12 ปีบนเส้นทางการ Test and Learn

HIGHLIGHTS

  • กระบวนการคิดค้นนวัตกรรมในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ความต้องการของลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง
  • การทดลองและการลงมือทำคือหัวใจของกระบวนการพัฒนานวัตกรรม
  • Test and Learn ช่วยรับประกันความคุ้มค่า และลดต้นทุนความเสี่ยงทางธุรกิจ ลดความเสียหายเมื่อผลิตจริง
  • การปรับตัวของนักวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ ไม่หยุดเรียนรู้หานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตอบความต้องการจริงๆของลูกค้า

โลกดิจิทัลที่หมุนเวียนอยู่รอบตัวเรา ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากขึ้น นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องปรับตัวตามเทรนด์ ในยุคที่เรียกได้ว่าแทบจะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ด้วยประสบการณ์การทำงานมากกว่าสิบปีในสายงานนักวิจัย ดร.วัชรา อนันต์นฤการ, Senior Researcher, SCG Packaging ได้ผ่านการทำงานคิดค้นนวัตกรรมมาอย่างมากมาย โดยในบทความนี้ ดร. วัชราจะมาเล่าถึงชีวิตในสายงานวิจัย กระบวนการทำงานและการคิดค้นนวัตกรรมในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ซึ่งความต้องการของลูกค้าต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

ดร. วัชรา เล่าว่าเธอเลือกที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักวิจัยด้วยเป็นคนรักในการเรียนรู้และการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ต่าง ๆ แม้เริ่มต้นจะไม่ได้เจาะจงอาชีพนักวิจัย แต่จวบจนปัจจุบัน ดร. วัชราก็ได้อยู่บนเส้นทางนี้มากว่า 12 ปีแล้ว

โดยในการเป็นนักวิจัยในสายธุรกิจนั้น ดร. วัชรา เล่าว่าสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือการทำงานเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ย่อมต้องมีความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจหลัก เข้าใจเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นำผลงานไปใช้ประโยชน์ต่อผู้บริโภค และก่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจได้จริง อย่างไรก็ตาม ดร. วัชรา บอกว่า การเป็นนักวิจัยที่เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ก็ยังตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้ของเธอ เพราะได้ค้นคว้าและทดลองเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เสมอ การทำงานที่นี่จึงถือเป็นความสุข เพราะถึงแม้จะเป็นการทำงานบนโจทย์ แต่ก็ไม่ถูกตีกรอบในการทำงาน วิธีการได้มาซึ่งโซลูชั่นไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ตายตัว

“สิ่งที่ชอบในการเป็นนักวิจัยที่นี่คือ เราสามารถคิดและทดลองอะไรต่างๆ ได้อย่างอิสระ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ และสอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจ”

นอกจากการไม่มีข้อจำกัดและการไม่ถูกตีกรอบในการทำงานแล้ว ความสุขอีกอย่างหนึ่ง คือการได้ใช้เวลาไปกับโปรเจกต์ที่เธอและทีมคิดขึ้นมา ดร. วัชราบอกว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจจะสำเร็จหรือล้มเหลวบ้าง แต่สิ่งที่ได้คือความสุขระหว่างทาง และเมื่อใดก็ตามที่โปรเจกต์ที่เธอและทีมคิดขึ้นมาสามารถขายได้ นั่นคือความสำเร็จที่สร้างความสุขให้เธอและทีมได้มากที่สุด

ดร.วัชราเล่าให้เราฟังว่า การทดลองและการลงมือทำคือหัวใจของกระบวนการพัฒนานวัตกรรม โดยกว่าจะได้นวัตกรรมขึ้นมาหนึ่งชิ้น เธอและทีมจะทดลองจนมั่นใจว่าเมื่อนำผลิตภัณฑ์ไป scale up และผลิตจริงแล้ว จะไม่เกิดความผิดพลาดขึ้น

ที่เอสซีจี แพคเกจจิ้ง วิธีการคิดค้นนวัตกรรมที่เน้นการทดลองถูกสะท้อนผ่านวัฒนธรรมการทำงานแบบมีการวางแผนและ Test and Learn กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น ต้องมีการ test run ทำการทดลองซ้ำ ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่า ความสำเร็จที่ได้มา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในการจะนำผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นออกสู่ลูกค้า จะต้องทดลองให้มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมแล้วจะไม่มีปัญหา หรือเกิดปัญหาน้อยที่สุด และที่สำคัญคือต้องจัดการกับปัญหานั้นได้

“การทดลองทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราส่งออกไป มาจากสิ่งที่เราคิดและไตร่ตรองแล้ว ไม่ได้เป็นความบังเอิญ เป็นการการันตีว่าผลิตภัณฑ์ของเรามาพร้อมกับคุณภาพจริง ๆ”

โดยความท้าทายของการทำงานนั้นคือ “ความกลัวความผิดพลาด” เนื่องจากการทดลองย่อมมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ดร. วัชรา เล่าว่า ความกลัวมักจะเกิดขึ้นก่อนการทดลอง โดยวิธีแก้ก็คือต้องคิดเผื่อความผิดพลาด ทีมจะต้องมาคิดก่อนการทดลองว่า ความผิดพลาดใดที่อาจจะเกิดขึ้นบ้าง จะต้องคิดล่วงหน้าเอาไว้ ว่าในกรณีที่เราไม่ได้ผลที่ดีตามคาดในครั้งแรก แผนต่อไปคืออะไร แผนสำรองเพื่อรองรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ไม่ใช่มีเพียง แผน 1 หรือแผน 2 แต่มีถึงแผน 3 เพื่อที่หากเกิดความผิดพลาดจะได้ทำต่อได้ทันที ไม่ให้ความกลัวเข้ามาแทรกระหว่างทาง

วัฒนธรรม Test and Learn ให้ประโยชน์กับทั้งธุรกิจและลูกค้า เพราะสามารถรับประกันความคุ้มค่า และการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ลดความเสียหายในสเกลใหญ่เมื่อนำไปผลิตจริงในเชิงอุตสาหกรรม เพราะความเสียหายในการทดสอบหลายครั้ง อาจไม่เท่าความเสียหาย 1 ครั้งในการผลิตจริง อีกทั้งเมื่อทดสอบผลิตภัณฑ์จนมั่นใจก่อนนำไปให้ลูกค้าดู จะทำให้เรารู้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในขณะที่ลูกค้าทดลองผลิต โดยเราสามารถแนะนำข้อควรระมัดระวัง หรือเงื่อนไข การควบคุมคุณภาพให้ลูกค้าได้ทราบและพร้อมใช้งานอย่างถูกต้อง สิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าที่มาจากเอสซีจี แพคเกจจิ้ง มากขึ้น

โลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ลักษณะธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย หน้าที่ในฐานะนักวิจัย ก็ต้องปรับตามไปด้วย แม้งานหลักจะยังเป็นเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลิตภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ แต่การทำงานเป็นนักวิจัยที่เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ในปัจจุบันนั้น ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้การทำงานกับผู้คนหลากหลาย ดังนั้นทักษะในการสื่อสารและการเข้าใจมนุษย์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักวิจัยยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญ

ดร. วัชราเล่าให้ฟังว่า ในปัจจุบันวิธีการทำงานไม่ได้เน้นไปที่เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (product development) หรือการลดต้นทุน (cost reduction) เพียงเท่านั้น การทำงานในปัจจุบันเริ่มเบนไปสู่การสร้างความแตกต่าง (differentiation) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดที่สุด การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ความรู้ความสามารถ (Competency) เดิม รวมกับประสบการณ์และการ Test and Learn กลายเป็นความสามารถในปัจจุบัน ที่ช่วยเราให้ทำงานได้รวดเร็วและตอบโจทย์ลูกค้า”

ดร. วัชราบอกว่า นักวิจัยยุคใหม่ ต้องเปิดกว้าง เรียนรู้อยู่เสมอ และต้องมีทักษะที่มากกว่าเรื่องเชิงเทคนิค โดยนักวิจัยที่สามารถเข้าใจธุรกิจ มีความเป็น Business Scientist จะได้เปรียบมากขึ้น เพราะการมีความเข้าใจด้านการตลาด ภาคธุรกิจของโลก เทรนด์โลก จะทำให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับความต้องการลูกค้า ผู้บริโภคได้ ทั้งยังช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น สามารถสื่อสารได้แม่นยำ เข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือกับลูกค้า

“เราต้องเข้าใจในภาษาของเขา เราต้องหามาให้ได้ว่า เราจะหาจุดร่วมพื้นฐานไปคุยกับเขาอย่างไร เพื่อที่เวลาคุยกับเขาแล้วมันจะไหลลื่น รู้สึกว่าถูกคอกัน มันจะทำให้คุยกับเขาง่ายและสนุก ทำงานด้วยกันง่ายขึ้น ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น”

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่ ?

Average rating 5 / 5. Vote count: 1

No votes so far! Be the first to rate this post.