Recycled Plastic Road ถนนสายใหม่จากพลาสติกใช้แล้ว

ประเทศไทยของเรามีขยะพลาสติกปีละราว ๆ 1.5 ล้านตันที่ยังไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ การสร้างคุณค่าสูงสุดอย่างยั่งยืนให้กับพลาสติกตั้งแต่ต้นทางการผลิต การใช้ และวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy จึงเป็นโจทย์สำคัญอันเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เพื่อทำ “ถนนพลาสติกรีไซเคิล” ที่มีส่วนผสมของยางมะตอยกับ “พลาสติกที่ใช้แล้ว”

นิยามของถนนพลาสติกรีไซเคิล

การทำถนนยางมะตอยแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคย ยางมะตอยที่ใช้มาจากการผสมระหว่างหินฝุ่น หินคลุกและ Asphalt Cement จากนั้นจึงทำการฉีดพ่นลงบนถนนที่ทำการบดอัดเตรียมที่ไว้เรียบร้อยแล้ว

ขยะพลาสติกเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนประกอบหนึ่งในขั้นตอนการคลุกหิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนยางมะตอยและเป็นการนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทดแทนการนำไปฝังกลบหรือเผากำจัด

แนวคิดโครงการนี้เริ่มต้นจากบริษัทดาว เคมิคอล ได้ดำเนินการสร้างถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลมาก่อนในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ทางธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จึงร่วมมือที่จะดำเนินการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลเช่นนี้บ้างในประเทศไทย

ผลพลอยได้จากการวิจัย

แน่นอนว่าสภาพภูมิประเทศในอินเดียและอินโดนีเซียที่เคยสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลมาก่อนหน้าย่อมแตกต่างจากบ้านเรา โดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมิบนพื้นผิวถนนและใต้ถนน การจะนำนวัตกรรมนี้มาใช้งานในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการค้นคว้า วิจัย และทดลองก่อน โดยนักวิจัยของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ค้นหาสัดส่วนของส่วนผสมที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณสมบัติในเรื่องความแข็งแรงทนทาน เหมาะสมต่อการใช้งานในบริบทของประเทศไทย

ผลลัพธ์ของงานวิจัยถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ทดสอบโดยภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เปรียบเทียบถนนพลาสติกรีไซเคิลกับถนนยางมะตอยทั่วไป พบว่าถนนพลาสติกรีไซเคิลที่มีขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบนั้น มีคุณสมบัติของผิวถนนที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมประมาณร้อยละ 15-30 และประสิทธิภาพด้านการยึดเกาะถนนที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ดีเกินคาด ซึ่งทำให้วิธีการนี้นอกเหนือจากช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศ แล้วยังหมายถึงการพัฒนาประยุกต์ใช้ขยะพลาสติกให้เกิดประโยชน์สำหรับการทำถนนยางมะตอยที่มีคุณภาพอีกด้วย

ต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิล

ถนนพลาสติกรีไซเคิล นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ. ระยอง จากความร่วมมือทางเทคโนโลยี ระหว่าง เอสซีจี และ ดาว เคมิคอลนับเป็นต้นแบบในการนำขยะพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะพลาสติกภายในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีที่จังหวัดระยองและครัวเรือนในชุมชน จ. ระยอง อาทิ ถุงพลาสติก และถุงใส่อาหาร จากนั้นนำพลาสติกที่ผ่านการคัดแยก มาผ่านกระบวนการบดย่อยให้มีขนาดเล็กลง และนำพลาสติกที่บดแล้วนั้นมาผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ในการปูถนน โดยต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นนี้ มีระยะรวม 220 เมตร มีความกว้างของถนน 3 เมตร ความหนา 6 เซนติเมตร จึงถือเป็นการสร้างคุณค่าให้กับพลาสติกประเภทที่ปกติไม่ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือ นำกลับมา Recycle อย่างเหมาะสม และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจอย่างแท้จริง

อนาคตของถนนพลาสติกรีไซเคิล

โครงการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลถูกวางแผนขยายผลสำเร็จ โดยจะดำเนินการนำร่องบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ รวมทั้งสิ้น 2,600 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะใช้ขยะพลาสติกประมาณ 1.3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกจำนวน 100,000 ใบที่เดิมเคยถูกฝังในดินเพื่อกำจัดหรืออาจไหลลงสู่ทะเล ถูกนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อสร้างเป็นถนน นับว่าตัวพลาสติกเองก็ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า

การสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลครั้งนี้จึงนับเป็นโครงการนำร่องที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านนวัตกรรมการหมุนเวียนขยะพลาสติกเพื่อชุบชีวิตให้เกิดการใช้งานรูปแบบใหม่ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม ซึ่งจะส่งผลแบบองค์รวมต่อทั้งด้านอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนโยบายสมาร์ทซิตี้ของทางภาครัฐบาล ในการสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งแรกในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และมุ่งหวังว่าจะสามารถขยายโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลสู่การใช้งานจริงในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

RECYCLED PLASTIC ROAD: Plastic wastes mix Asphalt, a Circular Economy for Road Construction: ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้นำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการทำโครงการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ทำถนนยางมะตอยในประเทศต่างๆ มาร่วมกับเอสซีจี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการทำถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยการนำขยะพลาสติกมาผสมกับยางมะตอยเพื่อทำถนน นอกจากจะช่วยยืดอายุของถนน และยังสามารถสร้าง value ให้ขยะพลาสติก ลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกฝังลงใน Landfill หรืออาจไหลลงสู่ทะเลได้อีกด้วย

คุณสมบัติและประโยชน์ของการนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสมในการสร้างถนน

1. ทำให้ถนนมีความคงทนแข็งแรงเพิ่มขึ้น
2. ช่วยต้านทานการกัดเซาะของน้ำได้ดียิ่งขึ้น
3. ลดปริมาณการใช้ยางมะตอยในการสร้างถนน ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตยางมะตอย
4. แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะพลาสติก เพิ่มคุณค่าให้กับพลาสติก

ผลการทดสอบโดยภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. เป็นผลการทดสอบ Asphalt Concrete ที่ผสมพลาสติกด้วยวิธี Dry Process
2. ผลทดสอบความสามารถในการรับแรง ดีขึ้น (Marshall Stability) 15-30% ในขณะที่คุณสมบัติอื่น ๆ (เช่น ความหนาแน่น ความเสียดทาน) คงเดิม เมื่อเทียบกับยางมะตอยแบบเดิม

“แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม สำหรับความร่วมมือกับอมตะและดาว ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างเครือข่ายความร่วมมมือและช่วยขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล ณ นิคมฯ อมตะ ชลบุรี ให้เป็นถนนพลาสติกที่ใช้งานได้จริง และสามารถขยายโครงการนี้ต่อไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ในอนาคต ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน”

ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ
Vice President – Polyolefin and Vinyl Business
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่ ?

Average rating 4.2 / 5. Vote count: 20

No votes so far! Be the first to rate this post.