Circular Economy มองขยะไม่เป็นขยะ

21 มิถุนายน 2019 5371 views

       เมื่อคิดว่า ของที่สิ้นสุดอายุการใช้งาน ใช้งานต่อไม่ได้แล้ว คือขยะ เราก็จะหาวิธีการกำจัด แต่ถ้าคิดว่า ของที่สิ้นสุดอายุการใช้งาน ใช้งานต่อไม่ได้แล้ว คือทรัพยากร เราก็จะหาวิธีนำไปใช้ประโยชน์

       กรมควบคุมมลพิษ สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 ว่ามี ขยะมูลฝอย เกิดขึ้นประมาณ 27.82 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.64) เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ประชากรและประชากรแฝงแรงงานเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และมีขยะที่ถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน (ร้อยละ 34) ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน (ร้อยละ 39) กำจัดไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน (ร้อยละ 27)

“ขยะไม่ใช่ขยะจนกระทั่งเราเรียกมันว่าขยะ” 

(ข้อความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ Waste isn’t waste until we waste it – @iamwill)

       นั่นหมายความว่ามีขยะที่ไม่ถูกมองว่าเป็นขยะร้อยละ 34 และจะดีกว่านี้ถ้าสิ่งที่ถูกเรียกว่าขยะทั้งหมดสามารถใช้เป็นทรัพยากรในการผลิต หรือนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ตามแนวคิดของ Circular Economy ซึ่งแปลว่าเราจะมีทรัพยากรให้ใช้ที่คิดเป็นน้ำหนักมากถึง 27.82 ล้านตันต่อปี

“ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์แค่ 0.5 ล้านตัน” 

(กรมควบคุมมลพิษ สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ประจำปี 2561)

และต่อไปนี้คือตัวอย่างของการมองขยะแบบไม่เป็นขยะ และคุณค่าที่เกิดขึ้นมากกว่าสิ่งของ

       กระป๋อง (โลหะ) หลังจากใช้แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบในการทำขาเทียม กระป๋องใหม่ คลิปหนีบกระดาษ กรรไกร วงกบประตู และข่าวดีอย่างหนึ่งของกระป๋องอลูมิเนียมในประเทศไทยคือ 99% ถูกนำกลับมารีไซเคิล และกระป๋องที่นำมารีไซเคิลทุกๆ 1 ตัน จะลดการใช้ทรัพยากร แร่เหล็ก 1.5 ตัน ถ่านหิน 0.5 ตัน ที่สำคัญการรีไซเคิลยังช่วยลดพื้นที่การฝังกลบได้ถึง 500 ตันต่อปี

       กล่องเครื่องดื่ม หลังจากใช้แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบในการทำ หลังคากรีนบอร์ด กล่องกระดาษ ถุงกระดาษ กล่องเครื่องดื่มที่นำมารีไซเคิลทุกๆ 1 ตัน ลดการตัดต้นไม้ 17 ล้านต้น ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 1000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง และลดการใช้นำมันเตา 300 ลิตร

       ขวดพลาสติก หลังจากใช้แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า งานก่อสร้าง สิ่งทอ พลาสติกที่นำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก จะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้ 66% เมื่อเทียบกับการผลิตขึ้นใหม่ และการผลิตพลาสติก 1 กิโลกรัม จากการนำพลาสติกมารีไซเคิล  ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ 2.5 กิโลกรัม

       ขวดแก้ว หลังจากใช้แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบในการทำขวดใหม่ เพราะแก้วสามารถหลอมแล้วนำกลับมาใช้ได้ไม่รู้จบ การรีไซเคิลแก้ว ขวดแก้ว ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ 1.3 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ 315 กิโลกรัม

       กระดาษ หลังจากใช้แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบในการทำ กระดาษคราฟท์ กระดาษลูกฟูก ทิชชู่ ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน คุณค่าที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟท์ ช่วยลดปริมาณกระดาษขยะได้มากกว่า 150,000 ตันต่อปี ลดการตัดต้นไม้ปีละประมาณ 2 ล้านต้น

       สิ่งที่ได้จากการไม่มองขยะว่าเป็นขยะ คือการหมุนเวียนสิ่งนั้นกลับมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ประโยชน์ได้ ให้ยังคงประโยชน์เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับทัศนคติของตัวเอง เลิกมองสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วเป็นขยะแต่มองเป็นทรัพยากร และหากตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนทรัพยากรนั้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ ก็ต้องรวบรวม คัดแยกและส่งต่อไปยังภาคส่วนอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และเมื่อทำเช่นนั้นแล้วก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า สัดส่วนของขยะที่ไม่ถูกมองว่าเป็นขยะ (ถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 เป็นเท่าไร เพื่อการร่วมมือการพาประเทศไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะความเข้าใจของเราจะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้

อ้างอิง :

http://www.tipmse.or.th/2012/th/activities/public_dt.asp?id=94

http://www.pcd.go.th/Public/News/GetNewsThai.cfm?task=lt2019&id=18551

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3 / 5. Vote count: 2

No votes so far! Be the first to rate this post.