3 ความท้าทาย ในการรีไซเคิลให้ประสบผลสำเร็จ

14 กรกฎาคม 2021 5407 views

ความตื่นตัวในการให้ลำดับความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Hierarchy) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ พร้อมกับการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด สืบเนื่องจากการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลกระทบจากของเสียที่เกิดขึ้นจากการบริโภคที่ทวีความรุนแรงขึ้น และปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการนำทรัพยากรเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบยังต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ในบทความนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จึงได้รวบรวมเหตุผลที่ทำให้การรีไซเคิลของเราที่ผ่านมายังอาจไม่สำเร็จในวงกว้าง

ความท้าทายข้อที่ 1 : โครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการไม่เพียงพอ

ตามที่ระบุไว้ในรายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2018 ว่า ในแต่ละปีมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ย 11.2 พันล้านตัน โดยอัตราการรีไซเคิลของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีแนวโน้มของอัตราการรีไซเคิลที่มากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีการกำหนดให้การบริหารจัดการขยะรีไซเคิลเป็นวาระแห่งชาติแล้ว แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการขยะรีไซเคิลแบบครบวงจร ยังต้องการความชัดเจนและความเป็นเอกภาพ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลให้ครอบคลุม การส่งเสริมการพัฒนาตลาดการประมูลขยะรีไซเคิล การเพิ่มประสิทธิภาพการซื้อขายในคลังสินค้ารีไซเคิล ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวางแผนบริหารจัดการองค์กรให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทาง Enterprise Resource Planning (ERP)

เพื่อเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ก้าวข้ามความท้าทายนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้ริเริ่ม บางซื่อโมเดล โครงการที่ถ่ายทอดรูปแบบการคัดแยกขยะแบบเอสซีจีให้แก่พนักงาน และ โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ที่เป็นการต่อยอดแนวคิดการบริหารจัดการขยะแบบเอสซีจีไปสู่ชุมชนในจังหวัดระยอง รวมถึงการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า’ ตัวช่วยอำนวยความสะดวกและเสริมประสิทธิภาพการทำงานของธนาคาร

ความท้าทายข้อที่ 2 : จูงใจด้วยผลตอบแทนหลายรูปแบบ 

แม้ว่าจะมีการออกข้อบังคับและการอบรมแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กร สังคมหรือชุมชนที่อยู่บนฐานคิดของการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด แต่ความท้าทายสำคัญนั้นเกิดขึ้นในระดับปัจเจก นั่นหมายถึง จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถรีไซเคิลได้โดยที่ไม่ต้องคิดว่าเป็นเพียงแค่การทำให้โลกนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ที่ประเทศอิตาลี มีแคมเปญแลกขวดกับค่าโดยสาร เพียงแค่นำขวดน้ำดื่มพลาสติก 30 ขวด หย่อนไปในตู้รีไซเคิล ก็จะได้นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินฟรีเป็นเวลา 100 นาที หรือที่เมืองสุราบายาของอินโดนีเซีย ที่การรีไซเคิลขวดน้ำดื่มจำนวน 5 ขวด มีค่าเท่ากับตั๋วรถประจำทางฟรี 2 ชั่วโมง ซึ่งเพิ่มปริมาณขวดพลาสติกรีไซเคิลได้สูงถึง 7.5 ตันต่อรถประจำทางหนึ่งคัน นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กในด้านต่าง ๆ ทั้งการเงิน การตลาด การบริหารจัดการ และการนำนวัตกรรมใหม่ที่ทันสมัยมาใช้งาน ตลอดจนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความกระชับและคล่องตัวมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

ความท้าทายข้อที่ 3 : การรีไซเคิลต้องเข้าใจง่ายและทำได้เลย

โดยปกติเรามักเข้าใจว่าการรีไซเคิลนั้นเป็นเรื่องที่ลงมือทำได้ทันที แต่ลองคิดถึงสถานการณ์ที่คุณต้องแยกเศษชานมไข่มุกออกจากแก้วพลาสติก ก่อนที่จะทิ้งลงถังขยะ อาจจะต้องใช้เวลาคิดก่อนสักเล็กน้อย และนั่นทำคนส่วนใหญ่ใช้ความไม่สะดวกสบายเป็นข้ออ้างที่จะไม่รักษ์โลก อีกเหตุผลเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการไม่รีไซเคิลก็คือ ทั้งข้อดีและข้อเสียของการกระทำนี้ไม่ได้ทำให้เกิดผลโดยทันที นั่นหมายถึง หลายคนไม่สามารถเชื่อมโยงและหาเหตุผลให้กับการคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้

ดังนั้นนักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ควรให้ชุดความรู้ที่ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน พร้อมกับการนำเสนอข้อโต้แย้งที่เชื่อมโยงเข้ากับตัวผู้รับสารได้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่จูงใจซึ่งประกอบไปด้วย ชุดข้อมูลเชิงสังคมที่เป็นรูปธรรม ความเชื่อและแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับ การใช้ความกลัวเป็นสิ่งดึงดูดใจ และข้อเสนอแนะที่นำไปปรับใช้ กระบวนการทางจิตวิทยานี้ถูกเรียกโดยรวมว่า “การสะกิดให้เกิดพฤติกรรม” หรือ “Nudge” ซีรี่ส์โฆษณารีไซเคิลซึ่งเป็นแคมเปญรณรงค์เพื่อสังคม (Public Service Announcement หรือ PSA) ของรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา คือตัวอย่างที่ดีของการนำชุดวิธีดังกล่าวไปใช้ให้เกิดผล ทำให้อัตราการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำในกลุ่มชุมชนที่รับชมโฆษณาชุดนี้เพิ่มสูงถึงร้อยละ 25

แม้ว่าการรีไซเคิลจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทุกคนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ แต่การได้เริ่มลงมือและมุ่งมั่นเพื่อหาโซลูชันให้กับปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จะเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะช่วยขับเคลื่อนการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าให้ขยายวงกว้างออกไปอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูลอ้างอิง

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3.9 / 5. Vote count: 11

No votes so far! Be the first to rate this post.