MeZ Story

18 May 2021


จุดเริ่มต้นของทีม มารวมกันได้ยังไง ไอเดียมาจากไหน

เริ่มต้นจากที่ทีมงานทั้ง 3 คนเคยทำงานร่วมกัน ในแผนก Business Development ทั้งที่ SCG Chemical และ SCG Logistics และได้เคยทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร เลยได้รับรู้ปัญหาของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ คือ ถนัดในการเพาะปลูก แต่ไม่ถนัดการทำตลาด จึงพึ่งพาแต่ช่องทางการขายแบบเดิม ๆ ซึ่งไม่สามารถกำหนดราคาขายได้เอง ทำให้ถูกกดราคาเป็นประจำ

รวมถึงพวกเราเองเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความหลงใหลในผลไม้ไทยมากๆ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งหากินอร่อยๆให้ถูกใจได้ยากมาก

จึงเกิดเป็นไอเดีย ที่ว่า “เราอยากเห็นคนไทยได้ลิ้มรสผลไม้คุณภาพชั้นเลิศ สด ส่งตรงจากมือชาวสวนโดยตรง” พร้อมวิสัยทัศน์ที่ตั้งใจช่วยเหลือคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จึงได้สร้างอีกหนึ่งระบบการซื้อขายผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ทำให้เกษตรกรได้มีทางเลือกและมีโอกาสในการขายมากขึ้น สามารถกำหนดราคาผลไม้ได้เองตามคุณภาพที่ส่งมอบให้กับลูกค้า พร้อมทั้งลูกค้าก็สามารถเข้าถึงและได้รับผลไม้ที่ดีที่สุดจากเกษตรกรโดยตรง

Founders of MeZ

อุปสรรคที่เคยเจอมา อะไรเป็นความท้าทายที่สุดในการสร้างทีม

พวกเรามองว่าการที่ทุกคนในทีมมีจุดแข็ง มี Background มีความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างกันนั้นเป็นทั้งข้อดีและเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของทีม ซึ่งโจทย์หลักของพวกเราก็คือต้องหาวิธีการทำงานที่ทำให้ทุกคนยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้การหาคนเข้าร่วมทีมที่มีจุดร่วมในเป้าหมาย พร้อมที่จะกล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ โดยที่ไม่รู้ปลายทางจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เป็นอุปสรรคมาก เพราะทีมงานที่พวกเราหานั้นไม่ใช่แค่พนักงานที่ทำตามสิ่งที่ founder บอก แต่พวกเราหาคนที่มี passion ในธุรกิจ Farm to table เหมือนกันและพร้อมที่จะเรียนรู้และเห็น MeZ เติบโตเป็น unicorn ในอนาคตด้วยวิสัยทัศน์เดียวกัน

และความท้าทายสุดท้ายที่ทางทีมอยากแชร์ก็คือ การเป็น Leadership ที่ต้องนำทีมเพื่อผลักดันธุรกิจให้มีการเติบโต ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่พวกเราเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ต้องบริหารทีมงานให้มีวิสัยทัศน์ และเห็นร่วมในอุดมการณ์ที่จะพัฒนาให้ถึงเป้าหมายไปด้วยกัน โดยให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในเนื้องานและให้เห็นว่าทุกๆคนเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในธุรกิจที่มียอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เผื่อให้พวกเขามี motivation ในการทำงานในทุกๆวัน

หลักการในการสร้างธุรกิจ จุดยืนของทีม

หลักการสำคัญในการสร้างธุรกิจก็คือ เราต้องเข้าใจ Pain Points ของคนที่จะเข้ามาใช้ Platform ของเรา ทั้งในมุมเกษตรกรและในมุมผู้บริโภค และตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้นให้ง่ายและเร็วที่สุด โดยที่จะต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจในสินค้าและบริการ

นอกจากนี้เมื่อธุรกิจเราตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งในมุมเกษตรกรและในมุมผู้บริโภคแล้ว เราจะต้องไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันกับความต้องการของลูกค้าและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับไอเดียเดิมๆ เนื่องจากธุรกิจ market platform นั้นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วและคู่แข่งทางธุรกิจเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเราหยุดนิ่งเท่ากับว่าคนอื่นจะวิ่งแซงเราทันที

สิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดเวลาที่ทำมา ถ้าให้ reflect ตัวเอง สิ่งที่ได้พัฒนามีอะไรบ้าง

พวกเราทีม MeZ มองว่าในการทำธุรกิจ startup ขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลาคือ การกล้าลองผิดลองถูก (Test & Learn) เนื่องจากว่าในแต่ละวันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สมมติฐานในอดีตที่เคยพิสูจน์มาแล้วอาจไม่ได้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในวันนี้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการคิดไอเดียใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาและกล้าที่จะลงมือทำ

นอกจากนี้การเป็น Leadership ให้กับทีม จากที่ไม่เคยมีลูกน้อง แต่ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ co-founder ทุกคนได้พัฒนาตนเองและนำไปใช้งานได้จริง

สิ่งสุดท้ายที่ทีมคิดว่าได้พัฒนามากที่สุดคือ การมองภาพรวมของธุรกิจและทีมงาน ไม่ใช่เฉพาะมองแค่หน้างานของตนเอง โดยทุกๆคนในทีมไม่ว่าจะทำหน้างานไหนสุดท้ายจะต้องรู้ว่างานที่ทำนั้นมีส่วนช่วย contribute ให้เกิด revenue growth ให้กับ MeZ ได้อย่างไร เมื่อทุกคนเห็นคุณค่าในงานที่ตนเองทำแล้ว ก็จะส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจนั้นดีขึ้นและธุรกิจก็สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ถ้ากลับไปได้เสียใจไหมที่ได้ทำมา

เสียใจจจจจจจจว่า……ทำไมไม่เริ่มทำให้เร็วกว่านี้ 555 เพราะว่าโปรแกรมนี้ให้อะไรกับพวกเรามาก ทั้งในแง่วิธีการทำงานและ Mindset แบบ Startup แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งพวกเรามองเห็นโอกาสที่จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปพัฒนาองค์กร SCG ได้อีกมากมาย

ถ้าแก้ไขได้ อยากปรับปรุงอะไร

สิ่งที่อยากแก้ไขอย่างแรกเลยคือ การหาคนเก่งๆมาร่วมทีมให้เร็วขึ้นและจำนวนมากขึ้น เพราะอย่างปีแรกที่ทำ พวกเรา co-founder 3 คนทำเองกันเกือบทุกอย่างตั้งแต่งานปอกผลไม้ ถ่ายภาพโฆษณา ยันงานระดับผู้บริหาร เลยทำให้แบ่งเวลาในการ focus การ Drive growth ยาก

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเราอยากจะปรับปรุงก็คือ การต้องกล้าลงทุน (ใจปล้ำ) ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพื่อ Test & Learn ใน Model ใหม่ๆที่มีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุนและผลตอบแทน เพราะบ่อยครั้งที่พวกเรามาร่วมกันคิดว่าจะ growth hack ได้อย่างไรแล้วมี solution ที่อาจจะต้องเกิดการลงทุนเช่น การเป็น O2O (offline to online) ที่อาจจะต้องมีการสร้างหน้าร้านขึ้นมาและต้องมีการลงทุนในระดับนึง แต่พวกเราก็มีการ hold idea นี้ไว้ก่อนเนื่องจากมีการลงทุนสูง ซึ่งก็ทำให้เสียโอกาสที่จะทดสอบสมติฐานในการ drive growth ได้เหมือนกัน

อะไรเป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการทำงานที่ ZERO TO ONE และที่เก่า

สิ่งที่พวกเราคิดว่าแตกต่างระหว่างการทำงานจากที่เก่าและจากการทำ startup ก็คือ การทำงานแบบองค์รวม โดยเน้นเป้าหมายธุรกิจเป็นสำคัญ เนื่องจาก SCG เป็นองค์กรใหญ่ เมื่อก่อนพวกเราก็จะทำงานในหน่วยงานของตนเอง โดยไม่ว่าจะมองภาพรวมในระดับหน่วยงานนั้นๆมากแค่ไหนพวกเราก็เป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆใน SCG อยู่ดี แต่พอมาทำ startup ทำให้เราได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบริษัทเอง มีอำนาจการตัดสินใจในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับคนเข้ามาทำงาน หรือ การกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจต่างๆ (Key metric)

การทำงาน startup นั้น เราจะต้องทำงานเองทั้งหมดในทุกๆหน้างานไม่ว่าจะเป็น งานด้าน operation งาน digital marketing งานบัญชี งาน HR งาน Business Development และงานจิปาถะอื่นๆ โดยที่ไม่ว่าใครจะทำหน้างานไหนก็ตาม สุดท้ายพวกเราทุกคนก็ยังต้องเห็นภาพรวมเรื่องยอดขาย เพื่อมาวางกลยุทธ์ในการ drive growth ร่วมกัน และเห็น bottom line ร่วมกันในทุกๆเดือน ซึ่งจะเป็นภาพที่แตกต่างจากที่ทำงานจากที่เก่ามาก

หลังจากนี้เป้าหมายถัดไปคืออะไร

จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้ทำ Internal Startup พวกเรายังคงมี Passion กับรูปแบบการทำงานแบบที่ต้องกล้าตัดสินใจและต้องทำให้เร็ว จึงอยากจะนำสิ่งเหล่านี้ไปช่วยพัฒนาองค์กรให้มีธุรกิจใหม่ๆที่แตกต่างจากเดิม ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไวอย่างไม่หยุดยั้ง

Address

The Siam Cement Pcl. (Headquarter)

1 Siam Cement Road, Bangsue, Bangkok 10800 Thailand

Copyright © 2023 All rights reserved