CHULA Zero Waste

26 กุมภาพันธ์ 2020 6402 views

Highlight

  • ในช่วงก่อนหน้านี้ที่เรื่องขยะยังเป็นเรื่องไกลตัวของผู้คนในสังคมเชื่อหรือไม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยผลิตขยะจำนวนมากถึง 2,000 ตันต่อปี
  • ตัวเลขดังกล่าวหากปล่อยให้เนิ่นนานไปก็มีแต่จะพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นหากไม่เริ่มต้นทำอะไรเสียตั้งแต่วันนี้ จุฬาฯอาจกลายเป็นสถาบันที่ยอดเยี่ยมในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แต่ย่ำแย่ในการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งสองสิ่งนี้ไม่ควรเดินไปด้วยกัน
  • โครงการ CHULA Zero Waste จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นมา โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนขยะและสร้างสำนึกที่ดีให้กับผู้คนในสถาบันไปพร้อมๆ กัน
  • นี่คืออีก 1 โครงการที่จะทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่ทั้งสะอาดและสง่างาม

รอยด่างในหัวใจ

ย้อนเวลากลับไปเมื่อสมัยยังหนุ่ม วรุณ วารัญญานนท์ เดินทางทางออกค่ายอาสาในโครงการครูบ้านนอกที่จังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือพร้อมกันกับเพื่อนๆ อีก 16 คน

ในเวลานั้นเขาเป็นคนหนุ่มมั่นใจในตัวเองสูง เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและอีโก้ อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นตามความเชื่อของตัวเอง เขาและเพื่อนๆ ต้องการทำให้หมู่บ้านบนดอยที่ไม่มีไฟฟ้า แถมประปาก็เข้าไม่ถึง มีความเจริญมากขึ้น ทว่าสุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นพวกเขาเองที่เป็นตัวสร้างปัญหา

“ปกติชาวบ้านที่นั่นเขาจะเผาขยะกันเดือนละ 2 ครั้ง แต่กลายเป็นว่าพอพวกเราทั้ง 17 คนขึ้นไป พวกเขาต้องเผาขยะกันทุกวัน หรือไม่ก็วันเว้นวัน เพราะพวกเราพกอาหารกระป๋อง น้ำอัดลม ถุงพลาสติก สุดท้ายกลายเป็นขยะ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านยิ่งกว่าการไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้เสียอีก กลับกลายเป็นคนเรียนสูงอย่างเราไปสร้างปัญหาให้เขา นี่เป็นเรื่องที่เรารู้สึกอับอายมาก กลายเป็นรอยด่างในหัวใจ

“เราตั้งใจว่าหากวันใดวันหนึ่งได้มีโอกาสทำงานเรื่องการจัดการขยะ เราจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด”

วินาทีนั้นวรุณไม่ได้ตั้งใจจะจัดการแค่ขยะภายนอก หากแต่ยังหมายถึงขยะที่อยู่ภายในใจของตัวเอง

ปัญหาขยะในจุฬาฯ

จากการเก็บสถิติทางตัวเลขพบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตขยะเป็นจำนวนมากถึง 2,000 ตันต่อปี ด้วยจำนวนขยะมากขนาดนี้ รวมทั้งต้องการจะสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้คนในสถาบันในเรื่องการจัดการขยะ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำโครงการ CHULA Zero Waste ขึ้นโดยมีเป้าหมายลดขยะภายในมหาวิทยาลัยให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในสิ้นปี 2564 หรือ 5 ปีนับจากวันเริ่มโครงการ

ในช่วงแรกที่โครงการกำลังเริ่ม ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดีในฐานะผู้จัดการโครงการได้เตรียมทีมงานเอาไว้หมดแล้ว วรุณเองซึ่งมีใจอยากทำงานเรื่องขยะเป็นทุนเดิม เมื่อทราบข่าวว่าจะมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจึงไม่รีรอที่จะขอเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานทันที

“ในตอนนั้นเขาหาคนครบแล้ว แต่เราเพิ่งทราบเรื่องทีหลังก็เลยเดินเข้าไปขอ ดร.สุจิตรา ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการ ท่านก็ยินดีบอกให้มาเลยมาทำงานนี้ด้วยกัน”

