โรงเรียนเริ่มต้นจากการให้ความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานก่อน หลังจากนั้น ก็หันมาเน้นเรื่องของการจัดการขยะอย่างจริงจัง
“การจัดการขยะเป็นสิ่งที่ใช้ฝึกฝนเด็กนักเรียนได้ดีมาก ทั้งเรื่องของความสะอาดและระเบียบวินัย เราจึงเอาเรื่องของการจัดการขยะเข้าไปอยู่ในโครงสร้างหลักของโรงเรียน ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำ และมีงบประมาณสนับสนุนเรื่องนี้โดยตรง เราส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้อยู่สม่ำเสมอ แล้วทางโรงเรียนยังได้มีการจัดตั้งทีมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อสื่อสารและกระจายความรู้ที่ได้รับมาจากการอบรมไปสู่ทั้งครูและนักเรียนในโรงเรียนอย่างทั่วถึง โดยใช้ครูจากทุกกลุ่มสาระเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนร่วมกัน” ผอ.ดร.เพลินใจพฤกษชาติรักษ์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบันกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
ธงทองทุกห้องเรียน
ในสมัยที่ยังไม่มีการจัดการขยะอย่างเป็นจริงเป็นจัง ห้องเรียนแทบทุกห้องภายในโรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย ๒ คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขยะนานาชนิดด้วยเหตุนี้คณะกรรมการนักเรียนจึงได้ริเริ่มโครงการหน้าห้องน่ามองห้องเรียนสีขาวห้องเรียนคนดีเพื่อเข้าไปจัดการขยะในห้องเรียนทันที โดยดำเนินการร่วมกับงานอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอาจารย์รัฐพลหนันกระโทก เป็นหัวหน้ากลุ่มงาน
“เรากำหนดให้ทุกห้องเรียนมีถังขยะอยู่ 2 ถัง ถังสีเหลืองเป็นขยะจำพวก ขวดพลาสติก ส่วนถังสีน้ำเงินจะเป็นกระดาษ ซึ่งนักเรียนเขาก็จะรู้แล้วว่ามีขยะเพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้นที่ทิ้งได้ในห้องเรียน นอกเหนือจากนี้เขาจะต้องไปทิ้งในจุดที่โรงเรียนกำหนด และในทุกวันเราจะมีคณะกรรมการนักเรียน คอยเดินตรวจแต่ละห้อง จากนั้นก็จะบันทึกและรายงานผ่านทางไลน์กลุ่ม โดยหากห้องใดผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่เรากำหนดไว้ เราก็จะมอบธงขาวให้ ทำพิธีประกาศมอบกันหน้าเสาธงทุกสัปดาห์ และหากห้องใดได้ธงขาว 4 สัปดาห์ติด เราก็จะเปลี่ยนจากธงขาวเป็นธงทองให้ ห้องที่ได้รับรางวัลเขาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ ขณะที่ห้องที่ยังไม่ได้ จะรู้สึกว่าต้องทำให้ได้บ้าง เขาก็จะกระตุ้นตัวเองขึ้นมา จนในที่สุดก็สามารถคว้าธงทองกันได้ทุกห้องในโรงเรียน”
ศุกร์หรรษากับธนาคารขยะรักษ์สิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงทำความสะอาดจัดการขยะในห้องเรียน แต่ทุกห้องยังมีหน้าที่ในการนำขยะที่มีอยู่มาฝากไว้ที่ธนาคารขยะรักษ์สิ่งแวดล้อม
“ธนาคารขยะของเราจะเปิดทุกวันศุกร์ นักเรียนทุกคนก็จะรู้กันเลยว่าเวลานี้ พวกเขาต้องนำขยะมาฝากที่ธนาคาร ผมและพี่ๆ น้องๆ ที่เป็นคณะกรรมการนักเรียน ก็จะมาช่วยกันคัดแยกแล้วก็ทำการบันทึกไว้ผ่าน แอปพลิเคชั่น KoomKah ก่อนจะนำไปขายให้กับซาเล้ง เมื่อครบปีแล้วก็จะทำการปันผลเป็นเงินคืนกลับไป แม้เงินที่ได้จะไม่ได้เยอะมากแต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นก็คือความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมทำให้โรงเรียนของเราสะอาด และน่าอยู่” มันเดย์- ด.ช.ณัชพลเสือเปลี่ยวนักเรียนชั้น ม.2/3 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารขยะของโรงเรียน กล่าวด้วยรอยยิ้มอิ่มสุข
“ผมภูมิใจและมีความสุขมากๆ ที่ได้เรียนที่ราชนันทาจารย์สามเสนวิทยาลัย ๒”
แยกขยะตามความเป็นจริง
ปัจจัยข้อหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนจัดการขยะได้อย่างดีเยี่ยมก็คือพวกเขาแยกถังขยะแต่ละประเภทตามความเป็นจริงของพื้นที่ วางถังขยะเฉพาะประเภทขยะที่มีบริเวณนั้นๆ รวมทั้งพยายามไม่สร้างขยะขึ้นมาในโรงเรียน
ด้วยการจัดการขยะอย่างมีคุณภาพทั่วทั้งโรงเรียน ทำให้โรงเรียน ได้รับรางวัลชมเชย “Zero Waste School โรงเรียนปลอดขยะ” ในการประกวดระดับประเทศในปีที่ผ่านมา จึงเป็นผลการันตีความสำเร็จที่ตอกย้ำถึงความพยายามในการปลูกฝังจิตสำนึกของเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง