ช่องทางการติดต่อ
เรื่องราวรักษ์น้ำ
Share
What I've learned

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวกรุงเทพกำลังกังวลใจกับปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในเมืองหลวง ผมได้หนีฝุ่นกรุงมุ่งหน้าไปสร้างฝายกับ SCG ที่ลำปาง

ทริปนี้ผมได้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับน้ำมากกว่าที่เรียนรู้มาทั้งชีวิตเสียอีก มีเรื่องใหม่ๆ ให้เรียนรู้หลายเรื่องเลย และที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องฝุ่นละอองในอากาศ คือเรื่องของฝนแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย นั้น มีผลกระทบใหญ่หลวงถึงคุณภาพชีวิตของเราทุกคน และนี่คือสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้ครับ

1. รู้ว่าฝายที่ถูกต้อง สร้างยังไง / รู้ว่า ที่ตรงไหน ไม่จำเป็นต้องสร้างฝาย

ก่อนไปก็พอรู้คร่าวๆ ว่ามนุษย์เราสร้างฝายก็เพื่อให้ป่าต้นน้ำชุ่มชื้น ทีแรกผมยังนึกว่า หากมีใจอยากจะทำอะไรดีๆ เพื่อธรรมชาติก็สามารถกวักมือชวนเพื่อนฝูงหอบเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นเขาไปสร้างตามใจได้ แต่จริงๆ แล้ว เราควรได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ด้วยว่าบนพื้นที่นั้นๆ เหมาะจะทำฝายจริงๆ รึเปล่า เมื่อศึกษาอย่างดีแล้วว่า จำเป็นต้องสร้าง ก็ต้องรู้ด้วยว่าสร้างอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ กับป่าให้มากที่สุด

2.สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเก็บน้ำ ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำ แต่คือ ป่า

ป่าที่สมบูรณ์ จะช่วยกักเก็บและการชะลอน้ำได้ดีที่สุด แต่ในพื้นที่ป่าบางพื้นที่ประสบปัญหาแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เกิดไฟป่าได้ง่าย เวลาฝนตกลงมาบนพื้นที่แบบนี้ น้ำก็หลาก ดินก็ถล่ม สร้างความเสียหายแก่ประชาชนในวงกว้าง การสร้างฝายจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและเยียวยาป่า

ฝายเล็กๆ ที่พวกเราไปสร้างตามคำแนะนำจากวิศวกรผู้มีความรู้ในการสร้างฝาย จะให้เราใช้วัสดุง่ายๆ ในท้องถิ่น ทำฝายเพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำจากบนเขา และจะช่วยดักตะกอนช่วยให้เกิดความชุ่มชื้น ให้ป่าต้นน้ำค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาอุดมสมบูรณ์

หนึ่งในคำพูดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างฝายบอกผมและผมชอบมากๆ ก็คือ “เราสร้างฝาย ก็เพื่อที่จะไม่ต้องสร้างฝาย” เพราะเมื่อป่าฟื้นฟูกลับมาจนกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ มันก็สามารถดูแลตัวมันเองได้ดีแล้วนั่นเอง

3. ความรู้เรื่องน้ำจะช่วยให้ประเทศเราพ้นภัย

เราคนไทยโชคดีมากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใส่ใจและมอบความรู้เรื่องน้ำในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่น้ำจากบนฟ้า น้ำที่ต้องเก็บไว้กับชุมชนเกษตร น้ำที่ต้องผ่านเมือง ไปจนถึงการประมงที่ปลายน้ำ และโชคชั้นที่สองก็คือ มีคนเก่งๆ ในประเทศเราหลายคนช่วยกันสานต่อศาสตร์พระราชา เพื่อให้คนไทยเราสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างราบรื่นมีความสุข

