ชวนดูตัวอย่างไอเดียช่วยโลกแบบ Circular Design ของชาวไต้หวัน

16 กรกฎาคม 2020 5623 views

ปัจจุบัน กว่าครึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ แต่พวกเราใช้พลังงานไปถึง 75% ของประชากรทั้งหมดบนโลก และยังเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ (Carbon Emission) กว่า 80% ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะโลกร้อนก็เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเรา

ทุกวันนี้ คำว่า Climate Change จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ซ้ำยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเร่งหาทางแก้ไข หนึ่งในวิธีที่เราได้ยินบ่อยช่วงนี้คือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ว่าด้วยการผลิต ใช้ และจัดการทรัพยากรในชีวิตประจำวันอย่างรู้คุณค่า ตั้งแต่เสื้อผ้าที่เราใส่ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน อาหารที่เราทาน  ไปจนถึงอาคารบ้านเรือนและตึกสูงใหญ่

ไต้หวัน คือประเทศหนึ่งที่ผู้คนตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่น้อย เราเพิ่งมีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการ ‘2020 Circular Design Exhibition: Design or Disaster’ ที่ปีนี้หยิบเรื่อง Circular Design หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงโลกตั้งแต่เริ่มต้นมาบอกเล่า นิทรรศการเล่าถึงนวัตกรรมการออกแบบที่คิดมากขึ้นเพื่อให้สิ่งของเหล่านั้นอยู่ได้นาน ยั่งยืน หรือสามารถจัดการให้ไม่กลายเป็นขยะต่อโลกกว่า 40 เคส วันนี้เราขอหยิบตัวอย่างบางส่วนที่เกิดขึ้นจริงแล้วในไต้หวันมาบอกต่อกัน

  • Glass Bottle Recycling Service การแยกขยะถือเป็นเรื่องปฏิบัติที่คนไต้หวันทุกคนคุ้นเคย และถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ด้วยระบบการแยกขยะที่จริงจังเพื่อนำไปรีไซเคิลตามกระบวนการ ขวดเครื่องดื่มแก้วคือตัวอย่างหนึ่ง บริษัทสุราและบุหรี่ไต้หวัน (Taiwan Tobacco & Liquor Corporation: TTL) ใช้วิธีจูงใจประชาชนให้เก็บขวดแก้วมาคืนโดยให้ราคา 3 NTD/ขวด ถึงจะดูเป็นเงินจำนวนน้อยนิด แต่อัตราการนำขวดแก้วมารีไซเคิลของคนไต้หวันก็สูงมากคือ 97.65% หรือประมาณ 290 ล้านขวดในปี 2018

  • The W Glass Project ไต้หวันคือประเทศแห่งชานมไข่มุก แต่ปัญหาที่ตามมาคือเหล่าแก้วและหลอดดูดชานมไข่มุกพลาสติกกำลังสร้างขยะมหาศาล Spring Pool Glass Industries Corporation โรงงานจัดเก็บและรีไซเคิลแก้วในเมืองซินจู๋ ก่อตั้งโปรเจกต์ The W Glass เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแก้วรีไซเคิลจากเทคนิคการเป่าแก้วเฉพาะตัวกว่า 50 ปี จนได้ออกมาเป็นแก้วและหลอดชานมไข่มุกใหม่ที่ผลิตจากแก้วรีไซเคิล 100% และใช้จริงในร้านชานมไข่มุกต้นตำรับ Chun Shui Tang หลายสาขาอีกด้วย

  • PaperLab ชาวออฟฟิศทุกคนรู้ว่ากระดาษคือขยะกองโตในสำนักงาน Epson Taiwan มองเห็นปัญหานี้เลยลงทุนพัฒนานวัตกรรมปริ้นท์เตอร์ PaperLab ที่ช่วยให้ออฟฟิศทุกที่สามารถรีไซเคิลกระดาษเอกสารได้เองภายในตัวเครื่องด้วยกระบวนการแบบแห้ง (Dry Process) ตั้งแต่การย่อยเนื้อกระดาษไปจนถึงการรีไซเคิลกระดาษแผ่นใหม่ขึ้นมา!

  • Good To Go ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรจุภัณฑ์อาหารคือขยะใกล้ตัวพวกเราที่สุด ทั้งกล่องกระดาษ แก้วพลาสติกจากร้านเครื่องดื่มต่างๆ การพกกระบอกน้ำส่วนตัวช่วยแก้ปัญหาได้แต่เราก็เข้าใจว่าบางคนอาจจะไม่สะดวกที่จะพกและต้องล้างทำความสะอาดเป็นประจำ แถมบางร้านก็ยังไม่มีนโยบายรับแก้วส่วนตัว Good To Go คือตัวอย่างไอเดียของสองสาวชาวไต้หวันที่ตั้งใจแก้ปัญหานี้ด้วยระบบเหมือนการเช่าแก้ว Tumblr แค่เราไปร้านอาหารหรือคาเฟ่ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Good To Go สมาชิกจะได้เครื่องดื่มใส่กลับมาในแก้ว Tumblr ของโปรเจกต์ให้เราเดินถือแก้วออกมาดื่มได้สบายใจ เมื่อดื่มเสร็จก็แค่คืนแก้วนี้ในจุดรับคืนในร้านอาหารต่างๆ ที่เข้าร่วม แก้วเหล่านี้จะถูกนำไปทำความสะอาดและพร้อมใช้งานต่อไป

นี่เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งของงานออกแบบและไอเดียตามแนวคิด Circular Design บางเรื่องต้องอาศัยเทคโนโลยีล้ำๆ เข้ามาช่วยพัฒนา แต่บางอย่างก็เป็นแค่การปรับพฤติกรรมเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของพวกเราเท่านั้น อยู่ที่ว่าเราจะช่วยกันปรับ เพื่อเปลี่ยนโลกใบนี้ไปพร้อมกันรึเปล่าเท่านั้นเอง

ขอบคุณข้อมูลจากนิทรรศการ ‘2020 Circular Design Exhibition: Design or Disaster’ จัดแสดงที่ Songshan Cultural and Creative Park ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 14 มิถุนายน 2563 กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน จัดโดย Ministry of Economic Affairs และ Taiwan Design Research Institute

https://www.taiwan-panorama.com/

https://global.epson.com/innovation/paperlab/


Contributor

ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต

Writer

นักศึกษาปริญญาโทด้าน Urban Governance ที่ประเทศใต้หวัน สนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะ และการออกแบบเมืองเพื่อสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรม

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 2.5 / 5. Vote count: 2

No votes so far! Be the first to rate this post.