาขยะล้นโลก” เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งเกิดจากการใช้ทรัพยากรในการบริโภคอุปโภคของคนเรานั่นเอง เชื่อไหมว่าสถานการณ์ขยะมูลฝอยของโลกในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา มีปริมาณขยะมูลฝอยและขยะพลาสติกมากกว่า 26.77 ล้านตันต่อปี

จากการสำรวจของทีมวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย นำโดยเจนนา แจมเบ็ค นักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็นจำนวน 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด ที่น่าเสียดายคือขยะพลาสติกเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่เหลือกว่า 1.5 ล้านตันถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย บางส่วนที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ไหลลงสู่ทะเลและกลายเป็นแพขยะทะเลที่คุ้นตากันดี  

วันนี้ เราจึงควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการบริโภค หรือการใช้งานพลาสติกให้คุ้มค่ามากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกให้น้อยลง ด้วยการปรับพฤติกรรมง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ตามวิถี SCG Circular Way คือ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ที่รับรองว่าทุกคนทำได้แน่นอน แถมยังช่วยลดปริมาณขยะได้ด้วย

“ใช้ให้คุ้ม”

วิธีนี้ถือเป็นการรักษ์สิ่งแวดล้อมและดูแลทรัพยากรของโลกตั้งแต่ต้นทาง เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ ใช้นาน เพื่อช่วยลดการนำทรัพยากรใหม่มาใช้ในการผลิต รวมถึงสามารถลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นหลังการใช้งานได้ 

ยกตัวอย่างเช่น คุณจุมณี นามแดง ซึ่งเคยอาศัยอยู่ที่ประเทศเบลเยียม และได้ซึมซับแนวคิดเกี่ยวกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในชีวิตประจำวัน เมื่อกลับมาใช้ชีวิตที่เพชรบูรณ์  เธอได้นำแนวคิดการจัดการขยะพลาสติกมาใช้กับตัวเอง โดยมุ่งหวังที่จะให้ประเทศไทยมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

คุณจุมณี นามแดง

 “เราเคยอาศัยอยู่ที่เบลเยียมมาระยะเวลาหนึ่ง แนวคิดการจัดการขยะถูกปลูกฝังอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจึงพยายามนำเอาแนวคิดการจัดการขยะพลาสติกมาใช้กับตัวเอง อย่างขวดน้ำผลไม้ที่กินหมด ต้องพยายามใช้ให้คุ้มที่สุดด้วยการหาคุณประโยชน์อื่น ๆ ก่อนทิ้ง โดยเราสามารถใช้ขวดลักษณะนี้ซ้ำด้วยการใส่น้ำดื่มแช่ในตู้เย็น ใช้จัดระเบียบพวกของเหลวในห้องน้ำ หรือนำไปใส่อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง หากต้องการกำจัดจริง ๆ ก็จะพยายามส่งไปที่บริษัทรับจัดการของเสีย หรือหน่วยงานที่สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกวิธีต่อไป” คุณจุมณีกล่าว

นอกจากนั้น คุณจุมณียังอยากเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อส่งต่อแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นหลัง “เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำการจัดการขยะให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม และยิ่งเห็นมีคนทำตามเรื่อย ๆ ก็รู้สึกอิ่มใจ หวังว่าในอนาคตคนไทยจะทำกันเป็นวงกว้างมากขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สดชื่นเหมือนในต่างประเทศ” 

คุณปิยะวรรณ สมผล

ในขณะที่ คุณปิยะวรรณ สมผล ก็มีวิธีการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าในอีกรูปแบบที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเธอชักชวนให้เราเริ่มจากจุดที่ง่ายที่สุด นั่นก็คือ การเริ่มต้นภายในบ้านหลังน้อยของตัวเอง 

“เมื่อพบว่าภายในลิ้นชักที่บ้านของตัวเองเต็มไปด้วยถุงพลาสติก จึงเกิดไอเดียว่า ทุกครั้งที่ไปซื้อของ จะพกถุงพลาสติกจากที่บ้านไปเพื่อใช้ซ้ำแทนการรับถุงใหม่ รวมถึงปรับพฤติกรรมมาใช้ถุงผ้ามากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และยังนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ ที่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น แก้ว พลาสติก ถุง บรรจุภัณฑ์อาหาร มาทำความสะอาดและใช้ซ้ำจนคุ้มค่า แล้วค่อยรวบรวมเพื่อส่งไปรีไซเคิล”
ซึ่งวิธีเหล่านี้นอกจากจะทำให้ปริมาณขยะลดลง ทรัพยากรไม่สูญเปล่าแล้ว ยังช่วยชะลอการนำทรัพยากรใหม่มาใช้อีกด้วย