ทริปนี้ผมได้รู้จักกับคำอีกหลายคำที่ฟังแล้วตื่นเต้นมาก อย่างคำว่า “การบริหารจัดการตะกอน” คำว่า “สมุทรศาสตร์” หลายๆ คำผมเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก ฟังแล้วก็สนุกมากเลย อย่างสมุทรศาสตร์นี่เป็นองค์ความรู้จากการเก็บข้อมูลอุณหภูมิของมหาสมุทรและปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถเกิดหลักในการเตรียมตัวรับมือ เช่น อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรปีนี้ มีความใกล้เคียงกับปี 2538 เราก็พอจะคาดเดาและวางแผนล่วงหน้าได้ว่า หากปริมาณน้ำฝนเป็นแบบในปีนั้น เกษตรกรควรจะวางแผนปลูกพืชและใช้น้ำกันอย่างไรดี

การจะดูแลสายน้ำให้อยู่อย่างยั่งยืน ใช่ว่าจะดูแลแค่ป่าต้นน้ำแล้วจะพอ นอกจากมีความรู้ในการจัดการน้ำแล้ว ความร่วมมือกันของผู้คนในชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะตั้งแต่ภูผา จนถึงมหานที เวลาเกิดปัญหาที่จุดใด มันจะส่งผลสืบเนื่องไปถึงกัน จะดูแลได้ยั่งยืนหรือไม่ ก็อยู่ที่ความสัมพันธ์ของคนกับน้ำนี่แหละครับ ที่ต้องมีความเข้าใจและต้องดูแลมันด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรนี้ร่วมกัน เพราะจะรอดไปกันหมดก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ใช่หากินแบบตัวใครตัวมัน (การวางระบบเชื่อมน้ำเข้าด้วยกันระหว่างหมู่บ้าน บางทีสามารถช่วยให้หลายๆ หมู่บ้านสามารถข้ามภาวะแล้งได้สบายๆ ถึง 4-5 ปีเลยทีเดียว!)

4. ซูเปอร์ฮีโร่มีเพียงในหนัง ในโลกความเป็นจริง ฮีโร่คือกองกำลังคนรุ่นใหม่

การเดินทางครั้งนี้ผมได้ฟังความรู้สึกของชาวบ้านที่อยู่ตั้งแต่ชุมชนต้นน้ำ ไปจนถึงหมู่บ้านชาวประมงที่อยู่ปลายน้ำ พวกเขาเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขาว่าชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร จากการลุกขึ้นมาพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาดีเหมือนเดิม ผมฟังแล้วยิ้มตามไปด้วยเลยเมื่อได้ยินว่าเมื่อน้ำดีขึ้น ชีวิตคนในชุมชนก็ดีขึ้น รายได้ก็ดีขึ้น ความสุขก็เพิ่มขึ้น (ตัวแทนจากหมู่บ้านนึงเล่าอย่างติดตลกว่า พอคุณภาพน้ำดีขึ้น อะไรๆ ก็อุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจในชุมชนก็ดีขึ้น คนในหมู่บ้านก็ติดพนันกันน้อยลง เพราะไม่มีเวลาเล่นพนันละ เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า ได้เงินเยอะกว่า)

หลายปีที่ผ่านมา ผมเห็น SCG เป็นแกนนำหลักในการยกเรื่องความสำคัญของสายน้ำมาให้คนทั่วไปได้รับรู้ และคนรุ่นใหม่หลายคนก็เสนอตัวมาร่วมสนับสนุนเขา ซึ่งบทบาทตรงนี้น่าชื่นชมมาก ครั้งนี้ก็ได้รับทราบว่าตลอดมา SCG ได้ทุ่มเทสร้างฝายในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาได้แล้วกว่า 70,000 ฝาย พลิกฟื้นชุมชนและป่าต้นน้ำได้หลายแห่ง แต่ผมก็ต้องอึ้งเมื่อรู้ว่า ตัวเลขนี้ยังห่างไกลกับที่เขาตั้งใจไว้ ประเทศเรายังต้องการเรี่ยวแรงในการสร้างฝายเพื่อสู้กับความเสื่อมโทรมของป่าที่ยังมีอยู่อีกมาก

