เศรษฐกิจหมุนเวียน – โอกาสใหม่ของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

8 มิถุนายน 2019 25492 views

        หากเราลองสังเกตการทำงานของระบบสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ จะพบว่าธรรมชาติทำงานโดยไม่เคยทิ้ง ‘ขยะ’ หรือของเสียสู่โลก ห่วงโซ่อาหารที่เราเคยเรียนตอนเด็ก ๆ แสดงเป็นวงจรให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตหนึ่งมีประโยชน์ต่ออีกสิ่งเสมอ เช่น กวางกินพืช เสือกินกวางต่อ และเมื่อเสือตายลง ก็มีหนอน จุลินทรีย์และผู้ย่อยสลายอื่น ๆ ทำหน้าที่ย่อยเสือ ซากพืชและสัตว์ต่าง ๆ กลายเป็นสารอาหารของพืช ใช้ประโยชน์ได้ต่อเป็นวงจรหมุนเวียนไป ดังนั้นทุกอย่างในธรรมชาติจึงนำไปใช้งานอย่างต่อเนื่องและหมุนเวียนในวงจรนี้ได้หมด ไม่มีส่วนใดต้องถูกทิ้งกลายเป็นขยะเมื่อเวลาผ่านไป

        หากมองกลับมาที่โลกของธุรกิจ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน เศรษฐกิจของโลกเติบโตเท่าทวีคูณ การบริโภคเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราทำงานบนระบบที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจเส้นตรง’ (Linear Economy) คือ การถลุง ผลิตและทิ้ง

        การ ‘ถลุง’ (take) หมายถึง การดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้จำนวนมหาศาลในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการ ‘ผลิต’ (make) ขายให้ลูกค้านำไปใช้งาน เมื่อผลิตภัณฑ์หมดประโยชน์แล้วก็ ‘ทิ้ง’ (dispose) กลายเป็นขยะ สามขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ของที่ ‘ทิ้ง’ ไป มีส่วนน้อยมากที่จะกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นแทนที่การ ‘ถลุง’ วัสดุเหล่านี้เดินทางเป็นเส้นตรง ด้วยความที่เราทำงานได้ไม่เก่งเท่าธรรมชาติ เราจึงได้ขยะจำนวนมหาศาลที่ปลายทาง ในขณะที่ต้องดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างไม่สิ้นสุด เพื่อผลิตของที่ส่วนใหญ่ใช้เพียงครั้งเดียว

        เศรษฐกิจเส้นตรงนี้จะไม่ใช่ปัญหา หากเรามีทรัพยากรธรรมชาติให้ใช้โดยไม่มีวันหมด หรือสร้างขยะได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ การ ‘ถลุง’ จากอดีตสู่ปัจจุบันทำให้เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณเกินความสามารถที่โลกจะผลิตมาทดแทนได้ ด้วยจำนวนประชากรที่จะแตะ 10 พันล้านคนภายใน ค.ศ. 2030 ทำให้เราต้องใช้โลกถึงสองใบหากจะตอบสนองความต้องการได้พอ ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เริ่มส่งผลต่อภาคธุรกิจผ่านต้นทุนของวัตถุดิบที่สูงขึ้นและอุปทานที่ไม่มั่นคง ในช่วง ค.ศ. 2002 – 2010 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกมีราคาพุ่งสูงขึ้นเกือบ 150% ส่วนราคาโลหะและสินค้าเกษตรก็ได้พุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 20 ในเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

        เมื่อถึงปลายทางของผลิตภัณฑ์ การ ‘ทิ้ง’ ก่อให้เกิดปัญหาขยะ หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ในแต่ละปีวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากอย่างพลาสติกจำนวน 311 ล้านตันถูกผลิตขึ้นมา แต่มีเพียง 5% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล การใช้พลาสติกโดยประเดี๋ยวประด๋าวแล้วทิ้ง เช่น บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ กำลังทำให้โลกต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 80-120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในแต่ละปีพลาสติกจำนวน 5-13 ล้านตันไหลลงทะเลและก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศ การจัดการขยะที่ด้อยประสิทธิภาพนี้ยังส่งก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และบังคับให้เราต้องหาที่ดินเพื่อใช้ฝังกลบขยะเพิ่มเรื่อย ๆ

        จะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงเต็มไปด้วยข้อจำกัดและเดินได้ลำบากในระยะยาว ไม่เหมือนระบบหมุนเวียนในธรรมชาติที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างแนวคิด ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ หรือ Circular Economy แนวคิดที่กำลังถูกจับตาว่าจะเป็นตัว ‘ปลดล็อค’ ปัญหามากมายที่มากับระบบเศรษฐกิจแบบเดิม

        เศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึง ระบบอุตสาหกรรมที่วางแผนและออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค เศรษฐกิจหมุนเวียนนำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอก (externalities) เชิงลบ เราจึงมักเห็นเศรษฐกิจหมุนเวียนใช้พลังงานทดแทน หรือขจัดการใช้เคมีภัณฑ์ที่เป็นพิษซึ่งเป็นอุปสรรคของการนำวัสดุต่าง ๆ มาใช้อีกครั้งหากจะส่งสสารนั้นกลับสู่ธรรมชาติ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คือ การออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ต้อง ‘คิด’ ไม่เหมือนเดิมเพื่อสร้างนวัตกรรม

        ผลิตภัณฑ์ที่เราพอคุ้นเคยที่เข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนมาสักพักแล้ว ได้แก่ กระดาษ  พลาสติก PET แก้ว และเหล็ก ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของวัสดุในโลกอุตสาหกรรม และยังไม่สามารถ ‘หมุนเวียน’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบให้คืนสภาพหรือคืนชีวิตใหม่ได้ง่าย เช่น กล่องนมที่มีชั้นเลเยอร์ที่แยกออกจากกันยาก หรือชิ้นส่วนของอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ต่าง ๆ ที่แกะออกจากกันเพื่อนำแร่ธาตุหรือวัสดุที่มีประโยชน์กลับมาใช้ใหม่ได้ยากเมื่อหมดอายุการใช้งาน สารเคมีและสารปรุงแต่งที่อยู่ในวัสดุต่าง ๆ ก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการแปรสภาพวัสดุจำนวนมากให้กลับมาใช้งานได้อีก

       เศรษฐกิจหมุนเวียนแบ่งวัสดุในระบบออกเป็น 2 แบบ คือ 1) กลุ่มวัสดุชีวภาพ (biological materials) หรือวัสดุที่มาจากสารธรรมชาติ และผ่านกระบวนการที่แทบไม่ปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ย่อยสลายคืนสู่สิ่งแวดล้อมต่อไปได้ 2) กลุ่มวัสดุทางเทคนิค (technical materials) ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่อาศัยเทคนิคต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนจากโลหะและพลาสติก ที่จะส่งผลเสียหากหลุดสู่ธรรมชาติ จึงต้องมีการออกแบบใหม่ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในระบบปิดโดยไม่ส่งของเสียออกนอกระบบผลิต

       การหมุนเวียนของกลุ่มวัสดุชีวภาพมีตั้งแต่กระบวนการง่าย ๆ เช่น การเอาเศษอาหารเหลือทิ้งจากชีวิตประจำวันไปทำปุ๋ย เพื่อคืนเป็นสารอาหารสู่ดิน หรือการนำไปผลิตไบโอแก๊ส การใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ ไปจนถึงการนำวัสดุธรรมชาติมาผ่านกระบวนการเพื่อใช้ใหม่ในลำดับต่อ ๆ ไป เช่น ใยฝ้ายจากต้นฝ้ายใช้ในการผลิตเสื้อผ้า เมื่อไม่ใช้แล้วเสื้อผ้าแล้วก็นำมาใช้ซ้ำเป็นเสื้อผ้ามือสอง ก่อนจะส่งข้ามอุตสาหกรรมไปเป็นเป็นเส้นใยใช้บุนวมเฟอร์นิเจอร์ และใช้ซ้ำเป็นฉนวนในการก่อสร้าง ก่อนนำผ่านกระบวนการที่เหมาะสมในการส่งฝ้ายคืนสู่สิ่งแวดล้อม

