ขยะไปบ่อฝังกลบต้องเป็นศูนย์

10 มีนาคม 2020 4262 views

ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก

“ก่อนที่จะบอกให้คนอื่นเริ่ม เราเริ่มที่ตัวเองก่อนดีกว่า”

กฤษดา เรืองโชติวิทย์ Circular Economy Director ผู้ดูแลเรื่อง Circular Economy ของ SCG สำนักงานใหญ่บางซื่อบอกเล่าเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นของการจัดการขยะในองค์กรหรือ’บางซื่อโมเดล’

“ในตอนแรกเรายึดเอามาตรฐานการแยกของ กทม.ซึ่งในขณะนั้นมีการแยกขยะอยู่ 4 ประเภทคือ ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย แต่ปรากฏว่าแยกไปแยกมา คนของเราเกิดความสับสนไม่เข้าใจ สุดท้ายเราเลยออกแบบการแยกและทิ้งขยะให้เหมาะสมกับองค์กรของตัวเองโดยแยกถังขยะทั้งหมดออกเป็น 6 แบบ ซึ่งขยะทุกถังมีทางไปของตัวเองหมด ขยะเศษอาหารในถังสีเทาเรานำมาทำเป็นสารปรับปรุงดิน บำรุงดินให้กับต้นไม้ในองค์กร ขยะกระดาษในถังสีฟ้าเราจะแยกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่ไม่ปนเปื้อนเราจะขายให้กับบริษัทกระดาษนำกลับไปรีไซเคิล ส่วนที่ปนเปื้อนไม่สามารถรีไซเคิลได้ก็จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเช่นเดียวกับถังสีเขียวที่เป็นขยะพลาสติกจำพวกแก้ว หลอด หรือถุงพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้เราจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนเช่นกัน ส่วนถังสีขาวที่มีขวดน้ำพลาสติกประเภทขวด PET กับถังสีเหลืองที่เป็นพวกโลหะ แก้ว อลูมิเนียมเราจะนำกลับไปรีไซเคิล ขณะที่ในส่วนของถังสีแดงหากเป็นพวกแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉายหรือโทรศัพท์มือถือเราก็จะส่งไปให้บริษัทที่เป็นพันธมิตรกันนำกลับไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือก็จะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธี นอกจากนั้นเรายังมีการสื่อสารให้พนักงานใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งมีโปรโมชั่นลดราคาเมื่อนำแก้วน้ำส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่ม ซึ่งถือเป็นการรณรงค์เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง”

จากองค์กรสู่ครอบครัว

หมุดหมายที่แท้จริงของบางซื่อโมเดลไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการจัดการขยะเพียงอย่างเดียว ในมิติที่ลึกลงไปกว่านั้นพวกเขาต้องการให้พนักงานทุกคนปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไปขยายผลการจัดการขยะที่ถูกต้องภายในครอบครัว

ภัสราภรณ์ เลาหะโชติ เป็นหนึ่งในพนักงานที่นอกจากให้คำแนะนำเพื่อนร่วมงานให้หันมาทิ้งขยะให้ถูกต้อง สาวสวยวัย 29 ยังกลับไปสอนคนที่บ้านให้จัดการขยะด้วยตัวเองอีกด้วย “เราเอาความรู้ที่ได้จากบางซื่อโมเดลไปบอกคนที่บ้านให้แยกขยะ อย่างตอนนี้อาม่าเราอายุ 85 แล้วท่านก็สนใจเรื่องนี้มาก โดยอาม่าจะแยกถุงกระสอบแขวนไว้ตรงหน้าต่างหลายๆ ถุง แต่ละถุงก็จะใส่ขยะแตกต่างกันออกไป บ้านเราที่ราชบุรีตอนนี้ทุกคนแยกขยะกันเป็นหมด ตั้งแต่อาม่าอายุ 85 ไปจนถึงหลานอายุ 3 ขวบ”

“เราอยากเห็นเมืองไทยทั้งประเทศลุกขึ้นมาจัดการเรื่องขยะ ไม่อยากให้หยุดแค่เอสซีจีไม่อยากให้หยุดแค่บางซื่อหรือไม่กี่องค์กร”

ปัจจุบันและอนาคต

สำหรับในปี 2020 นี้บางซื่อโมเดลยังคงเน้นย้ำที่เป้าหมาย ‘Zero Waste to Landfill’ โดยมีความตั้งใจที่จะจัดการให้ขยะไปบ่อฝังกลบต้องเป็นศูนย์ให้ได้ แน่นอนว่าการจะเป็นเช่นนั้นปัจจัยสำคัญคือพนักงานต้องทิ้งขยะให้ถูกถังแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

“ตัวเลขการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในตอนนี้สูงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันเรามีทิศทางการจัดการขยะที่ดีขึ้น เราสามารถลดจำนวนขยะลง ขณะเดียวกันก็สามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น” อังศุมา เครือเทพ Circular Economy Department Manager กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันในอนาคตอันใกล้นี้เธอได้จัดเตรียมถังสำหรับทิ้งน้ำจากแก้ว และขวดต่างๆ เอาไว้เพิ่มอีกถังหนึ่งแล้ว เพื่อหวังว่าจะลดขยะลงจากต้นทางให้เหลือศูนย์ให้ได้

ถึงเวลานี้คงยังไม่มีใครบอกได้หรอกว่าสิ่งที่อังศุมาและทุกคนวาดฝันไว้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยสิ่งที่คงอยู่แน่ๆ คือพวกเขาจะไม่มีวันล้มเลิกความตั้งใจอย่างเด็ดขาด

“ถ้ายังไม่สำเร็จ เราจะกลับมาปรับและทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม
แล้วเราจะเรียนรู้และทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะสำเร็จ”

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4 / 5. Vote count: 4

No votes so far! Be the first to rate this post.