Y-Together
ตลาดยิ่งเจริญมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนมาโดยตลอด และหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดยิ่งเจริญเกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อมีการเปลี่ยนคณะผู้บริหารและโครงสร้างการบริหาร ในวินาทีนั้นไม่มีใครรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นบวกหรือเป็นลบ หากแต่ทางตลาดได้มีการเขียนแผนและวางนโยบายขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ “Y Together” หรือแปลง่ายๆ ก็คือ “ยิ่งเจริญไปด้วยกัน”
สายชล สวัสดิชัย ผู้จัดการอาวุโสบริหารการตลาดยิ่งเจริญ มองว่าการที่ตลาดจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงนั้น ทุกคนในตลาด รวมไปถึงชุมชนรอบๆ ตลาดจะต้องเดินไปด้วยกัน ทุกนโยบายจะเป็นการร่วมมือกัน แบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย พูดคุยปรึกษาหารือกัน ไม่ใช่การออกคำสั่งจากเจ้าของหรือทีมงานผู้บริหาร โดยไม่สนใจฟังความเห็นจากคนอื่นๆ
“เราคุยกันแล้วก็เขียนนโยบายขึ้นมาเป็นแผนว่าตลาดของเราจะทำเรื่องอะไรบ้าง ใน 5-10 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเรื่องของสิ่งแวดล้อมคือหนึ่งในนั้น โดยเรื่องแรก ๆ ที่เราเริ่มปรับปรุงก่อนเลยคือ ระบบบำบัดน้ำเสีย เราออกแคมเปญ ลดสารเคมีแทนที่ด้วยจุลินทรีย์ขึ้นมา”
“เมื่อเราหันมาใช้จุลินทรีย์ค่าน้ำของเราก็มีมาตรฐานยิ่งขึ้น คราบไขมันในบ่อเกรอะนี่ก็แทบไม่มีเหลือ ด้วยความที่คุณสมบัติของจุลินทรีย์คือการกำจัดคราบไขมัน ทำให้มันไปตัดวงจรการเกิดของสัตว์ต่าง ๆ อย่างเช่น แมลงวัน แมลงสาบ ฯลฯ ตลาดของเราจึงแทบไม่มีสัตว์พวกนี้เลย”
แม้จะแก้ไขปัญหาน้ำเสียและแมลงวันในตลาดได้ หากแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมย่อมไม่ใช่แค่ปัญหาที่กล่าวมา ยังมีเรื่องใหญ่กว่านั้นอย่างปัญหาการจัดการขยะที่ท้าทายและรอให้แก้ไขอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดไม่ใช่สถานที่แห่งการค้าขายอย่างเดียว แต่ในมุมหนึ่งยังเป็นแหล่งผลิตขยะอีกด้วย และตลาดยิ่งเจริญก็ยังมีขยะให้ต้องจัดการถึง 10,000-20,000 กิโลกรัมต่อวัน (10 ตัน) โดยเป็นขยะจากชุมชนริมคลองมาด้วย ประมาณ 30% ต่อวัน จาก 10,000-20,000 ลดได้กว่าร้อยละ 50
“เมื่อก่อนที่ไม่ได้คัดแยกขยะ ขยะของเราก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือขยะอินทรีย์ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่พวกเศษผักผลไม้นอกนั้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นขยะทั่วไปเช่น ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ฯลฯ” สมปอง จันดี ผู้จัดการแผนกรักษาความสะอาดตลาดยิ่งเจริญ ให้ข้อมูลขยะของตลาดในอดีต
สมปองเริ่มจัดการขยะอินทรีย์ที่มีจำนวนมากก่อน โดยได้ทำการหารือกับทางเขตบางเขนให้มารับนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่ในส่วนของขยะทั่วไปนั้นได้ดึงเอาผู้คนในชุมชนรอบ ๆ ตลาดมามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยรายได้ทั้งหมดนั้นทางตลาดยิ่งเจริญจะให้คนที่มาทำงานทั้งหมด
ไม่ใช่แค่สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนหากแต่สมปองยังมอบความรู้ให้กับทุกคนด้วยการนำสิ่งที่ตนไปอบรมเกี่ยวกับการคัดแยกและรีไซเคิลขยะมาถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้รู้และเข้าใจ ส่งผลให้การคัดแยกและจัดการขยะของตลาดยิ่งเจริญมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการคัดแยกด้วยองค์ความรู้และความตั้งใจที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นคนในชุมชน
จากขยะ 10,000-20,000 กิโลกรัมชาวบ้านในชุมชนรอบตลาดยิ่งเจริญช่วยกันคัดแยกขยะออกมาอย่างละเอียด จนเหลือกลับคืนให้กับทางเขตนำไปจัดการลดลงกว่าร้อยละ 50 เท่านั้น
“ขยะเศษอาหารจำพวกเศษปลาทั้งหลายเราจะนำไปขายให้โรงงานนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ พวกถุงพลาสติกเราจะนำมาทำความสะอาดจากนั้นก็จะมีคนมารับซื้อ เช่นเดียวกับขวดแก้ว ขวดพลาสติก ส่วนพวกเหล็ก โลหะ ก็จะมีบริษัทมาซื้อแล้วนำไปเข้าสู่กระบวนการหลอมนำกลับมาใช้ใหม่ พูดง่ายๆ ว่าขยะทุกอย่างล้วนมีเส้นทางของตัวเองทั้งหมด”