ปัจจุบันวรุณหรือที่ผู้คนในจุฬาฯ รู้จักกันในนาม ‘อาจารย์วิน’ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศ อีกทั้งยังมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ CHULA Zero Waste ซึ่งบทบาทของชายร่างใหญ่นี้ เปรียบได้กับการเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันทำหน้าที่ในการลงไปลุยจัดการกับปัญหาและทำให้เป้าหมายเป็นจริง

ข้อมูลจริงคือสิ่งสำคัญ

ในช่วงก่อนจะเริ่มโครงการ วรุณและทีมงาน CHULA Zero Waste ทุกคนใช้เวลาในการเก็บข้อมูลก่อนเป็นเวลาถึง 3 เดือน สาเหตุที่อาจารย์หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี และคณะทำงานให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลมากขนาดนี้ก็เพราะว่า พวกเขาจะได้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับขยะในจุฬาฯขยะแบบไหนมีจำนวนมาก ขยะแบบไหนที่ควรเป็นเป้าหมายในการลดหรือเลิกใช้ ควรวางมาตรการและวิธีในการจัดการอย่างไร ไม่ใช่เอาแต่จะเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ไม่รู้จุดหมายปลายทาง ซึ่งนั่นแทบไม่ต่างอะไรจากการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก

“เราให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลมาก เพราะแผนการและนโยบายทุกอย่างเราจะทำจากข้อมูล เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เราได้มาต้องแน่นและที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลจริง ด้วยเหตุนี้เราและทีมงานจึงเอาตัวเองลงไปลุยเองเลย”

ว่ากันว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ถ้าเราจริงกับมัน มันก็จะจริงกับเรา วรุณและทีมงาน CHULA Zero Waste ลงไปลุยค้นและขุดคุ้ยถังขยะในมหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง สลัดคราบความเป็นอาจารย์ผู้ทรงภูมิทิ้ง ทำหน้าที่เป็นเสมือนคนเก็บขยะ และแม้จะต้องเผชิญกับคราบสกปรกเลอะเทอะ กลิ่นของเน่าเสีย ทว่าพวกเขาก็ยินดีที่จะทำงานนี้ด้วยความเต็มใจ

“เราเอาถังขยะออกมาแล้วก็เทดูเลยว่าข้างในมีอะไรบ้าง ขยะแบบไหนที่คนทิ้งเยอะ แต่ละคณะมีขยะแบบไหนบ้าง มีขยะอะไรที่เป็นขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งการทำข้อมูลแบบนี้จะทำให้เรารู้ว่าความจริงคืออะไร จะได้วางนโยบายได้อย่างถูกต้อง

“อย่างเราเทถังขยะออกมาจะเห็นเลยว่าขยะที่พบมากที่สุดก็คือถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ขณะที่พวกเศษอาหารก็มีเยอะมาก คือยังไงปลายทางของมันจะต้องอยู่ที่ถังขยะแน่นอน”

หลังจากได้ข้อมูลมา คณะทำงาน CHULA Zero Waste จึงเริ่มต้นระดมหัวคิดและวางแผนในการจัดการขยะแต่ละประเภทซึ่งแต่ละอย่างต่างก็มีแผนการดำเนินงานแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามโดยหลักการพวกเขาก็ยึดหลัก 3R คือ Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ หากแต่จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ข้อแรกเป็นหลัก

“เราจะมุ่งเน้นไปที่ 2 ข้อแรกเป็นหลัก เพราะถ้าเราจัดการ 2 ข้อนี้ได้คือต้นเหตุ จะทำให้ไม่เกิดขยะขึ้นมาอีก ขณะที่ข้อ 3 เป็นการแก้ปัญหาหลังจากที่เกิดขยะขึ้นมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะแก้ 2 ข้อแรกได้ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือพฤติกรรมและนิสัยของคนในมหาวิทยาลัยซึ่งยากกว่ามาก”

ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

อาจารย์วรุณและคณะทำงาน CHULA Zero Waste มุ่งเน้นไปที่การลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งซึ่งถือเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากและมักจะใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากข้อมูลที่ได้จากเซเว่น-อีเลฟเว่นและร้านค้าสหกรณ์ในมหาวิทยาลัย พบว่าในแต่ละเดือนมีการเบิกถุงพลาสติกรวมกันมากถึง 130,000 ใบ ในช่วงแรกคณะทำงานเริ่มต้นด้วยการให้ยาเบาๆ เพื่อเป็นการชิมลางไปก่อน โดยให้แม่ค้าในแต่ละร้านถามความสมัครใจลูกค้าว่าจะรับถุงพลาสติกหรือไม่ เพียงเท่านี้ยอดการใช้ก็ลดลงไปได้ถึง 1 ใน 3

“เราเริ่มด้วยการรณรงค์ให้แม่ค้าถามความสมัครใจของลูกค้าว่าจะรับถุงหรือไม่ หรือบางทีอาจจะบอกไปเลยว่ารบกวนไม่เอาถุงพลาสติกได้ไหม แค่นี้ยอดการเบิกใช้ในครั้งต่อมาก็ลดจาก 130,000 ลงมาเหลือ 90,000 ซึ่งพอมีแนวโน้มที่ดี ขั้นตอนต่อไปเราก็เพิ่มตัวยาให้มันแรงขึ้น

“ขั้นตอนต่อไปเราให้ทางแม่ค้าบอกกับผู้มาซื้อเลยว่าเราไม่มีถุงพลาสติกให้แล้ว ถ้าอยากได้ต้องเสียค่าถุง 2 บาทเพื่อให้รู้คุณค่าของถุงพลาสติกที่ซื้อมาและนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเงินที่ได้เราจะเอาเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมของทางมหาวิทยาลัย ผลปรากฏว่าจากยอด 90,000 ลดลงเหลือแค่ 10,000 เท่ากับเราลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่อมาเราก็ได้ขยายขอบเขตออกไปยังตลาดนัด ศูนย์หนังสือ และก็โรงอาหารทั้งหมด ไม่ได้หยุดอยู่แค่เซเว่น-อีเลฟเว่น และร้านค้าสหกรณ์อย่างเดียว”

ถึงวันนี้โครงการ CHULA Zero Waste เริ่มต้นมาได้เป็นเวลา 3 ปีเศษแล้ว โดยทางมหาวิทยาลัยสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้รวมแล้วกว่า 4 ล้านใบ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม อย่างไรก็ตามหัวหมู่ทะลวงฟันแห่ง CHULA Zero Waste ยืนยันว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมงานทุกคนต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ

 “ช่วงแรกเราโดนด่าเยอะ ทั้งทางโซเชียล ทั้งเสียงรอบข้างจากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ เขาถามว่าทำไมต้องไม่ให้ถุงด้วยมันเป็นสิทธิของเขา บ้างก็ถามว่าถ้าไม่ให้ใส่ถุงแล้วจะให้ใส่อะไร ทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ ฯลฯ แต่นี่เป็นสิ่งที่เราคิดกันไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าจะต้องเจอ ซึ่งเราก็เตรียมใจกันไว้อยู่แล้วก็เลยไม่มีปัญหา อีกประการเลยที่สำคัญอย่างมากๆ ก็คือผู้บริหารสูงสุดเห็นความสำคัญของโครงการนี้ โดยท่านทั้งให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณและยังออกนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษร”

การออกนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรของศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยให้การทำงานของ CHULA Zero Waste นั้นเกิดความราบรื่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดเสียงต่อต้านให้น้อยลงจากบรรดาร้านค้าที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีหลักฐานเป็นนโยบายชัดเจน ไม่ใช่แค่เพียงคำพูดลอยๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรยังคงมีร้านค้าบางแห่งที่ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมปฏิบัติตาม ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ทางทีมงานเตรียมวางแผนสำรองไว้เพื่อรับมือตั้งแต่ก่อนโครงการจะเริ่มต้นไว้แล้วเช่นกัน

เหตุต้องมาก่อนผล

 “เวลาเราวางแผนหลังจากได้ข้อมูลเราไม่ได้คิดแต่เรื่องวิธีการจัดการ แต่เราจะต้องวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคด้วยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางบ้าง ถ้าเกิดขึ้นแล้วเราจะรับมืออย่างไร สำหรับปัญหาร้านค้าที่แตกแถวยังฝ่าฝืนแจกถุงพลาสติกอยู่ก็เป็นปัญหาที่เราคิดไว้แต่แรกแล้ว แล้วเราก็มีขั้นตอนในการจัดการอยู่ขั้นแรกเราจะทำการเตือนด้วยวาจาและลงบันทึกหากยังทำอีกเราจะใช้มาตรการขั้นที่สองคือออกจดหมายเตือนหากยังดื้อดึงอีกเราจะเชิญออก ซึ่งถือเป็นมาตรการเด็ดขาดขั้นสุดท้ายแต่โดยมากก็จะจบลงแค่ข้อแรกมีส่วนน้อยที่จะไปถึงข้อสอง ส่วนข้อสุดท้ายถึงตอนนี้ยังไม่มี

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในกระบวนการดำเนินงานเราก็มีมาตรการหลายรูปแบบ ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เราจะมีการปรับปรุงแผนอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างอย่างการลดการใช้หลอด ที่เราโดนกระแสต่อต้านแรงมากทั้งจากพ่อค้าแม่ค้า และตัวลูกค้าเอง อย่างลูกค้าเขาถามว่าถ้าไม่ให้ใช้หลอดแล้วจะให้ดูดน้ำจากอะไร ถ้าให้ดื่มจากขวด มั่นใจแค่ไหนว่าขวดสะอาดพอ สุดท้ายกลายเป็นว่าเราต้องถอยออกมา แล้วก็ปรับวิธีการใหม่เป็นการเอาหลอดไปตั้งไว้ไกลๆ เพื่อสร้างความลำบากในการจะใช้หลอดแทน”

หากวิเคราะห์สิ่งที่อาจารย์หนุ่มใหญ่ไล่เรียงมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าทาง CHULA Zero Waste นั้นมุ่งเน้นและให้ความสำคัญไปที่การวางแผนและนโยบายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาข้อมูลการวางแผนจัดการขยะแต่ละชนิดอย่างเป็นระบบรวมไปถึงการรับมือกับปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นระหว่างทาง และการมีมาตรการแบบบูรณาการที่หลากหลายเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องฯลฯ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่งเพราะหากอยากให้ผลงานออกมาดีก็ควรต้องทำเหตุต้นทางให้ดีเสียก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เหตุย่อมต้องมาก่อนผลเสมอ

แม้ยังไม่ถึงเป้าหมายแต่ไม่ได้จะล้มเลิก

นอกจากถุงพลาสติกที่ลดลงอย่างมหาศาลแล้วทางทีมงานยังรณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรในจุฬาฯ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงผ้าและแก้วน้ำส่วนตัวกันมากขึ้น

ในปัจจุบันจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีคนหันมาใช้ถุงผ้าในจุฬาฯ เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ขณะที่ในเรื่องของแก้วน้ำนั้นทางมหาวิทยาลัยได้สร้างระบบดูแลรักษาและตรวจสอบคุณภาพตู้กดน้ำที่ติดตั้งอยู่ภายในสถาบันกว่า 80 ตู้ รวมทั้งมีการแจกกระบอกน้ำให้กับนิสิตใหม่ที่เข้าเรียนชั้นปี 1 ทุกคนทำให้ในปัจจุบันมีคนหันมาใช้แก้วน้ำส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์จากเดิมมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ ส่วนในด้านการคัดแยกขยะทางจุฬาฯ ได้แบ่งการแยกขยะออกเป็น 4 ประเภทคือ 1.เศษอาหาร 2.ขยะรีไซเคิลจำพวกกระดาษขวดน้ำโลหะแก้ว ฯลฯ 3. ขยะทั่วไป และ 4. ขยะอันตราย โดยขยะทุกประเภทล้วนมีเส้นทางของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น