“แยกให้เป็น”

เมื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้ว หากจำเป็นต้องทิ้งให้กลายเป็นขยะ  วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดขยะ คือการรู้จักแยกขยะให้เป็น โดยคำนึงถึงประเภทให้เหมาะสม ดูว่าขยะดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทอะไร ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล หรือขยะอันตราย เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่จัดการขยะสามารถทำงานได้สะดวกสบาย และสามารถคัดแยกขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิล หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

เรื่องนี้จะเห็นภาพได้ชัดเจนจากเรื่องราวของ คุณอรพร ดำรงวงศ์ศิริ ที่ได้ตระหนักถึงปัญหาขยะล้นโลก และทดลองแยกขยะด้วยตัวเอง ทำให้ค้นพบจุดเปลี่ยนที่สำคัญ “เมื่อก่อนซื้อน้ำมาดื่ม ไม่ว่าจะเป็นแก้ว เป็นขวด เราก็จะใช้รอบเดียวทิ้ง แต่เมื่อได้เห็นข่าวต่าง ๆ เห็นผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะสัตว์ทะเลโดนทำร้าย หรือปัญหาขยะจากครัวเรือนกองโตที่ส่งผลให้เกิดมลพิษในชีวิตประจำวัน เราจึงตระหนักและอยากลงมือช่วยให้ขยะในโลกนี้ที่เกิดในแต่ละวันลดน้อยลง”

โดยขยะพลาสติกที่คุณอรพรสนใจจะนำมาสร้างประโยชน์​ต่อ นั่นก็คือ หลอดพลาสติกใช้แล้ว ขยะพลาสติกที่โดยทั่วไปไม่สามารถนำไปขายต่อกับผู้รับซื้อของเก่าและรถซาเล้งได้ หนทางที่คนทั่วไปเชื่อว่าจะสามารถกำจัดหลอดพลาสติกจึงมีแต่การทิ้งเพื่อรอวันเผาเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมีอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้หลอดพลาสติกไม่ต้องกลายเป็นขยะที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ สิ่งนั้นคือ การทำหมอนหลอด

คุณอรพร ดารงวงศ์ศิริ

“เราพยายามหาข้อมูลเพิ่มในการจัดการขยะหลอดพลาสติกใช้แล้ว จนเจอโครงการที่เขาทำหมอนหลอด คือการนำหลอดพลาสติกมาตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ ยัดแทนนุ่นเพื่อเป็นไส้หมอน อยากทดลองทำดูว่าใช้ได้จริงไหม ปรากฏว่าใช้ได้จริง คนในบ้านช่วยกันทำทุกคน ที่สำคัญยังเป็นกิจกรรมโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่ช่วยพัฒนาทักษะและความคิดที่ดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ลูกด้วย หากเราทำในวงกว้างกันมากขึ้น ปัญหาขยะต่าง ๆ จากหลอดพลาสติกก็จะลดลง”

ด้าน คุณวิชญา พัสรุจิระ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเรื่องขยะที่เกาะสมุยเอง ก็ค้นพบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสียหายในชุมชน และสิ่งมีชีวิตล้มตายในท้องทะเลนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากขยะในทะเล ทำให้เธอตระหนักและรู้สึกอยากช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง และ หนทางที่เธอมองว่าสามารถทำให้สภาพแวดล้อมของชุมชนดีขึ้นได้จริงคือ การแยกขยะให้เป็น

คุณวชิญาพัส รุจิระ

“จากคนที่ไม่ได้สนใจในสิ่งแวดล้อม พอมาทำวิจัยการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนที่เกาะสมุย เกี่ยวกับนวัตกรรม Trash Hero เราถึงได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนตัวเองจริง ๆ เพราะสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้คือ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีอย่างไร ถ้าคนในชุมชนไม่ตระหนักที่จะแก้ไข ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น เราจึงได้เริ่มขยะแยกต่าง ๆ ให้ถูกต้องมาประมาณ 6 เดือนแล้ว”

