“แยกแล้วทิ้งไหน ขยะจะได้ไปต่อ” ชวนรู้จัก 7 จุดรับและแพลตฟอร์มจัดการขยะรีไซเคิล จุดเช็กอินของคนเมืองหัวใจสีเขียว

20 ตุลาคม 2020 39232 views

หลายคนยังลังเลที่จะ “แยกขยะ” เพราะคิดว่าขยะที่แยกไว้ เมื่อนำไปทิ้ง คนเก็บขยะก็นำไปรวมกันอยู่ดี

ถ้าไม่มั่นใจจุดทิ้งขยะหน้าบ้าน ลองมาทำความรู้จักกับจุดรับขยะรีไซเคิล (Drop Points) และแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การซื้อขายขยะรีไซเคิลทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเหล่านี้ ให้คุณนำขยะไปเช็กอินได้อย่างมั่นใจ ว่าขยะที่แยกแล้วจะไม่ถูกนำไปรวมกัน และได้นำไปหมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าให้เราได้อีก ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

เริ่มต้นที่หนึ่งในจุดรับขยะรีไซเคิลซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน อย่างโครงการ “มือวิเศษ x วน” ที่เกิดจากกลุ่ม “PPP Plastics” นำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งพันธมิตรองค์กรภาคเอกชนกว่า 30 องค์กร รวมทั้ง “เอสซีจี” ที่ผนึกกำลังกับโครงการวน (Won Project) เพื่อจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยตั้งจุด “ถังวนถุง” ให้สายแยก (ขยะ) ได้ไปเช็กอิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และระยอง กว่า 300 จุด อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้โลตัส และปั้มน้ำมันบางจาก เป็นต้น เพื่อรับบริจาคถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกสะอาด อย่างห่อผ้าอ้อม ฟิล์มพลาสติกหุ้มขวดน้ำ หรือฟิล์มกันกระแทกที่มากับสินค้าออนไลน์ ก่อนนำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใช้ในการผลิตถุงหูหิ้ว ถุงชอปปิ้ง และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ

นอกจากนี้ ถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกที่นำมาบริจาคจะมีมูลค่ากิโลกรัมละ 5 บาท โดยโครงการฯ จะมอบให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก เพื่อนำไปใช้ในภารกิจช่วยเหลือสัตว์ทะเลต่าง ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บต่อไปอีกด้วย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ Facebook: มือวิเศษ)

อีกหนึ่งโครงการที่ช่วยรับขยะพลาสติกไปจัดการอย่างถูกวิธี คือ โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ที่เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย และพันธมิตร ดำเนินการในรูปแบบ “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” โดยมีจุดเช็กอิน รับพลาสติกสะอาดและแห้ง 2 ประเภท คือ พลาสติกยืด และพลาสติกแข็ง บริเวณอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า รอบเขตสุขุมวิทและอื่นๆ กว่า 25 จุด นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อแปรรูปแล้วส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง

หากใครอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ นี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงทำให้พลาสติกสะอาดและแห้ง และนำไปทิ้งที่จุดรับขยะใกล้บ้าน ที่สำคัญสามารถสะสมคะแนนแลกของสมนาคุณได้อีกด้วย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ Facebook: ส่งพลาสติกกลับบ้าน)

กล่องเครื่องดื่มยูเอชที ล้างและตากให้แห้งก่อนแยกไว้แล้วนำไปเช็กอินที่จุดรับของโครงการ “หลังคาเขียว” ในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กว่า 140 สาขาทั่วประเทศได้ เพราะเขาจะนำไปรีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาที่มีคุณสมบัติทนทาน ไม่แตกง่าย ทนไฟ ไม่ดูดซับแดดและความร้อน ปลอดจากเชื้อรา และสามารถซ่อมแซมได้ง่าย เพื่อมอบให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นำไปใช้ประโยชน์และมอบให้กับชุมชนที่ขาดแคลน

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลโครงการ โทร. 02-7478881 หรือศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด (โครงการหลังคาเขียวฯ) โทร. 02-3979453-5

อีกประเภทขยะที่ควรแยกทิ้งให้ถูกที่ เพื่อให้ได้รับการนำไปจัดการอย่างถูกต้อง นั่นคือ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” โครงการ “ทิ้ง E-Waste กับ AIS” เป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินที่รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ และหูฟัง โดยร่วมมือกับผู้นำด้านการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก นำขยะที่ได้รับไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธี ที่สำคัญจะนำเงินที่ได้รับจากการขายขยะไปบริจาคให้กับมูลนิธิต่าง ๆ อีกด้วย

จุดเช็กอินนี้หาไม่ยาก แค่นำไปที่ AIS Shop (ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ) และศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล (CPN) เฉพาะในกรุงเทพฯ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://ewastethailand.com/drop-point)

