ตัวอย่างธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง

8 มิถุนายน 2019 18415 views

       จากบทความเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน – โอกาสใหม่ของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (คลิกอ่าน) เราได้แนะนำที่มา เหตุผล ความหมาย และวิธีการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) กันไปแล้ว ครั้งนี้จะขอพูดถึงธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังขับเคลื่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ หรือแฟชั่น ซึ่งนอกจากเศรษฐกิจหมุนเวียนจะกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจดังกล่าวแล้วก็ถือเป็นโอกาสของธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ธุรกิจผลิตวัตถุดิบจากพืชที่ย่อยสลายได้ดีกว่าเดิม ธุรกิจรีไซเคิลวัสดุ ธุรกิจรับคัดแยกวัสดุและขยะ ไปจนถึงธุรกิจไอทีที่บริหารข้อมูลวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์หรือคำนวณการใช้วัตถุดิบและวัสดุต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

        จากบทความที่แล้ว เราได้ทราบว่าการสร้างคุณค่าผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียนมี 4 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ 1) การใช้วัสดุภายในวงจร (inner circle) คือ การตกแต่งหรือซ่อมแซมผลิตภัณฑ์หรือวัสดุให้ใช้งานยาวนานขึ้น 2) การยืดอายุวงจร (circling longer) คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำหรือยืดอายุการใช้งานออกไป 3) การใช้วัสดุในหน้าที่ใหม่ในลำดับต่อ ๆ ไป (cascade) คือ หาวิธีใช้ซ้ำที่หลากหลายในห่วงโซ่อุปทาน หรือใช้ซ้ำข้ามอุตสาหกรรม และ 4) ทำปัจจัยนำเข้าให้บริสุทธิ์ (pure inputs) คือ การปรุงแต่งวัตถุดิบจากธรรมชาติที่จะนำมาใช้ให้น้อยที่สุดเพื่อการนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจที่นำเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาใช้มักใช้ 4 วิธีนี้ประกอบกันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของทรัพยากรทั้งด้านวัตถุดิบและพลังงาน รวมทั้งลดการสร้างผลกระทบเชิงลบสู่ภายนอก

        Renault ผู้ผลิตรถยนต์จากฝรั่งเศสใช้หลักการข้างต้นเปลี่ยนแปลงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มจากการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นและใช้พลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบ เช่น รถยนต์รุ่น Escape มีส่วนประกอบเป็นพลาสติกรีไซเคิลถึงหนึ่งในห้า รวมทั้งหาวิธีนำวัสดุหลักอย่างทองแดง อะลูมิเนียมและผ้ามาใช้ซ้ำในการผลิตรถยนต์รุ่นต่อ ๆ ไป Renault ได้ตั้งบริษัทย่อยขึ้นเพื่อควบคุมการหมุนเวียนของวัสดุและจัดการขยะ โดยทำงานร่วมกับบริษัทผู้ทำลายรถยนต์เก่าในฝรั่งเศสกว่า 300 รายเพื่อนำวัสดุที่ยังมีประโยชน์จากรถยนต์ที่ถูกทิ้งหลายแสนคันต่อปีไปใช้ต่อ อะไหล่ของรถยนต์มือสองเหล่านี้ เช่น กระจกหน้า-ข้าง ชิ้นส่วนตัวถัง รวมทั้งเครื่องยนต์ เกียร์และระบบหัวฉีดจะถูกนำมาปรับแต่งใหม่ให้กลับมาใช้งานได้อีก

        ในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกและขยะจำนวนมหาศาลถือเป็นหัวใจในการเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน P&G ได้ออกบรรจุภัณฑ์แชมพู Head & Shoulders ที่ผลิตจากขยะพลาสติกจากชายหาดที่เก็บรวบรวมมาโดยอาสาสมัคร ก่อนส่งต่อให้โรงงานคัดแยก โรงงานทำความสะอาด และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ก่อนส่งให้ P&G ผลิตเป็นขวดแชมพูต่อไปโดยใช้เป็นส่วนผสมของขวดได้ 25% ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลาสติกประเภทนี้กับแชมพูไม่ต่ำกว่า 500 ล้านขวดต่อปี ซึ่งหมายถึงชีวิตใหม่ของพลาสติกจากชายหาดจำนวน 2,600 ตัน

