‘ยิ่งล้ำ ต้องยิ่งใกล้ตัว’ นวัตกรรมแห่งอนาคตแบบไหนที่จะช่วยโลกและคนไทยได้ประโยชน์ ในวันที่ไปสู่ NET ZERO

ประเด็นเร่งด่วนที่สุดของยุคสมัยนี้ นอกจากเผชิญกับการระบาดของโควิด 19 มาเกือบ 3 ปี ในยุคหลังการระบาด ที่พ่วงมาด้วยปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ

ทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ของแพง โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แพงขึ้นเท่าตัวจนกระทบกับเงินในกระเป๋ากันเป็นแถบๆ และยังมีวิกฤตซ้ำซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็เห็นตรงกันว่า น่าจะเป็นปัญหาระยะยาวของโลกในอนาคต ทำให้รัฐบาล เมือง และบริษัทต่างๆ ทั้งโลก ต้องมุ่งเป้าหมายไปจุดเดียวกัน อย่างการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อธิบายให้ลึกอีกนิด นั่นคือ การทำให้ก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ เท่ากับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการลด กักเก็บ หรือดูดกลับ จนทำให้การปล่อยก๊าซเรือนสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ให้ได้

วันนี้ The MATTER ได้ชวน คุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การบริหารกลาง จาก SCG มาพูดคุยถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในการสนทนาครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า สิ่งที่มนุษยชาติกำลังเจอในวันนี้ มันเพียงเล็กน้อยมาก ในวันข้างหน้ายังมีอะไรน่ากลัวกว่าอีกมาก หากเรายังไม่เริ่มรับมือตั้งแต่วันนี้…

ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ เป็นปัญหาเชิงซ้อน หรือเรียกกว่า ‘ripple effect’ เช่น ปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ไม่ได้ส่งผลแค่ปัญหาสงครามระหว่างประเทศ แต่กลับส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ทั่วโลก เพราะมี supply chain ที่เชื่อมถึงกัน ทำให้กลับมามองปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่แม้วันนี้หลายคนอาจจะมองแค่ว่าเป็นเรื่องโลกร้อน น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย แต่วันข้างหน้าจะเกิดวิกฤตที่หนักหนาสาหัสแค่ไหน ทุกชีวิตจะโดนธรรมชาติเอาคืนอย่างไร คุณยุทธนาฉายภาพวิกฤตออกมาให้เราได้เห็นแบบชัดเจนขึ้นว่า

“ปัจจุบันวิกฤต Climate change ซึ่งเป็นผลจากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ประมาณ 1.1 องศา นี่คือตัวเลขอุณหภูมิค่าเฉลี่ยของทั้งโลก ดูเหมือนกับเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เราก็เห็นได้ด้วยตาแล้ว นั่นคือ ภาวะโลกรวน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น อากาศร้อนในยุโรป อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปถึง 40 องศา ในเดือนที่ไม่เคยร้อนมาก่อน ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้งจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรที่เริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของเรา เกิดภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก หรือโรคระบาดใหม่ที่พร้อมจะก่อตัวขึ้นจากความแปรปรวนของธรรมชาติ และถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ จนโลกร้อนเกินเป้าหมายที่ 1.5 องศา สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะทวีคูณจนไม่สามารถทำให้โลกกลับมาเหมือนเดิมได้ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้หลายประเทศต้องจมอยู่ใต้น้ำได้ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน มันคือเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว”

ซึ่งสิ่งที่ธรรมชาติเอาคืนนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่เรามองเห็น แต่ยังมีผลกระทบที่ซ้อนอยู่ เป็น ‘ripple effect’ ที่ย้อนกลับมาถึงตัวเราทุกคน กระทบกับเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ไม่เฉพาะช่วงยุคนี้ แต่รวมถึงอนาคตของลูกหลานที่จะอาศัยอยู่ในโลกใบเดิมได้หรือไม่ ดังนั้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero จึงกลายเป็นกติกาโลก ที่ทุกคนต้องเล่นในกติกาเดียวกัน แล้วทางแก้คืออะไรกันแน่ แต่ก่อนที่จะไปถึงประเด็นว่าการแก้ไข และรักษาธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างไร คุณยุทธนาพูดถึงประเด็นความท้าทายในประเทศไทยให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งเขาบอกว่า ความท้าทายในไทย มันมาจากประเด็นที่ใกล้ตัว แต่เรามักจะคิดไม่ถึงเท่าไหร่นัก

“เราคงเคยได้ยินสุภาษิต ว่าประเทศไทยเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ความท้าทายอย่างแรก คือเราไม่ค่อยคุ้นชินกับสภาพอากาศที่รุนแรง หรือสภาพการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติสักเท่าไร จะเรียกว่าเป็นความโชคดีก็ได้นะ ที่ทำให้เรามีทรัพยากรเหลือเฟือ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราลืมตัวไป หรือมองข้าม ต่อเรื่องของปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม การบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องขยะ หรือการทิ้งขยะแบบทิ้งให้พ้นจากตัวเราทำให้ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ ไม่สามารถรีไซเคิลได้

