ผนึกกำลังร่วมกันพิทักษ์แหล่งน้ำ : SCG x The Ocean Cleanup

20 เมษายน 2021 4222 views

ขยะที่ขาดการจัดการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในทะเลและมหาสมุทร มาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างมากขึ้น จนกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและทุกระดับเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข นั่นจึงเป็นที่มาของ “การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ที่ใช้เป็นกรอบกำหนดทิศทางการพัฒนาของโลกภายหลังปี ค.ศ. 2015

เอสซีจี เป็นอีกหนึ่งองค์กรชั้นนำที่รับรู้ถึงภาวะเร่งด่วนของปัญหาดังกล่าว และมีการเคลื่อนไหวต่อเรื่องนี้อย่างแข็งขันผ่านการดำเนินกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยหนึ่งในนั้น คือ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรและภาคีความร่วมมือกับ The Ocean Cleanup องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากเนเธอร์แลนด์ ผู้คิดค้นและพัฒนา InterceptorTM เทคโนโลยีชั้นสูงที่ช่วยดักจับขยะในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะจุดเริ่มต้น คือ แพขยะใหญ่ที่สุดในโลก

Great Pacific Garbage Patch คือ แพขยะกลางกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า ลอยอยู่ในน่านน้ำสากลอันเวิ้งว้างที่ไม่มีประเทศใดแสดงความเป็นเจ้าของ และมีการคาดการณ์กันว่าแพขยะยักษ์ใหญ่นี้ ต้องใช้เวลาเกือบ 80,000 ปี ในการย่อยสลาย

และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ โบแยน สแลต (Boyan Slat) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง The Ocean Cleanup สตาร์ทอัปด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดยในงาน TEDx ประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2012 ขณะที่มีอายุเพียง 18 ปี เขาได้เสนอแนวคิดกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรโดยอาศัยการพัดพาของกระแสน้ำนำขยะลอยเข้าสู่อุปกรณ์ดักจับขนาดใหญ่ และหากวิธีการนี้ประสบความสำเร็จ ขยะทั้งหมดในแพขยะนี้จะหายไปได้ในเวลา 5 ปี

ความสำเร็จดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนา InterceptorTM เรือดักจับขยะในแม่น้ำที่สามารถดักเก็บขยะจากแม่น้ำได้มากที่สุดถึง 100,000 ชิ้นต่อวัน ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ถูกชาร์จไฟด้วยแสงอาทิตย์ มีระบบคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน พลังงานที่ใช้ และสภาพของส่วนประกอบต่าง ๆ หลักการทำงานของ InterceptorTM นี้ ใช้การไหลเวียนของแม่น้ำตามธรรมชาติในการดักจับขยะพลาสติก โดยมีทุ่นลอยน้ำที่ช่วยปัดให้ขยะไหลตามทิศทางที่กำหนดเพื่อเข้าสู่ตัวเครื่อง นอกจากนี้นวัตกรรมนี้ปราศจากเสียงและกลิ่นรบกวน ดังนั้นจึงเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้จุดกำเนิดของการคิดค้นและพัฒนา InterceptorTM  มาจากข้อมูลจากนักวิจัยที่ระบุว่า 80%​ ของพลาสติกในมหาสมุทรต่าง ๆ นั้นเกิดจากแม่น้ำ โดยแม่น้ำเหล่านั้นมีภาวะปนเปื้อนรุนแรงจากขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตั้งแต่บนบก และทันทีที่ขยะจากแม่น้ำเหล่านั้นไหลเล็ดลอดลงท้องทะเลที่ไร้พรมแดน ก็กลายมาเป็นขยะที่คนทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องรับผิดชอบร่วมกัน

วิสัยทัศน์ร่วมกัน พันธกิจร่วมใจ

เมื่อกลับมาพิจารณาบริบทของประเทศไทย การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มีที่มาจากแหล่งก่อขยะบนบก ได้แก่ ชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบนบกเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ในขณะเดียวกันการจัดการกับขยะในแหล่งน้ำ ตั้งแต่ ลำคลอง แม่น้ำ ทะเลและมหาสมุทร ก็เป็นวาระที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