        ในขณะเดียวกัน Unilever ได้ประกาศในปี 2017 ว่าบริษัทจะใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ให้ได้ทั้งหมดในปี 2025 โดยเริ่มจากการใช้วัตถุดิบให้น้อยลง เช่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แยกส่วนได้ (modular) หาวิธีเติมซ้ำและใช้เทคโนโลยีผสมผสานชั้นพอลิเอทิลีนแบบบางเข้ากับพอลิเมอร์เพื่อใช้กับถุงหรือซอง ทำให้ลดการใช้พลาสติกได้ 1,700 ตันในปี 2017 Unilever ใช้ขวดจากพลาสติกรีไซเคิลกับสินค้าหลายประเภท เช่น น้ำสลัด น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาทำความสะอาด โดยใช้พอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) และ PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วรวมกว่า 4,850 ตันในปีที่ผ่านมา รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้หรือย่อยสลายได้ เช่น ใช้ HDPE 100% กับขวดผงซักฟอกทุกแบรนด์ในตลาดชิลี และใช้สารจากพืชอย่างแป้งข้าวโพดผลิตซองชาที่ย่อยสลายได้ 100% ในสหราชอาณาจักร แคนาดาและอินโดนีเซีย

        ในอังกฤษบริษัทย่อยของ Coca Cola ที่ทำหน้าที่รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะกำลังรีไซเคิลขวดโค้กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในงานกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน บริษัทดังกล่าวรีไซเคิลขวดไปกว่า 15 ล้านขวดและส่งขวดเหล่านั้นคืนสู่ชั้นวางได้ภายในเวลาเพียง 6 สัปดาห์

        บริษัทสิ่งทออย่าง Levi’s ก็พร่ำบอกให้ผู้บริโภคใช้สินค้าให้ยาวนานที่สุด แต่หากไม่ต้องการใช้เสื้อผ้าชิ้นใด (ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใดก็ตาม)แล้ว ก็สามารถนำมาหย่อนใส่กล่องที่ร้านเพื่อนำไปแปรรูปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ หรือรีไซเคิลโดยพันธมิตรของบริษัทเพื่อไปเป็นฉนวนในงานก่อสร้างตึก หรือวัสดุกันกระแทกได้ ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

        ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ บริษัทอย่าง Philips จากเนเธอร์แลนด์และ Ricoh จากญี่ปุ่นเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการขายสินค้าเป็นชิ้น ๆ (ซึ่งท้ายสุดเมื่อพังแล้วก็จะกลายเป็นขยะ) มาเป็นการบริการเพื่อส่งมอบคุณค่าและสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวโดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินค้า ด้วยวิธีนี้บริษัทจะตัดสินใจได้เองว่าเมื่อไรจะต้องอัพเกรดส่วนประกอบ ใส่เทคโนโลยีใหม่ นำมาแก้ไข ใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล

        Philips นำโมเดลดังกล่าวมาใช้กับระบบแสงสว่างตามอาคารไปจนถึงเครื่องมือแพทย์ที่นำมาปรับปรุงให้ได้คุณภาพสูงขึ้นพร้อมการรับประกันเต็มรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เครื่อง MRI ที่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยให้ Philips รีไซเคิลวัสดุที่เคยเป็นขยะได้ 81% และกลายเป็นส่วนสำคัญของพอร์ตโฟลิโอ “สินค้าผลิตภัณฑ์สีเขียว” (Green Product) ของบริษัทที่กำลังสร้างรายได้ถึง 2 ใน 3 ในปัจจุบัน

        ในขณะที่ Ricoh มีโมเดลการให้เช่าอุปกรณ์สำนักงาน เช่น เครื่องพิมพ์ และเครื่องถ่ายเอกสารระยะยาวมาตั้งแต่ยุค 90 การที่บริษัทเป็นเจ้าของสินค้าเองถึง 60% ทำให้ Ricoh ควบคุมวงจรผลิตภัณฑ์ได้เกินครึ่ง นอกจากโมเดลการเช่า Ricoh มีแผนลดการใช้วัตถุดิบตั้งต้นบริสุทธิ์โดยหันมาใช้พลาสติกที่มีสารตั้งต้นจากพืชเพิ่มขึ้นในการผลิตเครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสาร ออกแบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีขนาดเล็กลง เบาลง  มีส่วนประกอบน้อยลง และใช้โทนเนอร์ที่ผลิตจากชีวมวล (Biomass)