และไม่ใช่แค่แยกขยะเท่านั้น คุณวิชญาพัสยังให้ความสำคัญกับการนำไปใช้ประโยชน์ต่อในอนาคตอีกด้วย  “การแยกขยะเป็นสิ่งสำคัญ หากเราแยกขยะอย่างถูกต้องแล้ว เราและหน่วยงานอีกมากมายในสังคมต่าง ๆ จะสามารถนำขยะที่เกิดขึ้นไปรีไซเคิลและใช้ประโยชน์ต่อได้ ไม่ปล่อยให้กลายเป็นขยะไร้ประโยชน์ที่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม อย่างพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่คงทน แข็งแรง เราก็สามารถนำไปทำเป็น Ecobrick รวมถึงของตกแต่งบ้านอย่าง Moblie เก๋ๆเพียงแต่เราต้องให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ ล้าง ตาก อัด เท่านั้น” 

 “ทิ้งให้ถูก”

เมื่อแยกขยะเป็นแล้ว หากหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่จะทิ้งขยะที่แยกไว้แล้วให้ถูกต้องด้วย ขยะประเภทไหนก็ควรจะทิ้งลงถังขยะประเภทนั้น ส่งผลให้ง่ายต่อการจัดการและการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ มีหน่วยงานและโครงการมากมายในสังคมปัจจุบันที่ทำหน้าที่รีไซเคิลและจัดการขยะพลาสติกให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากนั้น เราทุกคนต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกในการไม่ทิ้งขยะตามพื้นที่สาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว ถนน แม่น้ำลำคลอง และตามแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ ด้วย 

อย่างเรื่องราวของ คุณศศิประภา มั่นคง ที่เธอได้พบว่าการทิ้งขยะให้ถูกนั้น สามารถก่อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกมากมาย 

 “ขยะพลาสติกมีหลายสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักบริษัทที่จะรับขยะทุกประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้ไปเผา พอเราค้นข้อมูลแล้วไปเจอเพจผึ้งน้อยนักสู้ ที่รับ Eco Bricks เลยได้รู้จักว่ามันคืออะไร และทำอย่างไร จึงทำให้สนใจคัดแยกขยะและส่งไปตามโครงการที่สามารถนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์อื่นต่อได้จริงๆ ”

โดยสิ่งหนึ่งที่คุณศศิประภาเรียนรู้ที่จะทำมาโดยตลอด คือการทำ Eco Bricks 

คุณศศิประภา มั่นคง

การทำ Eco Bricks ทำได้ง่าย ๆ คือการทำความสะอาดขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว จากนั้นตากให้แห้ง ก่อนจะรวบรวมขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติต่าง ๆ มาบรรจุให้แน่นทั้งขวด ไม่ว่าจะถุงขนม เปลือกลูกอมพลาสติก หรือฟิล์ม ก็สามารถใช้งานได้ทั้งนั้น Eco Bricks นี้จะถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้าง สามารถใช้เป็นกำแพง หรือส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์เพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้งานให้ถึงขีดสุดได้

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาที่ใครคนหนึ่งสามารถรับผิดชอบดูแลได้เพียงลำพัง แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรหันมาช่วยกันดูแลก่อนที่จะสายเกินไป และที่สำคัญการเปลี่ยนตัวเองตั้งแต่วันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากในครัวหรือในบ้านของเราได้ก่อนเป็นลำดับแรก ขอเพียงแค่รู้จักใช้วน ใช้ซ้ำ ช่วยลดการสร้างขยะใหม่ คัดแยกขยะ และทิ้งให้ถูก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างโลกที่สวยงามไว้ให้ตัวเราเองและคนรุ่นหลัง

ก่อนจะทิ้งขยะ อย่าลืมคิดถึงหลัก “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ SCG Circular Way อยู่เสมอ ไม่แน่ว่าเราอาจค้นพบวิธีที่ดีกว่า เพื่อให้ขยะที่ใช้แล้วสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้กับตัวเองและสังคมในอนาคต 

เราปรับ โลกเปลี่ยน เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อโลกที่สวยงามยิ่งขึ้นในวันข้างหน้าของเราทุกคน

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.3 / 5. Vote count: 16

No votes so far! Be the first to rate this post.