กรุงเทพมหานครกับระบบเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน

8 มิถุนายน 2019 2870 views

        คำว่า Circular Economy อาจจะเป็นคำใหม่สำหรับประชาชนไทย หากแต่ความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมผ่านการลงมือทำ หลาย ๆ โปรเจกต์ของทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เช่น การรณรงค์แยกขยะ หรือความพยายามลดขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เหล่านี้คือนิยามที่เป็นรูปธรรมของคำนี้ และโครงการทั้งหลายกำลังถูกสานต่อขึ้นเป็นภาพขององค์รวมในระดับประเทศ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนที่เข้าใกล้ประชาชนและเห็นผลจริง

        All Around Plastics มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับ คุณสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง อดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านผังเมือง สิ่งแวดล้อมและการคลัง เล่าให้เราฟังถึงความสำคัญของ Circular Economy รวมถึงบทบาทของกรุงเทพมหานครในฐานะผู้วางยุทธศาสตร์ของสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของสังคม ผ่านกลยุทธ์ของกรุงเทพมหานครและพันธมิตรด้านความร่วมมือจากภาคเอกชน

มุมมองของท่านต่อ Circular Economy

        Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ในมุมมองของดิฉันที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมากว่า 30 ปี นับว่าเป็นแนวคิดที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ทรัพยากร เนื่องจากทรัพยากรเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และด้วยนวัตกรรมในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถผลิตขึ้นมาทดแทนได้ นั่นทำให้ Circular Economy เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อส่งต่อให้กับรุ่นลูกหลานต่อไป

บทบาทของภาครัฐและกรุงเทพมหานครต่อนโยบาย circular economy

        หน้าที่ของภาครัฐคือการออกข้อกำหนดหรือกฎหมายที่จะมารองรับการกำหนดแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนในเชิงเป็นรูปธรรม และมองเห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ในส่วนของกรุงเทพมหานครเองก็มีภารกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับ Circular Economy โดยมีแผนจัดการขยะเป็นทรัพยากร มีโครงการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยนำหลักการ Circular Economy มาใช้ เริ่มตั้งแต่นโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ลดการใช้พลาสติกและโฟม โดยมีสำนักสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพหลัก หน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรม

        ตัวอย่างล่าสุดเช่น สำนักการแพทย์ สำนักอนามัยงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วในการการจ่ายยาทุกครั้ง และเป็นหน้าที่ของของประชาชนเองที่จะต้องนำถุงผ้ามารับยาแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งก็เป็นจุดหมายหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้กับภาคประชาชน นอกเหนือจากนี้ ทางกรุงเทพมหานครก็ได้มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจประชาชนผ่านการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่าง ๆ การให้การศึกษาในสถานศึกษา และศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ เช่นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและในสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการจัดการขยะว่าการคัดแยกขยะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด  หรือศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบรอบด้าน

        จากผลการดำเนินการทั้งหมดที่กล่าวไป เกิดเห็นผลชัดเจนในปัจจุบัน นั่นคือการควบคุมปริมาณขยะให้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง เปรียบเทียบกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กรุงเทพมหานครมีอัตราการเพิ่มของขยะร้อยละ 10 ปัจจุบันอัตราการเพิ่มชะลอตัวเหลือประมาณร้อยละ 1 ต่อปี  ซึ่งต้องยอมรับในสถานการณ์ที่เมืองกำลังเติบโต มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น การผลิตมากขึ้น ขยะจากแพคเกจจิ้งก็ตามมาด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปลูกฝังในเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย

แต่ละภาคส่วนของสังคมสามารถมีส่วนร่วมกับ Circular Economy ได้อย่างไรบ้าง

        เพราะ Circular Economy เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมตั้งแต่ต้นทางอย่างกระบวนการผลิตสินค้า การจำหน่ายจ่ายแจก ไปจนถึงปลายทางของผู้บริโภค และการจัดการของเสียที่เกิดขึ้น จึงเป็นบทบาทของประชาชนทุกคนมีความสำคัญที่จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนครบทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนจากความสมดุลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

        เริ่มจากภาคการผลิต ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ทั้งของเสียจากกระบวนการผลิตในการนำมาหมุนเวียนใช้ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบการผลิตใหม่ได้  ไปจนถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ และปริมาณที่สัมพันธ์กับราคาสินค้าที่จ่ายไป

        ส่วนกลางทาง คือภาคธุรกิจซึ่งทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค จะต้องคำนึงถึงการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เช่นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุประเภทแก้ว  กระดาษ โลหะ หรือพลาสติก สามารถรวบรวมมาเป็นวัตุดิบการผลิตสินค้าใหม่ได้ บรรจุภัณฑ์บางชนิดสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง เช่น ขวดแก้วของน้ำอัดลม สามารถใช้ซ้ำได้ถึง 16-18 ครั้ง นับว่าเป็นตัวอย่างของภาคธุรกิจที่เราพบเห็นมาตั้งแต่เดิม

        ท้ายที่สุด คือปลายทางส่วนของผู้บริโภค จะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง รวมถึงการเรียนรู้ถึงการคัดแยกขยะเพื่อนำมาหมุนเวียนเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ครบวงจร

        ฝากทิ้งท้ายถึงบทบาทของภาคธุรกิจ อย่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในการผลักดันให้เกิด “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

เอสซีจี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ภารกิจหลักจึงอยู่ที่การแสดงบทบาทในการรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน

ทั้งในเรื่องการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะโดยคัดแยกขยะใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดก่อนนำไปกำจัด เช่น การจัดกิจกรรมที่ประชาชนสามารถลงมือทำได้ทันที กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน

ซึ่งเอสซีจีเองก็เป็นเครือข่ายสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ลงนามความร่วมมือโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายลดขยะพลาสติกร้อยละ 50 ในช่วงเวลา 10 ปี ในการร่วมกับภาคีเครือข่ายกำหนดกลยุทธ์การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากเอสซีจีเป็นองค์กรที่ศักยภาพทั้งในแง่ของบุคลากร การบริหารจัดการ และมุมมองเชิงธุรกิจ เมื่อนำมาผนวกกับภาครัฐอย่างกรุงเทพมหานคร นับเป็นการเติมเต็มในการบรรลุเป้าหมายของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรมตอบเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

http://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/2113

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 5 / 5. Vote count: 1

No votes so far! Be the first to rate this post.