        ในอุตสาหกรรมหนัก เศรษฐกิจหมุนเวียนก็เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้วเช่นกัน ArcelorMittal บริษัทเหล็กและเหมืองแร่จากลักเซมเบิร์กรีไซเคิลเหล็กประมาณ 25 ล้านตันต่อปี จากนโยบายมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทได้เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เหลือทิ้งให้กลายเป็นเอทานอลซึ่งนำไปเป็นเชื้อเพลิงยานยนต์หรือผลิตพลาสติกต่อได้ และคาดว่ากระบวนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซต์นี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทได้ 300 ล้านยูโรต่อปีภายในปี 2025 นอกจากนี้เศษแร่จากการผลิตเหล็กได้ถูกนำไปผลิตเป็นซีเมนต์ โดยในกระบวนการผลิตสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้เกือบหนึ่งล้านตันต่อปี ผลิตภัณฑ์นี้ขายในฝรั่งเศสและบราซิล และสร้างรายได้เพิ่มให้บริษัทเช่นกัน

        แม้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและขยับธุรกิจหลากประเภทให้ห่างออกจากวงจรถลุง ผลิต และทิ้ง (take, make and dispose) แต่การเริ่มต้นเศรษฐกิจหมุนเวียนล้วนเต็มไปด้วยความท้าทาย สิ่งที่ธุรกิจควรพิจารณา (โดยย่อ) ก่อนที่จะเริ่มนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเริ่มใช้มีดังนี้

การออกแบบสินค้าและโมเดลทางธุรกิจให้เข้ากับเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นเป็นสิ่งสำคัญ

อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นเพื่อให้สามารถแยกชิ้นส่วนแล้วนำส่วนประกอบต่าง ๆ ไปสร้างคุณค่าใหม่ได้ทั้งหมด เช่น โทรศัพท์มือถือ ขวดเครื่องสำอาง หรือกระทั่งกล่องนม ทำให้วัสดุที่ยังมีประโยชน์กลายเป็นขยะไป หรือมีโมเดลทางธุรกิจที่คิด ‘ไม่สุดทาง’ เช่น ไม่มีวิธีรับสินค้าที่เลิกใช้งานแล้วกลับสู่วงจร รวมทั้งการเลือกใช้สารที่มีโครงสร้างซับซ้อนหรือผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาเป็นส่วนประกอบของวัสดุ ทำให้นำวัสดุไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ เช่น พอลิเมอร์บางประเภท

ธุรกิจจำเป็นที่ต้องรู้จักทุกจุดของห่วงโซ่อุปทานของตนเอง

ธุรกิจต้อง ‘เห็นภาพ’ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และเข้าใจผลกระทบในแต่ละจุด เพื่อปรับเข้าสู่วงจรปิด (closed loop) ยิ่งอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทานในหลายประเทศหรือทวีป ต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์หลายชั้น (tier) รวมถึงใช้ชิ้นส่วนจำนวนมากมาประกอบเป็นสินค้า เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การทำความเข้าใจในรายละเอียดเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือหัวใจของการก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้วยการทำงานที่เน้นระบบ ‘วงจร’ แม้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเน้นให้ธุรกิจเข้าหาระบบปิดมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงในแต่ละจุดล้วนเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกกฎและผู้สนับสนุนนโยบายอย่างภาครัฐ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่พัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย ภาค NGO ที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมหรือกับผู้บริโภค รวมทั้งภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจจะถนัดทักษะที่ธุรกิจของเรายังขาด การทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้จะช่วยทำให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการและความท้าทายของการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความร่วมมือและเสริมองค์ความรู้รวมถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นได้

แม้จะต้องอาศัยการคิดใหม่ ทำใหม่ในหลาย ๆ ด้านแต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดของโลก ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น วิกฤตสิ่งแวดล้อม ข้อบังคับทางกฎหมายใหม่ ๆ และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เพิ่มขึ้นจะค่อย ๆ บีบให้ธุรกิจหันหาเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น และค่อย ๆ ส่งผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจที่คิดและทำสินค้าเพื่อการใช้ครั้งเดียว

นอกเหนือจากการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว หลายธุรกิจเริ่มพิสูจน์ให้เห็น ‘โอกาส’ และการสร้างความสามารถในการแข่งขันผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วดังตัวอย่างข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ก่อนคู่แข่งในธุรกิจรถยนต์ การลดต้นทุนของวัตถุดิบในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ การสร้างรายได้เพิ่มในอุตสาหกรรมเหล็ก และการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าจากการเปลี่ยนขายผลิตภัณฑ์ให้เป็น ‘บริการ’ ในธุรกิจเครื่องมือแพทย์และเครื่องใช้สำนักงาน จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่เพียงสร้างคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม และเร่งธุรกิจให้เข้าหาความยั่งยืน แต่ยังสร้างคุณค่าทางการเงินและการเติบโตของธุรกิจในอนาคตได้เช่นกัน

http://www.allaroundplastics.com/en/article/sustainability-en/2090

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.3 / 5. Vote count: 14

No votes so far! Be the first to rate this post.