“พวกเศษอาหาร เราจะเน้นรณรงค์ให้ทุกคนทานข้าวให้หมดจานเพราะจะทำให้ไม่เกิดขยะขึ้น แต่หากเหลือเราก็จะมีแผนและวิธีการไล่เรียงกันลงมาเพื่อให้ขยะเหล่านั้นเกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเราจะนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ก่อน หากยังเหลืออีกก็จะนำมาแปรเป็นพลังงานอย่างเช่นการทำไบโอดีเซล จากนั้นก็ผลิตทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ซึ่งตรงนี้โรงทำปุ๋ยของเราก็มีเครื่อง Bio-Digester Machine ที่ทำหน้าที่แปลงเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย และสามารถรับเศษอาหารได้สูงสุดถึง 1.2 ตันต่อวัน ส่วนขยะรีไซเคิลเราจะให้แม่บ้านนำไปคัดแยกแล้วก็เอาไปขายให้เป็นรายได้ของพวกเขาไป ส่วนอันไหนที่ขายไม่ได้ เราก็จะส่งให้ทางโรงงานนำไปเผาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ในด้านของขยะทั่วไปเราก็จะนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธี ส่วนขยะอันตรายเราก็จะมีจุดทิ้ง ตั้งอยู่รอบๆ มหาวิทยาลัยถึงกว่า 20 จุด ส่วนหนึ่งก็จะส่งให้โรงงานนำไปรีไซเคิล ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธีเช่นเดียวกัน

“ในจำนวนขยะทั้ง 4 ประเภทนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่ขยะทั่วไป ซึ่งเมื่อเราทำการคัดแยกและเดินหน้าเรื่องขยะอย่างจริงจังแล้ว ขยะชนิดนี้ต้องเหลือน้อยลง เมื่อก่อนตัวเลขตรงนี้เคยสูงถึง 2,000 ตันต่อปี ซึ่งอย่างที่บอกไป เราตั้งเป้าหมายการลดไว้ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 5 ปี”

ในเวลานี้หลังจากดำเนินโครงการมาได้ 3 ปีเศษ ตัวเลขขยะภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลดลงไปเฉลี่ยเพียงปีละ 350 ตันเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ายังเป็นตัวเลขที่ห่างจากจุดที่ตั้งใจไว้อยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามการเดินทางยังไม่ถึงจุดหมาย ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ทุกคนใน CHULA Zero Waste หยุดนิ่ง หันหลัง หรือล้มเลิกการเดินทาง ตรงกันข้ามทุกคนยังมีความหวัง มีความสุขที่ได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับสถาบันของตัวเอง

“ถ้ายังไม่ถึงเป้าหมาย แต่พวกเราก็ไม่เคยคิดจะถอดใจหรือล้มเลิกนะ เรายังมีความหวังในการที่จะทำสิ่งดีๆ แล้วถ้าถามว่าอะไรที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เรายังคงมีความสุขกับการทำงานนี้ ก็คือสิ่งนี้เลย”

อาจารย์วรุณกล่าวด้วยแววตาเป็นประกายพร้อมกับหันโน๊ตบุ๊คออกมาซึ่งในนั้นมีพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่บนหน้าจอ

“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้ตัว”

นี่คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ CHULA Zero Waste ยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมายแค่ไหนก็ตาม

แก้วน้ำรักษ์โลก

ก่อนจะเริ่มโครงการ CHULA Zero Waste จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีขยะแก้วพลาสติกประมาณ 2 ล้านใบต่อปี

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวเลขที่นับเฉพาะในโรงอาหารทั้ง 17 แห่ง ไม่ได้มาจากพื้นที่อื่น แน่นอนว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ แก้วพลาสติกซึ่งเป็นขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งคงกองท่วมเต็มรั้วจามจุรี

“เราจัดการแก้ปัญหาเรื่องแก้วน้ำด้วยการเปลี่ยนมาใช้แก้วแบบใหม่โดยใช้วิธีบูรณาการ 3 ปัจจัย คือ 1.เทคโนโลยี 2.มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และ 3.การจัดการแบบครบวงจร

