Circular Economy แนวทางนี้ดีต่อโลก

21 มิถุนายน 2019 7739 views

       ถ้าคุณเป็นคนที่ดื่มกาแฟ น้ำอัดลม ชานมไข่มุก ในชีวิตประจำวัน ใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ทำงานออฟฟิศที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร ตามเทรนด์แฟชั่นทุกซีซั่นและไม่พลาดสินค้าเซลล์ คุณต้องอ่านบทความนี้

       เพราะสิ่งต่างๆ ที่ว่ามามีต้นทางและที่มาจากภาคอุตสาหกรรม โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติมาผ่านกระบวนการผลิต และเมื่อเวลาผ่านไปหรือหมดอายุ ผลผลิตเหล่านั้นก็กลายเป็นขยะ เราเรียกวิธีการแบบนี้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของโลกมาแล้วกว่า 150 ปี แต่ดูเหมือนว่ากำลังจะถึงทางตัน

       แต่เมื่อโลกและมนุษย์ยังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง มาเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงต้องเกิดขึ้น เพื่อเป็นทางออกสำหรับปัญหาต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ อย่างเช่นปัญหา “ขยะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

“Circular Economy จะทำให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนทางต้นทุน ทั้งในด้านสังคมเศรษฐกิจและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม”

Anders Wijkman นักคิด นักเขียน และนักการเมืองชาวสวีเดน ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

Circular Economy ไม่ใช่แค่รีไซเคิล

       Circular Economy เป็นแนวทางที่จะเปลี่ยนกระบวนการของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต เพราะผู้ผลิตจะต้องสร้างนวัตกรรม ออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

“เราไม่มีแผนสำรองเพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง!”

Ban Ki-moon อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

หัวใจสำคัญของ Circular Economy

       ระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่สามารถหมุนเวียนวัสดุต่างๆ จากผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ให้คุ้มค่า ไม่สร้างของเหลือหรือขยะ โดยกลไกที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ พลังงาน ด้วยการหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังต้องลดการสร้างผลกระทบภายนอก (Externalities) เชิงลบ ด้วยการหันมาใช้พลังงานทดแทน รวมถึงลดการใช้เคมีซึ่งเป็นอุปสรรคของการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้อีกครั้ง

“โลกที่ยั่งยืนนั้นมีอยู่แล้ว…แค่เรามองเข้าไปในธรรมชาติ”

– Janine Benyus ร่วมก่อตั้งสถาบันชีวลอกเลียน Biomimicry Institute ศาสตร์ที่ศึกษารูปแบบและกระบวนการทำงานของธรรมชาติที่น่าทึ่งที่สุดเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์

ประเทศไทยกับเศรษฐกิจหมุนเวียน 

       ปัจจุบันในประเทศไทย เราเริ่มเห็นคนที่เลือกใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำ อย่างเช่น แก้วน้ำ หลอด จาน ช้อน ส้อม หรือถุงผ้ามากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่คนตัวเล็กๆ อย่างผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน ทางด้านร้านค้าและธุรกิจก็มีรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ บางรายเริ่มต้นธุรกิจจากคำว่า Circular Economy เช่น Moreloop แพลต์ฟอร์มขายผ้าที่เหลือจากโรงงาน nornnorn (นอนนอน) สตาร์ทอัพที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเช่าที่นอนและเครื่องนอนแทนการซื้อขาด รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับระบบการผลิตแบบหมุนเวียนมากขึ้น เช่น เอสซีจี

       ถ้าแนวทาง Circular Economy จะเป็นทางรอดของโลกและเรา การเปลี่ยนแค่นี้ยังไม่พอ ทุกคนทุกองค์กรต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเริ่มตั้งแต่นโยบายด้านอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ บริษัทขนาดใหญ่นำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นักออกแบบต้องคิดถึงการใช้งานและการนำกลับมาใช้ซ้ำ สุดท้ายคือผู้บริโภคต้องสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าและบริการ ที่ใช้แนวทาง Circular Economy ที่ดีต่อโลกที่สุดในเวลานี้

อ้างอิง

http://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/1898?fbclid=IwAR37TOvT7jV9yk-_SZsk-IBWbIzI7wcXI_iL9_QGRO-2VlWJbmL2vwQmBwQ

https://www.the101.world/circular-economy/

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3.8 / 5. Vote count: 5

No votes so far! Be the first to rate this post.