       ในฝั่งกลุ่มวัสดุทางเทคนิค เศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มเปลี่ยนบทบาทของ ‘ผู้บริโภค’ ให้เป็น ‘ผู้ใช้’ การส่งมอบคุณค่าระหว่างธุรกิจและลูกค้าจะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์มากกว่า ‘การเป็นเจ้าของ’ สิ่งที่จะกลายเป็นขยะในที่สุด โมเดลการทางธุรกิจอาจเปลี่ยนเป็นการเช่าระยะสั้น ระยะยาว หรือการแบ่งปัน (sharing) เช่น ฟิลิปส์ เริ่มเปลี่ยนการขายหลอดไฟ ไปเป็นการให้บริการระบบแสงสว่างที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหลอดไฟ แต่ยังได้คุณค่าเดิม คือ แสงสว่าง ด้วยการเปลี่ยนจากการขายผลิตภัณฑ์ไปเป็นบริการ ฟิลิปส์จึงควบคุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้ เมื่อหลอดไฟหมดอายุ บริษัทจะเก็บหลอดกลับมาแยกวัสดุออกจากกัน และนำไปผ่านกระบวนการเพื่อใช้ผลิตสินค้าต่อไป  ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ก็เริ่มสร้างแรงจูงใจหรือข้อตกลงให้ลูกค้านำสินค้าที่ไม่ใช้แล้วกลับมาส่งคืน เพื่อที่บริษัทจะนำวัสดุเหล่านั้นเข้า ‘ระบบปิด’ หมุนเวียนไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์สำนักงาน

        เศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยแรงผลักจากทั้งความท้าทายด้านทรัพยากรและต้นทุนอย่างที่ได้กล่าวข้างต้น รวมทั้งนโยบายจากรัฐในหลายภูมิภาค ตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ด้วยการใช้กฎหมายบังคับการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ ทำให้โลหะถึง 98% ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ได้รับการรีไซเคิล สหภาพยุโรปเองมีแผนเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ ค.ศ. 2015 และเพิ่งประกาศนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนเฉพาะด้านพลาสติกรวมถึงเป้าหมายการมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ซ้ำได้หรือรีไซเคิลให้ได้ทั้งหมดในปี 2030

        ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจหมุนเวียนก็เป็นความหวังในการสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเกิดโมเดลทางธุรกิจและนวัตกรรม รวมไปถึงการจ้างแรงงานเพิ่มในอนาคต บริษัทหลายแห่งทั้งในธุรกิจรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และพลังงานทางเลือกได้เริ่มออกตัวแล้วกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และเริ่มเห็นผลของการลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพเชิงนิเวศที่สูงขึ้น

        ในครั้งหน้าเราจะมาดูกันต่อถึงตัวอย่างของธุรกิจที่ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน และความท้าทายในการขยับจากเศรษฐกิจเส้นตรงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

        การสร้างคุณค่าผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียนมี 4 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

        1) การใช้วัสดุภายในวงจร (inner circle) คือ อาจตกแต่งหรือซ่อมแซมผลิตภัณฑ์หรือวัสดุให้ใช้งานยาวนานขึ้น เช่น การซ่อมรถยนต์ เมื่อซ่อมไม่ได้แล้วก็นำชิ้นส่วนไปแต่งหรือประกอบใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อ เป็นการประหยัดวัสดุ พลังงานและแรงงาน

        2) การยืดอายุวงจร (circling longer) คือ ยืดอายุของการใช้ซ้ำและช่วงเวลาของแต่ละรอบ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำหรือยืดอายุการใช้ผลิตภัณฑ์ออกไป เช่น พลาสติกใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล

        3)  การใช้ใหม่ในลำดับต่อ ๆ ไป (cascade) คือ หาวิธีใช้ซ้ำที่หลากหลายในห่วงโซ่อุปทาน หรือใช้ซ้ำข้ามอุตสาหกรรม เช่น ฝ้าย

        4) ทำปัจจัยนำเข้าให้บริสุทธิ์ (pure inputs) คือ การปรุงแต่งวัตถุดิบจากธรรมชาติที่จะนำมาให้น้อยที่สุดเพื่อการนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงคุณภาพและยืดอายุให้อยู่ในวงจรนานขึ้น

ที่มา : http://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/1898

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.7 / 5. Vote count: 35

No votes so far! Be the first to rate this post.