ไม่เพียงแต่จุดรับขยะรีไซเคิลที่ทุกคนสามารถนำไปทิ้งได้อย่างอุ่นใจว่าขยะเหล่านี้จะได้รับการนำไปจัดการอย่างถูกวิธีเท่านั้น แต่ยังมีแพลตฟอร์มรับขยะรีไซเคิล ทั้งกระดาษ แก้ว พลาสติก และโลหะ อย่าง “GEEP (เก็บ)” ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างบ้านเรือน ร้านอาหาร หรือสถานประกอบการอื่น ๆ ที่มีขยะรีไซเคิล กับผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล เพื่อชวนให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการแยกขยะโดยมีระบบการจัดการที่สม่ำเสมอมารองรับ และทำให้ขยะรีไซเคิลถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

จุดเช็กอินของ GEEP ไม่ต้องไปไหนไกล แค่รออยู่ที่บ้าน แล้วเรียกรับบริการได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ โทรศัพท์ Line Ads และ web application โดยผู้ใช้บริการจะต้องกรอกสถานที่ วัน เวลาที่ต้องการให้เข้ารับขยะ รูปถ่ายแสดงปริมาณและประเภทของขยะ จากนั้นระบบจะจัดคิวตามตาราง เพื่อวางแผนคน พื้นที่ เวลา และปริมาณในการเก็บขยะ ก่อนจะจัดเจ้าหน้าที่ไปรับขยะ โดยจะทำการชั่งน้ำหนัก ทำบิล และจ่ายเงินต่อไป (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ Facebook: GEPP Thailand, Line ID: @GEPP, https://call.gepp.me/login และ โทร. 064-043-7166)

แต่หากใครสะดวกหรือมีธนาคารขยะใกล้บ้าน ก็สามารถนำขยะของคุณไปเช็กอิน และแลกเปลี่ยนขยะเป็นเงินได้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องระบบการจัดการ เพราะปัจจุบันมีโซลูชันด้านดิจิทัลแบบครบวงจร ที่ช่วยบริหารจัดการขยะของธุรกิจธนาคารขยะหลายแห่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือ “คุ้มค่า (KoomKah)” จาก “เอสซีจี” ซึ่งสามารถใช้วางแผนกลยุทธ์การซื้อขายและขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนการจัดการ และเพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารขยะและสมาชิกในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง อีกทั้งยังนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกและการทิ้งขยะอย่างถูกต้องของคนในสังคมอีกด้วย

โดยแอปพลิเคชันคุ้มค่า (KoomKah) ประกอบด้วย 5 ฟังก์ชัน ได้แก่ การรับซื้อขยะ (Buy) ช่วยบันทึก จัดเก็บข้อมูลขยะและคำนวณยอดเงินจากการซื้อขาย, การจัดการสมาชิก (Membership Management) จัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้มและสะสมคะแนน, การขายขยะ (Sell) บันทึกข้อมูลการขาย คำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขาย, การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) จัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า และการจัดทำรายงานรับซื้อและขายขยะ (Report) ที่สามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผลและดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel ได้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://koomkah.com)

แต่ถ้าใครยังไม่สะดวกที่จะนำขยะไปเช็คอินหรือทิ้งที่ไหน อย่างน้อยเราก็ยังอยากขอแค่ให้คุณแยกประเภทขยะเอาไว้ ง่ายที่สุดก็คือ แยก “ขยะเปียก” ออกมาจาก “ขยะแห้งหรือขยะที่สามารถรีไซเคิลได้” ถ้าคุณอยู่หมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดก็ง่ายหน่อย ส่วนใหญ่มีถังแยกประเภทขยะส่วนกลางไว้ให้อยู่แล้ว แค่นำขยะที่แยกแล้วไปทิ้งให้ถูกถัง จากนั้นจะมีหลายหน่วยงานที่เข้ามารับขยะรีไซเคิลไปทำประโยชน์ต่อ เช่น “เอสซีจีแพคเกจจิ้ง” ที่รับขยะประเภทกระดาษจากหลายคอนโดและหมู่บ้านจัดสรรที่ร่วมโครงการ เช่น ชีวาทัย แสนสิริ หรือ Property Perfect กลับมาผลิตเป็นกระดาษเอกสาร เฟอร์นิเจอร์หรือของเล่นกระดาษ แล้วส่งกลับไปให้หมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดได้ใช้ประโยชน์ หรือจะนำขยะกระดาษไปทิ้งที่จุด Drop point ล่าสุด ที่ Habito Mall สุขุมวิท 77 ก็ได้ โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มในชื่อ “Paper X” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่จุด Drop Point นั้นๆ ในการเรียกรถมารับขยะกระดาษ และบันทึกปริมาณขยะที่รับไปด้วย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ Facebook: paperx)

ถ้าเราทุกคนสามารถแยกประเภทขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง แล้วนำไปเช็กอินที่จุดทิ้ง หรือจุดรับขยะรีไซเคิล ก็จะทำให้การจัดการขยะมีความรวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพต่อการนำไปรีไซเคิล ทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะและงบประมาณที่ต้องจัดเก็บ ไม่ต้องนำขยะไปกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบ ซึ่งมีส่วนในการก่อให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนด้วย

รู้อย่างนี้แล้ว “เราแยกกันเถอะ!”

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.3 / 5. Vote count: 43

No votes so far! Be the first to rate this post.