คนที่อุทิศตัวช่วยงานในด้านนี้ ผมว่าร่างกายแข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ กายแข็งแรงเท่าไหร่ ใจต้องแกร่งกว่านั้นไปอีกหลายเท่า เพราะระหว่างการพลิกฟื้นผืนป่า จะต้องเผชิญแรงเสียดทานที่เป็นเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งของจิตใจอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะผลของการลงแรงไปจะไม่ได้ออกผลทันตา ต้องรอเป็นปีๆ กว่าป่าจะค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเอง รวมทั้งยังมีความไม่รู้ไม่เข้าใจของผู้คนที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้นผู้ที่อุทิศตนในงานนี้ ซึ่งจำเป็นต้องเผชิญกับสิ่งที่อาจบั่นทอนกำลังใจไปพร้อมๆ กับการต้องทำงานหนักเพื่อผู้อื่น เขาจึงเป็นผู้ที่น่านับถือมาก ยิ่งได้เห็นคนรุ่นใหม่เสนอตัวมาเป็นอาสาสมัครในการสร้างฝายด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งในความเสียสละนั้น

5. ได้สัมผัสถึงการทำสิ่งที่มีความหมาย

ก่อนจะร่วมเดินทางไปสร้างฝายเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็ใช้ชีวิตแบบคนเมืองทั่วไป ทำมาหากินเพื่อให้ได้เงินมาใช้ ถ้ามีเวลาว่างก็สอดส่ายหารูปแบบการกินเที่ยวที่น่าสนใจเพื่อให้มีอะไรไปอวดคนอื่นเขาหน่อย และคิดไปเองว่านั่นคือสิ่งที่มีความหมาย แต่เมื่อผ่านทริปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พบความหมายใหม่ของชีวิต แม้การเดินทางไม่ได้สะดวกสบาย ต้องเข้าไปยังพื้นที่ห่างไกล เดินขึ้นเขา ไม่มีอาหารเลิศรสมาคอยเสิร์ฟ ที่พักก็เป็นเพียงโฮมสเตย์แบบเรียบง่ายของชาวบ้าน แต่น่าแปลกมากเลย ที่ความเหนื่อยและความยากลำบากนั้นสร้างความสุขให้กับผมได้มากกว่าตอนใช้ชีวิตกินอยู่หรูหราเสียอีก ผมพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกนี้ว่ามันมาได้ไง คิดเรื่องนี้ตลอดระหว่างเส้นทางอันยาวไกลเพื่อกลับบ้าน แต่ก็ยังไม่มีคำตอบ

มีเพียงภาพติดตาภาพนั้นที่ยังคงวนเวียนอยู่ในใจ มันเป็นภาพถ่ายเก่าๆ ที่คนในพื้นที่เคยบันทึกไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นป่าบริเวณนั้นที่แสนจะแห้งแล้งเสื่อมโทรม และนำมันมาเปรียบเทียบกับภาพทุกวันนี้ที่พื้นที่นี้กลายเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว

นาทีนั้นผมนึกถึงรอยยิ้มสองรอยยิ้ม หนึ่งคือ รอยยิ้มของพี่ๆ SCG ที่อุทิศตนทำงานหนักเพื่อผู้อื่น และอีกรอยยิ้มเป็นของชาวชุมชมที่เล่าถึงความสุขที่ได้จากป่าอันชุ่มชื้นอย่างในทุกวันนี้ ผมไม่มีทางลืมว่า ตัวเองรู้สึกเช่นไร เมื่อได้รับความประทับใจจากรอยยิ้มเหล่านั้นในครั้งแรก

ในที่สุด ผมก็ได้รู้แล้วว่า ความรู้สึกเหล่านั้นเอง ที่เป็นความหมายซึ่งผมพยายามตามหาตลอดมา...


ขอขอบคุณบทความจาก คุณภาณุมาศ ทองธนากุล วิทยากร และผู้เขียนหนังสือ นี่คือสิ่งสำคัญ

สามารถติดตามบทความได้ที่ : https://www.facebook.com/baipadPage/posts/1609200012494070

กลับ