“ในด้านเทคโนโลยีเราได้ใช้เทคโนโลยีที่ย่อยสลายได้เข้าไปในแก้วทุกใบ หากโยนแก้วลงไปในกองปุ๋ยหมัก แก้วจะย่อยสลายภายใน 4-6 เดือน ในด้านเศรษฐศาสตร์ เราใช้วิธีลดราคาลง 2 บาท ที่เป็นเหมือนการให้รางวัลกับผู้ซื้อที่นำแก้วมาเอง ส่วนข้อสุดท้ายการจัดการแบบครบวงจร ทางสถาบันของเราได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับกรมป่าไม้ในการนำแก้วของเราไปใช้ในการปลูกต้นไม้แทนถุงดำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดพลาสติกจากการใช้ถุงดำแล้ว ยังสะดวกมากยิ่งขึ้นเพราะสามารถนำต้นไม้ลงดินไปได้ทั้งแก้วเลย เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปแก้วน้ำก็จะย่อยสลายไปเอง”

ปัจจุบันขยะแก้วพลาสติกจากโรงอาหารทั้ง 17 แห่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีตัวเลขเท่ากับศูนย์ ขณะที่แก้วน้ำทั้งหมดทางมหาวิทยาลัยก็ส่งต่อให้กรมป่าไม้นำไปใช้ประโยชน์

คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด หากจะบอกว่านี่คือการจัดการขยะที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

เราลงทุนให้คุณเดิน

หากเราเข้าไปในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราจะเห็นได้ว่าการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยหลายสิ่งหลายอย่างเป็นการสัญจรเพื่อสิ่งแวดล้อม

รถบัสและรถป๊อปพลังงานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ ไปจนถึงการปั่นจักรยานเหล่านี้คือการเดินทางที่มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างมาก และยอมที่จะลงทุนให้กับผู้คนภายในจุฬาฯ ได้ใช้สัญจรก็คือ ‘การเดิน’

เพราะนี่คือการเดินทางขั้นพื้นฐานที่ง่ายดายและประหยัดที่สุด ที่สำคัญยังเป็นการเดินทางที่ไม่เพิ่มเติมมลภาวะให้สิ่งแวดล้อมแม้แต่นิดเดียว

“ต้องบอกว่าทางมหาวิทยาลัยลงทุนกับการสร้างทางเดินเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท ซึ่งทางเดินของเรานอกจากจะเป็นทางเดินที่กันแดดกันฝนได้ถึง 98% หรือเรียกว่าเกือบตลอดเส้นทางแล้ว ยังเชื่อมต่อไปเดินหากันได้ทุกคณะในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นคณะที่อยู่ฝั่งเดียวกันหรืออยู่ฝั่งตรงข้าม

“สาเหตุที่ทางมหาวิทยาลัยทุ่มทุนขนาดนี้ก็เพื่อรณรงค์ให้คนลดการเดินทางที่สิ้นเปลืองพลังงานไม่เพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ให้สิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังถือเป็นการได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายไปในตัวอีกด้วย”

แม้ไม่มีการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการ ทว่าแค่มองด้วยตาเปล่าก็จะรู้ว่าคนในจุฬาฯ หันมาสัญจรกันด้วยการเดินเท้ามากมายจริงๆ

นับเป็นการลงทุนในสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ทั้งเรียบง่าย งดงาม และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

อดุลย์ ฉาวกระโทก – “ลุงอยากให้โครงการนี้มีต่อไปเรื่อยๆ”

“ลุงทำงานที่จุฬาฯ มา 31 ปีแล้ว เป็นช่างซ่อมบำรุงตอนนี้เหลือทำงานอีกปีเดียวก็จะเกษียณแล้ว

“ยอมรับว่าลุงเองไม่ได้มีความรู้หรือใส่ใจเรื่องจัดการขยะมากนักหรอก ตอนแรกที่เขาเริ่มโครงการยังคิดเลยว่าจะได้ผลจริงจังกันสักแค่ไหน แต่พอเวลาผ่านไปก็รู้สึกว่าเขาทำกันจริงจังดี เขาแยกขยะกันเป็นระบบระเบียบเลย แล้วตอนนี้คนในจุฬาฯ ก็ใช้ทรัพยากรกันอย่างคุ้มค่า อย่างลุงนี่ก็เน้นไปที่การใช้ถุงผ้า ใช้เสร็จแล้วก็ยังเอามาใช้ได้อีก

