ช่องทางการติดต่อ
เรื่องราวรักษ์น้ำ
เรื่องราวรักษ์น้ำ > ต้นน้ำ > ต้นทางคือป่าไม้…
Share
ต้นทางคือป่าไม้…

ต้นทางคือป่าไม้…สร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำ :

เอสซีจีร่วมกับชุมชน สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำมานานกว่า 10 ปี โดยเริ่มที่ จ.ลำปาง และขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ฝายชะลอน้ำเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นในป่าอย่างง่ายๆ โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ มาช่วยชะลอการไหลของน้ำและดักตะกอน เมื่อมีน้ำก็มีป่า จากพื้นที่แห้งแล้ง ที่เคยมีไฟป่า 200-300 ครั้งต่อปี ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนไม่มีเลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พันธุ์นกและสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น ชุมชนมีรายได้ด้วยผลผลิตจากป่า สำคัญที่สุด คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน ก่อให้เกิดความสามัคคี ความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน เอสซีจีร่วมกับชุมชน จิตอาสา ภาครัฐ และภาคเอกชน สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 75,500 ฝาย มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 87,000 คน และตั้งเป้าจะบรรลุ 100,000 ฝายภายในปี 2020 โดยมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือ จ.ลำปาง ภาคกลาง จ.สระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ภาคตะวันออก จ.ระยอง ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ตรัง และยังมุ่งมั่นที่จะเข้าไปพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อต่อยอดความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วย


ต่อยอดรักษ์น้ำที่ต้นทางด้วย “สระพวง” :

เดิมทีชุมชนบ้านสาแพะ หมู่ 3 อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จะทำเกษตรกรรมได้เฉพาะฤดูฝน แม้ว่าแต่ละครัวเรือนจะสร้างบ่อ ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำใช้ในฤดูอื่นๆ กันเองตามกำลังทรัพย์ จนมีมากถึง 200 สระ ก็ไม่เกิดผลใดๆ เพราะดินไม่อุ้มน้ำ การสร้างสระพวงในพื้นที่เชิงเขา ได้ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร การขุดสระเพื่อกระจายน้ำไปสู่พื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สระแม่ขนาดใหญ่ ไปสู่สระลูก และสระหลาน ตามระดับความสูงของพื้นที่ ทำให้มีน้ำใช้ทำเกษตรกรรมได้ตลอดปี ยิ่งชุมชนปรับเปลี่ยนการทำเกษตรมาเป็นการเกษตรปราณีตแบบใช้น้ำน้อย ยิ่งช่วยให้ชุมชนสร้างรายได้ได้มากขึ้น จุดเด่นของสระพวง คือ ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในการเสียสละที่ทำกินบางส่วน ยอมแบ่งที่ดินของตนเองมาใช้เป็นพื้นที่ขุดสระพวงเพื่อใช้น้ำร่วมกัน เมื่อน้ำเต็มสระแม่ กระจายไปตามสระลูก สระหลาน ผลผลิตก็เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่กระจายจากแม่สู่ลูก สู่หลาน เมื่อที่ดินกลับมาทำกินได้ ลูกหลานก็กลับมาหาแม่ กลับมาทำกินในบ้านเกิด และพร้อมถ่ายทอดแนวคิดอนุรักษ์น้ำเพื่อการเกษตรสู่รุ่นต่อๆ ไป เอสซีจีพร้อมขยายพื้นที่สร้างสระพวง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองให้กับชุมชนที่มีพื้นที่เหมาะสม ยอมเสียสละพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์สาธารณะ และมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการแหล่งน้ำด้วยตนเอง ผลสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำบ้านสาแพะ หมู่ 3 ด้วยสระพวง 6 สระ ทำให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี 24,000 ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 500 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี สร้างรายได้เฉลี่ยให้เกษตรกร 100,000 บาทต่อปีต่อราย เกิดรายได้รวมในชุมชนปี 2560 ได้มากถึง 18 ล้านบาท

กลับ