Digital Transformation การเดินทางที่ต้องวิ่งตั้งแต่วันนี้ของ SCG

โลกเราทุกวันนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไวอย่างยิ่ง ดูง่ายๆ จากชีวิตรอบตัว เราเปลี่ยนจากการจำเบอร์โทรศัพท์เพื่อโทรหากัน มาเป็นส่งข้อความหรือใช้วิดีโอคอลล์คุยกับเพื่อน เราเปลี่ยนจากการเดินทาง หาที่จอดรถ ไปรอคิวหน้าร้านอาหารดัง เป็นการกดแอปพลิเคชันสั่งอาหาร คิวหน้าร้านกลายเป็นพี่ๆ แมสเซ็นเจอร์ที่ถือออเดอร์ที่ได้รับ หรืออีกกรณีเราไปดูของที่อยากได้ตัวจริงที่หน้าร้าน แต่เลือกที่จะเช็คราคาในมือถือแล้วสั่งซื้อในนั้น

ไม่ใช่แค่เพียงเพราะความสะดวกสบายในมุมของผู้ใช้ แต่กระแสที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้กำลังท้าทายธุรกิจแบบเก่าด้วยเทคโนโลยีที่ประหยัดเวลาและทรัพยากรมากมาย การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมของลูกค้าจึงเป็นเป้าหมายของธุรกิจในปัจจุบัน

องค์กรต้องเริ่มขยับ

Digital Transformation ให้นิยามอย่างเข้าใจง่ายก็คือการปรับเปลี่ยนวิถี วิธีการทำงาน การบริหารงานขององค์กรด้วยการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ เทคโนโลยี หรือความเป็นดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยน ซึ่งองค์กรที่เป็นองคาพยพใหญ่ๆ ของประเทศก็เริ่มทำกระบวนการนี้แล้ว

เอสซีจีก็เช่นกัน ที่ทางผู้บริหารเริ่มเห็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด

ดร.จาชชัว แพส SCG Corporate Innovation Director และ Managing Director of AddVentures by SCG เล่าให้ฟังว่า ทีมงานของเขาได้รับนโยบายมาจากผู้บริหารให้เริ่มศึกษาว่า SCG จะเริ่มปรับตัวได้อย่างไร ผลที่ได้ก็คือการสร้างแนวทางของ Digital Transformation ขององค์กรผ่านสามแนวทาง อาทิ

ZERO TO ONE by SCG – ที่เป็น STARTUP STUDIO คอยส่งเสริมให้พนักงานของเอสซีจีจากทุกภาคส่วนมาออกไอเดียพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจหรือสร้างธุรกิจใหม่ๆ เรียกได้ว่าเมื่อมีนโยบายจากผู้บริหาร ก็ถึงเวลาของพนักงานจะได้โชว์ศักยภาพ

AddVentures by SCG – หน่วยงานของเอสซีจีที่ร่วมงานกับสตาร์ทอัพภายนอกในไทยและต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของการทำงานร่วมกัน ร่วมลงทุน หรือเป็นพันธมิตรในฐานะคู่ค้า

Data Analytics – ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพมาวิเคราะห์หาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ออกจากคอมฟอร์ตโซน

พอมีใครสักคนหนึ่งในองค์กรพูดถึงเรื่องของการ transform องค์กรเมื่อไร ก็จะมีความคาดหวังจากผู้บังคับบัญชา กลายเป็นความกดดันและความเครียดกับพนักงานในเรื่องของความมั่นคงในหน้าที่การงาน หรือโอกาสในการพัฒนาตามมา ไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน

ในจุดนี้ เอสซีจีได้เริ่มใช้ OKRs (Objective and Key Results) ในการวัดผล มันคือการตั้งเป้าหมาย ที่ตั้งคำถามว่าเราอยากเป็นอะไร หรือเราอยากทำอะไรเพื่อลูกค้า กับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ ซึ่งเป็นเป้าที่สูงแต่สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อผลลัพธ์ดีขึ้นและมีลักษณะเป็นเชิงระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ทีมและบุคคลสามารถออกจากคอมฟอร์ตโซนกล้าทำอะไรใหม่ๆ จัดเรียงความสำคัญ เรียนรู้จากความผิดพลาดและล้มเหลวได้รวดเร็วขึ้น

Digital Transformation เป็นเกมที่ต้องมองกันยาวๆ ผลลัพธ์จะค่อยๆ เกิดขึ้นและมีการล้มลุกคลุกคลาน และเรียนรู้ ปรับปรุง แก้ไขกันตลอดแน่ๆ

ผลลัพธ์ของ Digital Transformation

การเดินทางอันยาวไกลของ Digital Transformation จะผลิดอกออกผลออกมาในสองด้านใหญ่ๆ

เริ่มจากในองค์กร ดร.จาชชัว ระบุว่า ที่เอสซีจีมี ZERO TO ONE by SCG ก็กลายเป็นพื้นที่ให้พนักงานจากทุกภาคส่วนที่มีแพชชัน ไอเดีย มาแชร์ไอเดีย รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ บ่มเพาะและสร้างออกมาเป็นนวัตกรรมหรือโซลูชั่นที่ใช้งานได้จริง หากแม้ยังไม่มีไอเดียอะไร ก็เข้ามาใช้พื้นที่หลังเลิกงาน ร่วมฟังเซสชันจากผู้รู้ในวงการสตาร์ทอัพ และนำความรู้กลับไปใช้ในหน่วยงานได้ทันที เพราะองค์ความรู้เหล่านี้ใช้งานได้กับทุกคน

ในส่วนของ AddVentures by SCG สตาร์ทอัพภายนอกองค์กรสามารถร่วมงานกับเอสซีจีได้หลายรูปแบบ ทั้งการที่เอสซีจีเข้าไปลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ช่วยขยายขนาด (scale) สตาร์ทอัพให้ใหญ่ขึ้น หรือร่วมทำงานกันแบบ Open Innovation ที่ ดร.จาชชัว มองว่ายุคนี้การ collaborate หรือทำงานร่วมกัน ให้ผลลัพธ์เป็นนวัตกรรมที่ดีกว่า ในเวลาที่สั้นกว่า ตลอดจนสามารถนำเทคโนโลยีสำเร็จรูปของสตาร์ทอัพรายนั้นมาปรับใช้ ในธุรกิจของเอสซีจีกำลังมองหาโซลูชั่นพัฒนาต่างๆ

เมื่อนวัตกรรมใหม่ๆ ถูกคิด ทดลอง แก้ไข ทำออกมาได้อย่างรวดเร็วว่องไว ผลก็คือมันสามารถออกสู่ตลาดได้ก่อนใคร ทันความต้องการ ตอบโจทย์กับแผนธุรกิจ แก้ pain point ให้คู่ค้า และลูกค้า

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่ ?

Average rating 5 / 5. Vote count: 1

No votes so far! Be the first to rate this post.