“ด้วยความที่ทำงานมานานลุงเห็นตั้งแต่ยุคที่คนในจุฬาฯ ยังไม่รู้จักการแยกขยะมีอะไรก็ทิ้งรวมกันในถังเดียว จนมาตอนนี้ที่การลดใช้ถุงพลาสติกแล้วก็แยกขยะกันจริงจัง ลุงว่าแบบนี้มันดีกว่านะมันทำให้จุฬาฯ สะอาดขึ้น แล้วที่สำคัญคนจะกิน จะใช้หรือทิ้งอะไรก็จะคิดกันมากขึ้น ไม่รู้เหมือนกันว่าโครงการนี้จะมีไปถึงเมื่อไหร่ แต่พูดตรงๆ นะว่าไม่อยากให้ล้มเลิกเลบ

“ลุงอยากให้โครงการนี้มีต่อไปเรื่อยๆ”

“สิ่งที่เราปรารถนาจะต้องมาถึง”

กุญแจแห่งความสำเร็จของโครงการ CHULA Zero Waste ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การได้ข้อมูลที่เป็นจริง การเตรียมการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ กระบวนการดำเนินงานที่มีมาตรการหลากหลายรูปแบบ หรือการรู้จักปรับปรุงแผนการทำงานอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น หากแต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมในการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยทุกระดับ

ไล่เรียงตั้งแต่ท่านอธิการบดีที่เห็นความสำคัญจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน ออกนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ครูอาจารย์ที่ร่วมโครงการทุกท่านที่ลงมาลุยจัดการปัญหาขยะด้วยตัวเอง บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่แม้บางคนจะมีอิดออดแตกแถวบ้างแต่โดยรวมก็ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบายเป็นอย่างดี ไปจนถึงนิสิตนักศึกษาที่ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรื่องขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บีม-นิภาพร พูลสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะประธานชมรม CHULA Zero Waste Club ยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีว่าปัจจุบันนักศึกษาในจุฬาฯ นั้นตื่นตัวต่อเรื่องนี้กันไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับตอนเริ่มโครงการใหม่ๆ

“หน้าที่หลักของเราในเวลานี้คือสร้างทีมงานนิสิตในชมรมขึ้นมาในการจัดการขยะที่หอสมุดกลาง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางในการแยกขยะของมหาวิทยาลัย โดยเราต้องทำงานร่วมกับแม่บ้านแล้วก็ฝ่ายกายภาพเพื่อให้เส้นทางของขยะแต่ละชนิดเดินทางไปอย่างถูกต้องตามเส้นทางที่ควรจะไป ขณะเดียวกันเราก็จะมีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ให้กับนักศึกษาทั่วไปได้เข้าถึงกิจกรรมของโครงการด้วย เนื่องจากพวกเราเป็นนิสิตเหมือนกันการสื่อสารกันเองก็จะเข้าถึงได้ง่ายกว่า

“ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนต้องถือว่าตอนนี้พวกนิสิตตื่นตัวกันมาก เพราะจากที่ไม่เคยสนใจเลย อย่างน้อยตอนนี้พวกเขาก็รับรู้แล้วว่าปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เราจะเห็นได้เลยว่าพวกเขาเริ่มใช้ถุงผ้า เริ่มมีการใช้กระบอกน้ำ เริ่มที่จะแยกขยะกันมากขึ้น ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้เขาหันมาเดินหน้าในเรื่องการจัดการขยะได้ทั้งหมด เราเชื่อว่าจุฬาฯ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เนื่องจากนี่คือกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในจุฬาฯ

“เป้าหมายหลักของเราก็คือทำอย่างไรที่จะให้คนกลุ่มนี้เกิดความตระหนักในเรื่องการจัดการขยะอย่างจริงจังและยั่งยืนมากที่สุด จริงอยู่ที่ทุกวันนี้เขาตื่นตัวกันมากขึ้น แต่เราก็ยังอยากที่จะให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้อีก เราอยากให้ทุกคนใส่ใจและผลิตขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเราจะพยายามทำงานนี้อย่างสุดความสามารถ

“มันอาจจะไม่ง่ายนัก แต่เชื่อว่าไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่เราปรารถนาจะต้องมาถึง”

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4 / 5. Vote count: 8

No votes so far! Be the first to rate this post.