คืนชีวิตใหม่ให้แกลลอนน้ำยาล้างไต “กระถางต้นไม้รีไซเคิล” จาก เอสซีจี

4 ธันวาคม 2020 5839 views

ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดและลดของเสียให้น้อยที่สุด เป็นอีกหนึ่งแนวปฏิบัติสำคัญที่เอสซีจีบูรณาการเข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท และอีกหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ “กระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไต”

 เป้าหมายเดียวกันเริ่มต้นด้วยกัน

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุพอลิเมอร์และการออกแบบ เอสซีจี ได้พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์เพื่อยกระดับการใช้งานให้แก่ทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ของกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เครือข่ายโรงพยาบาลชั้นนำของไทยมาอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว นำมาสู่ความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

 ทั้งสององค์กรให้ความสำคัญกับหลักดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเอสซีจีเองมีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า SCG Circular Way ซึ่งส่งเสริมและร่วมสร้างพฤติกรรมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดย ลดการใช้ทรัพยากร หรือใช้ให้นานที่สุด หรือนำกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกันกับ BDMS ที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อม BDMS Earth Healthcare ที่มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรและสร้างบุคลากรให้มีทัศนคติและมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างรากฐานสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นั่นจึงเป็นที่มาของความร่วมมือผสานความเชี่ยวชาญที่แตกต่างเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน โดยมีโครงการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทางการแพทย์อย่างแกลลอนน้ำยาล้างไต ให้กลายเป็นกระถางต้นไม้สำหรับประดับตกแต่งภายในอาคาร เป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนภาพความสำเร็จของความร่วมมือบนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

เริ่มต้นด้วยกันลงมือทำด้วยกัน

การพัฒนากระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไตนี้ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 2 ส่วน คือ การจัดการขยะ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ 

โดยเอสซีจีได้แนะนำถึงกระบวนการทำงานตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการจัดการขยะนั่นคือ การวิเคราะห์ประเภทของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของเครือ BDMS ซึ่งมีการคัดแยกไว้อยู่แล้ว จากนั้นจึงเลือกจากขยะประเภทที่ไม่ติดเชื้อ จนได้พบว่าแกลลอนน้ำยาล้างไตเป็นวัสดุตั้งต้นที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นขยะคุณภาพดี สะอาด ไม่ปนเปื้อน โดยแกลลอนเป็นพลาสติกประเภท HDPE (High Density Polyethylene) หรือพอลิเอทิลีนที่มีค่าความหนาแน่นสูง ที่ทางเอสซีจีเชี่ยวชาญอยู่แล้ว อีกทั้งยังทางโรงพยาบาลมีศูนย์ล้างไต จึงมีแกลลอนเปล่าเป็นขยะที่เกิดขึ้นทุกวันและมีปริมาณประมาณ  150 – 200 แกลลอนต่อวัน จึงเหมาะแก่การนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์

ในช่วงของการคัดแยกและจัดเก็บวัสดุเพื่อนำไปรีไซเคิลนั้น แม่บ้านของเครือ BDMS จัดเก็บแกลลอนน้ำยาล้างไตจากหน่วยไตเทียม โดยมีการบันทึกจำนวนทุกครั้ง จากนั้นทำการแยกฝา ฟอยล์ที่หุ้มฝา และฉลากที่เป็นวัสดุประเภทอื่นออก แล้วจึงทำความสะอาดแกลลอนทั้งภายในและภายนอกด้วยผงซักฟอก ขัดคราบกาวออก ล้างน้ำสะอาดและนำไปตากให้แห้ง ก่อนเก็บรวบรวมในสถานที่ที่สะอาด มิดชิด และไม่อับชื้น เพื่อส่งต่อให้ทางเอสซีจี 

ส่วนสำคัญต่อมาคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการระดมสมองระหว่างทั้งสององค์กรเพื่อสร้างสรรค์สินค้าที่สร้างมูลค่าและตอบโจทย์การใช้งานของทางโรงพยาบาล จากข้อจำกัดของกฎหมายที่ผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลจะต้องไม่นำไปใช้สัมผัสกับอาหารโดยตรง ขณะเดียวกันกับที่โรงพยาบาลต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณอาคารหลังใหม่ ผลสรุปจึงออกมาเป็นการดีไซน์กระถางต้นไม้ขนาดความสูง 80 – 100 เซนติเมตร สำหรับตกแต่งอาคาร โดยแกลลอนน้ำยาล้างไตจำนวน 10 แกลลอน นำมารีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้รีไซเคิลขนาดกลางได้ 1 กระถาง และถ้าหากต้องการขนาดกระถางที่ใหญ่ขึ้น ต้องใช้แกลลอนน้ำยาล้างไตจำนวน 12 แกลลอน

ลงมือทำด้วยกันก้าวไปต่อด้วยกัน

จากความสำเร็จของกระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไต ที่ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวและเพิ่มชีวิตชีวาให้ภายในอาคารโรงพยาบาลของเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ผลิตภัณฑ์ถัดไปของโครงการก็คือ กระถางต้นไม้ขนาดเล็กสำหรับปลูกพลูด่างซึ่งเป็นพืชที่สามารถช่วยลดมลพิษในสถานที่ทำงานได้ โดยตัวกระถางได้รับการออกแบบให้มีสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และยังมีฟังก์ชันพิเศษเพื่อการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ถังขยะที่อยู่ระหว่างการออกแบบรูปลักษณ์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเข้าใจวิธีการแยกขยะได้ง่ายขึ้นและสามารถแยกทิ้งขยะได้อย่างถูกต้อง

โครงการกระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไตในครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญของเอสซีจีในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบ พร้อมกับการแบ่งกันแนวคิดและแนวปฏิบัติเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.8 / 5. Vote count: 5

No votes so far! Be the first to rate this post.