เอสซีจี ได้ริเริ่ม “บางซื่อโมเดล (Bang Sue Model)” ซึ่งเป็นโครงการจัดการขยะภายในองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าภายใต้หลักคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”

โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม จนนำไปสู่การขยายผลกับชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ในชื่อ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ปัจจุบันนับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานมา มีชุมชนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 25 ชุมชน มีการจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อรวบรวมวัสดุรีไซเคิลในชุมชนมากถึง 10 แห่ง มีสมาชิกลงทะเบียนฝากขยะผ่านแอปพลิเคชันคุ้มค่ามากถึง 2,697 บัญชี ยอดบัญชีขยะรีไซเคิลในระบบกว่า 100 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 230,000 บาท (ข้อมูลเดือนเมษา 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2563) โดยปริมาณขยะรีไซเคิลทั้งหมดที่เก็บเข้าสู่ระบบสามารถคำนวณเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ถึง 73,442 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยเอสซีจีตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนชุมชนและครัวเรือนให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดระยองพัฒนาสู่เมืองไร้ขยะต่อไปในอนาคต   

นอกจากนี้ เอสซีจี ยังได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยจัดการและลดปริมาณขยะที่จะตกค้างในสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่

  • Aquonic 600 ช่วยขจัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากห้องน้ำและน้ำเสียในครัวเรือนด้วยกระบวนการทางชีวภาพและเคมีไฟฟ้า ทำให้น้ำที่ได้ปราศจากเชื้อโรค สี และกลิ่น สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากระบบสุขาปลอดเชื้อที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมพัฒนาขึ้นกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์
  • นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก HDPE-Bone ซึ่งพัฒนาขึ้นจากทุ่นดักขยะแบบแนวตรง (Oil Boom) ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้คิดค้นขึ้นเมื่อปี 2561 นวัตกรรมนี้ผลิตพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE ทำให้ทุ่นสามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น จัดเก็บขยะลอยน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทนทานต่อรังสียูวี อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี ประกอบและติดตั้งได้ง่ายขึ้น และสามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อีกด้วย

ก้าวต่อไปของความร่วมมือระดับโลก

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย โดยมี ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2019

“ปัจจุบันปัญหาขยะในแม่น้ำและทะเลส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก การคัดแยกขยะ รวมถึงการนำ Research & Development มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับขยะในแหล่งน้ำ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะหลุดรอดลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง The Ocean Cleanup ในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเอสซีจีจะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะทะเลมาสร้างประโยชน์สูงสุดต่อไป โดยเอสซีจีมีนวัตกรรมที่สนับสนุนการนำขยะทะเลมาสร้างประโยชน์ต่อ ได้แก่ Mechanical Recycling และ Chemical Recycling เป็นต้น” ดร. สุรชา อุดมศักดิ์ กล่าว

และในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการใช้นวัตกรรม InterceptorTM ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ The Ocean Cleanup จุดมุ่งหมายของบันทึกฯ ดังกล่าวให้ความสำคัญกับการนำ InterceptorTM เข้ามาใช้ในประเทศไทยในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศที่มีปริมาณขยะในแม่น้ำมากที่สุด โดยเมื่อปี 2560 มีปริมาณขยะสูงถึง 2,172 ตัน หรือกว่า 173 ล้านชิ้น แม้ว่าในอีกสองปีถัดมาจะมีปริมาณลดเหลือเพียง 702 ตัน (ประมาณ 42 ล้านชิ้น) ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐเพื่อลดปริมาณขยะในแม่น้ำและทะเล  

ปัจจุบัน InterceptorTM ถูกนำไปทดลองใช้จริงแล้วที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และโดมินิกัน ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งน้ำเชิงกลยุทธ์เนื่องจากมีปริมาณขยะในแม่น้ำมากเป็นพิเศษ โดยมีการคาดการณ์จาก The Ocean Cleanup ว่านวัตกรรมกำจัดขยะในแหล่งน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะช่วยกำจัดขยะในแหล่งน้ำได้มากถึง 70 ล้านกิโลกรัม ในปี 2568

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4 / 5. Vote count: 6

No votes so far! Be the first to rate this post.