“เอสซีจี” รีแบรนดิ้ง ‘SCG Eco Value’ เป็น ‘SCG Green Choice’

เข้าใจฉลากสิ่งแวดล้อม

จุดเริ่มต้นของฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-label) ย้อนกลับไปได้ไกลถึงกว่า 40 ปี จากกระแสความห่วงใยสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศยุโรป
ฉลากสิ่งแวดล้อมฉลากแรก Blue Angel เกิดขึ้นในปี 2521 เป็นฉลากของประเทศเยอรมนีที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยแนะนำสินค้า
ที่ส่งผลกระทบน้อยต่อสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภครู้จักกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องมือ
ส่งเสริมตลาดสินค้าสีเขียว หลังจากนั้นก็มีฉลากสิ่งแวดล้อมออกตามมาอีกมาก เช่น EU-Flower, Nordic White Swan ฯลฯ
ทุกวันนี้การออกฉลากสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีอยู่แต่ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป แต่ยังแพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจ
อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย แคนาดา และหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ฯลฯ
ฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของความ “สมัครใจ” และ “ใส่ใจ” ของผู้ประกอบการ เพราะไม่ได้มีกฎหมายบังคับ แต่สินค้าต้อง
ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณสมบัติว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ และอย่างไร
ปัจจุบันฉลากสิ่งแวดล้อมแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ Type I ฉลากสิ่งแวดล้อมที่ออกโดยหน่วยงานอิสระ มีระบบการประเมิน
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ISO 14024 ตัวอย่างในประเทศไทย คือฉลากเขียว
ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย Type II ประเมินและรับรองโดยเจ้าของสินค้าเอง (Self-Declared) ตามมาตรฐาน ISO 14021
ตัวอย่างในประเทศไทยคือ SCG eco value ของเอสซีจี และ Type III เป็นฉลากที่แสดงข้อมูลหรือตัวเลขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ประเมินจาก วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ISO 14025 ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ฉลากลดคาร์บอน ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฯลฯ
ประโยชน์แท้จริงของฉลากสิ่งแวดล้อมก็คือ การอนุรักษ์คุณค่าของสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไปยาวนาน โดยการให้ข้อมูลสื่อสาร
แก่ผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มาแทนสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง

ผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับฉลาก SCG Green Choice จะต้องเป็นสินค้า บริการ และโซลูชันที่มีคุณสมบัติความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ดีกว่าสินค้าทั่วไป และเข้าข่ายเกณฑ์ของ SCG Green Choice ที่มีอยู่ 15 ข้อ อย่างน้อย 1 ข้อ เช่น การใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากร
ธรรมชาติลดลง (Reduce Resource Use) การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) การใช้น้ำลดลง (Reduce Water
Consumption) มีความเป็นมิตรต่อสุขภาพอนามัย (Health or Hygiene) มีอายุการใช้งานนานขึ้น (Extended Life Product)
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Reduction) ความสามารถในการใช้ซ้ำหรือบรรจุใหม่ได้ (Reusable or
Refillable) ความสามารถในการสลายเป็นอินทรียวัตถุ (Compostable) ฯลฯ
SCG Green Choice มีกระบวนการรับรองและการสื่อสารที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีมาตรการควบคุมหรือเฝ้าระวัง
คุณสมบัติตามที่ขอรับรอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้ผู้บริโภค “เราตั้งใจให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลสินค้า คุณสมบัติ
และประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนของกลุ่มสินค้าที่มีฉลาก SCG Green Choice พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ผ่านสื่อทั้ง
ออฟไลน์หน้าร้าน จุดขายสินค้า และทางสื่อออนไลน์ทุกช่องทางของ เอสซีจี” นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซีเมนต์
และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวถึงการขับเคลื่อนฉลาก SCG Green Choice ให้เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ในใจของผู้บริโภค