“ความท้าทายอย่างที่สอง ก็คือเรื่องของระดับของทักษะความสามารถในเรื่องของการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนหรือยกระดับการสร้างผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการที่มีคุณภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่พวกเราได้รับทราบกันมานานว่าการสร้างนวัตกรรมจะเป็นกลไกในการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของคนไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแต่ครั้งนี้ ประเด็นการสร้างนวัตกรรมจะมีอีกมุมคือการทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero อย่างที่สาม ก็คือเรื่องของกลไกการขับเคลื่อน ในทิศทางของภาครัฐ หรือกลไกในแง่ของนโยบาย ที่ปัจจุบันก็เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น” คุณยุทธนาเล่าถึงความท้าทายในหลากหลายด้าน ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่จัดการได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากการวางนโยบายสาธารณะในรอบนี้จะกระทบกับทุกคนในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น การสวมหมวกกันน็อคในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ที่ยังมีผู้ขับขี่ส่วนหนึ่งไม่ปฎิบัติแม้ว่าจะทำให้ลดการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ ทุกอย่างมีข้อยกเว้นได้ แต่ไม่ใช่สำหรับการผลักดันเป้าหมายสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อ และทำให้ได้ ก่อนที่โลกจะล่มสลาย มนุษย์จะไม่มีบ้านให้อยู่อาศัย ไม่มีอาหารในการดำรงชีวิต ดังนั้นเราจึงชวนคุณยุทธนาคุยต่อ ว่าจะเตรียมความพร้อมอย่างไร ให้ไทยมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำได้จริง? ซึ่งคุณยุทธนาได้ชี้ให้ฟังใน 4 ประเด็นต่อไปนี้

“การสร้างความพร้อม ผมสรุปง่ายๆ เป็นเรื่องใหญ่ๆ มาสัก 4 เรื่อง

เรื่องแรก คือเรื่องของการให้ความสำคัญกับเรื่องการทำนวัตกรรม

เรื่องที่สอง คือเรื่องของทรัพยากรทางด้านเงินทุน เพื่อผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้น 

เรื่องที่สาม ก็คือเรื่องของทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับทางด้านนี้ ซึ่งเรามีอยู่ไม่มากนัก เป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ เอง”

ส่วนเรื่องสุดท้าย เขาบอกกับเราว่า สำคัญที่สุด นั่นคือเรื่องของความตระหนักรู้ ของผู้บริโภค ซึ่งคำว่าผู้บริโภค = ทุกคน เพราะมนุษย์ทุกคนบนโลก คือผู้ที่บริโภคทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน

“ความตระหนักรู้ หรือ mindset ของผู้บริโภค ซึ่งก็คือคนไทยทุกคน ที่จะมาร่วมกันผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น การจะซื้อสินค้าอะไรสักชิ้นหนึ่ง แล้วพลิกอ่านฉลากผลิตภัณฑ์เป็นประจำ ว่าสินค้านี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า” เขาให้คำแนะนำ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่สำคัญเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่า ปัจจุบันคนทั่วโลกก็เริ่มตื่นตัว มีการปรับการดำเนินชีวิตให้กรีนขึ้น แต่! เพราะเราทำร้ายโลกมามาก การช่วยเหลือเท่านั้นไม่เพียงพอ จึงต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อกรกับภาวะโลกร้อน นวัตกรรมจึงเหมือน ‘ยาแรง’ ที่ทำให้สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต เกิดขึ้นได้จริง แต่เรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันค่อนข้างเยอะและยังเป็นสิ่งที่เราสงสัย ก็คือการพัฒนานวัตกรรมมาใช้จริง จะเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร อย่างที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนได้จริงๆ ซึ่งคุณยุทธนาได้ให้คำตอบกับเราอย่างชัดเจนว่า

“นวัตกรรม แปลมาจากคำว่า Innovation เท่ากับ Invention + Commercialization แปลว่าทุกวันนี้มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และทีมต่างๆ ค้นคว้าวิจัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาคำตอบให้กับโจทย์ที่มีความท้าทาย และนวัตกรรมจะสร้างประโยชน์ให้สังคมได้จริงต้องขายได้และเป็นที่ต้องการ”

เราถามต่อถึงประเด็นเรื่องของต้นทุนหรือราคาที่สูงในการพัฒนานวัตกรรม ว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าหรือไม่ “นวัตกรรมเหล่านี้ ตอนที่เริ่มคิดใหม่ๆ มีต้นทุนที่สูง พอไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แน่นอนเราก็มีความรู้สึกว่า ทำไมเราต้องจ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ พอมาถึงจุดหนึ่ง เป็นจุดที่เราต้องการความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกคน เราก็ต้องยอมจ่ายเพิ่มขึ้นในจำนวนหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการวนลูปของการพัฒนา ถ้าผู้บริโภคไม่ยอมจ่าย การวนลูปเกิดขึ้นไม่ได้ผู้ประกอบการก็จะไม่มีทรัพยากรกลับเอาไปใช้ใหม่ ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในราคาที่ลดลงหรือถูกลงกว่าในตอนที่เริ่มผลิตใหม่ๆ” เขาเน้นย้ำว่า ต้องเป็นนวัตกรรมที่ไม่ขึ้นหิ้ง ดังนั้นต้องใช้ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย เข้าใจและเห็นความสำคัญ เพื่อให้ดีมานด์ความต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้น และทำให้นวัตกรรมราคาถูกลงในที่สุด

แน่นอนว่าปัจจุบันมีหลายองค์กร รวมถึงรัฐบาลหลายประเทศ ลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่น่าสนใจก็เช่น CCUS Technology นวัตกรรมดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนำมากักเก็บภายใต้พื้นดินลึกอย่างถาวร ตลอดจนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสะอาด ทดแทนเชื้อเพลิงสันดาปแบบเดิม ซึ่งเราได้ฟังเรื่องราวนวัตกรรมเหล่านี้ ต้องบอกตามตรงว่าน่าสนใจมากๆ

แต่ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า บริษัทเอกชนในประเทศไทยมีความพยายามในการหันมาดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดรักษ์โลกและยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยี ในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งคุณยุทธนาได้เล่าถึงสิ่งที่ SCG เป็นผู้พัฒนาว่า

“SCG พยายามสร้างให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ไบโอโพลิเมอร์ ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ใช้น้ำตาลจากอ้อย หรือข้าวโพด โดยนำมาแปลงเป็นโมเลกุล ให้สามารถผลิตเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

“อีกประเภทหนึ่ง คืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ ที่ทำให้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำลงได้ เรียกว่าไฮบริดซีเมนต์ โดยเราใช้เครื่องจักรเดิม แต่มีการปรับสูตรการผลิตใหม่ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง” และคุณยุทธนาเสริมต่อว่า ซีเมนต์ที่ผลิตได้นั้นมีคุณภาพสูง สามารถใช้ทดแทนปูนซีเมนต์สูตรเดิมแต่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น

Net Zero คือภารกิจต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ และเป็นภารกิจที่ ‘คนทั้งโลกต้องมีส่วนร่วมด้วยกัน’ และต้องเริ่มตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ธรรมชาติเอาคืนแน่

ซึ่งวิกฤตดังกล่าวจะคลี่คลายได้ อยู่ที่การเลือกให้ความสำคัญและมีนวัตกรรมเป็นอาวุธสำคัญ นวัตกรรมที่ช่วยกอบกู้วิกฤต ต้องเป็นนวัตกรรมที่คนไทย “เลือก” ให้ความสำคัญและได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งต้องวางทิศทางในการส่งเสริมนวัตกรรมอย่างชัดเจนในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ไปจนถึงระดับประเทศ โดยต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรคนและเงินทุนที่จะใช้ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่ต้องใช้งานได้จริงและแก้ปัญหาใกล้ตัวได้ดี

บทสนทนากับคุณยุทธนา ตอกย้ำเราเสมอว่า ปัญหาโลกร้อน ไม่มีคำว่า ‘รอ’ ในหน้าพจนานุกรม ไม่มีคำว่า “ถอย” มีแต่คำว่า “เร่ง” ถึงแม้จะมีความท้าทายมากแต่ก็มีเดิมพันที่สูงเช่นกัน นับจากวันนี้เราจะได้เห็นโลกและมวลมนุษยชาติเปลี่ยนไปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่จะเปลี่ยนไปแบบเราได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ ขึ้นกับการแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ เขาย้ำว่า ต้องไม่ติดกับปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องมองต้นเหตุปัญหาที่ใหญ่กว่า และสำคัญที่สุดเราต้องสร้างข้อตกลงร่วมกันว่า ‘เมื่อเราทุกคนคือส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น เราจึงต้องร่วมกันลงมือ ลงทุน ลงแรง เพื่อให้เป้าหมาย Net Zero เกิดขึ้นจริงได้ในที่สุด’ เพื่อให้ประเทศไทย ไปสู่ความสำเร็จในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำภายในปี 2065 (ขณะที่ SCG ตั้งเป้าหมายเร็วกว่าในปี 2050 นี้)

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมทำความเข้าใจนวัตกรรมรักษ์โลก ได้ที่งาน ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability เวทีความยั่งยืนระดับสากลครั้งใหญ่แห่งปี โดย SCG วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 8.00-12.00 น. ลงทะเบียนและรับชมได้ที่ https://www.scgverse.com/

ที่มา : https://thematter.co/brandedcontent/scg-netzero_esg-symposium-2022/

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่ ?

Average rating 3.7 / 5. Vote count: 3

No votes so far! Be the first to rate this post.