พาทัวร์ (ทิพย์) ส่องไอเดียปังก่อนเปิดเทอม!  จัดการขยะในมหา’ลัย เขาทำไงกันนะ?

8 ธันวาคม 2021 3257 views

ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าต้องมีทั้งนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรอยู่รวมกันจำนวนมาก แม้ขนาดพื้นที่และสิ่งแวดล้อมจะต่างกัน แต่สิ่งที่ตามมาไม่แพ้กันก็คือปัญหาขยะที่เกิดขึ้นมหาศาล ถึงก่อนหน้านี้เพื่อนๆ จะต้องเรียนออนไลน์ แต่เพื่อให้พร้อมกับการกลับเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง ลองไปส่องดูซิว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีวิธีจัดการขยะอย่างไร เผื่อนำไปใช้เพื่อให้มหาวิทยาลัยของเรากลายเป็น #TrashlessSociety บ้าง… พร้อมแล้วไปทัวร์ (ทิพย์) กับเราเลย!

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่ามีทัศนียภาพสวยที่สุดของไทยและเอเชีย ทุกคนที่นี่จึงช่วยกันเต็มที่เพื่อรักษาความสวยงามนี้ไว้ โดยเฉพาะการร่วมกันจัดการขยะแบบปังไม่แพ้ใคร จนล่าสุด ได้เปิดตัวโปรเจคท์พัฒนาแอปพลิเคชันสุดปัง ดังไกลถึงต่างประเทศ! กับ “แอปจัดการขยะติดเชื้อ” ที่บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา เพราะในยุค New Normal แบบนี้ ขยะติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือชุดตรวจ ATK ก็มีล้นเมือง แอปฯ นี้ จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยจัดการปัญหาดังกล่าว ด้วยการติดตามขยะติดเชื้อแต่ละประเภทไปจนถึงการกำจัด ทำให้มีความมั่นใจได้ว่า ขยะติดเชื้อทุกถุงจะถูกจัดการอย่างถูกต้องและปลอดภัยตลอดกระบวนการ ถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าเจ๋งแค่ไหน คลิกอ่านต่อได้ที่นี่ https://bit.ly/3by6cua

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นมหาวิทยาลัยศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือที่เดินหน้าพัฒนาสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเริ่มต้นจากการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในรั้วมหาวิทยาลัย ได้รู้จักการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมทั้งมีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลครบวงจร” สุดเจ๋ง ที่เปลี่ยนขยะที่ยากจะจัดการอย่างขยะทั่วไป ขยะอนินทรีย์ และขยะชีวมวล ให้กลายเป็นพลังงานทดแทนที่มีประโยชน์ ทั้งก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล เชื้อเพลิงขยะ RDF หรือเชื้อเพลิงเขียว ช่วยลดการเผากำจัดที่สร้างมลพิษทำร้ายผู้คนได้ถึง 4,500 ตันต่อปี! และผลิตเป็นไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในศูนย์ ได้กว่า 26,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี! อยากรู้ว่าเค้าสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริงแบบนี้ได้ไง คลิกอ่านต่อได้ที่นี่เลย https://bit.ly/2Ybhql4

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยใจกลางกรุง ที่รวมพลังนิสิต อาจารย์ และบุคลากรทุกภาคส่วน สร้าง “Chula Zero Waste” ถึงชื่อโครงการจะยิ่งใหญ่และชวนสงสัยว่าจะทำได้จริงหรือ แต่พวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นด้วยผลลัพธ์ที่จำนวนขยะทุกประเภทในมหาวิทยาลัยลดลง โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยการติดตั้งตู้กดน้ำให้ทุกคนพกแก้วน้ำส่วนตัวมาเอง และรณรงค์ให้พกถุงผ้า  ส่วนพวกเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหาร ก็ถูกนำไปทำเป็นปุ๋ย ด้วยเครื่อง Bio-Digester หรือแม้แต่กากกาแฟจากร้านค้า ก็จะถูกนำไปแปรรูปด้วยเช่นกัน ยังไม่หมดแค่นี้! เอกสารหรือกล่องกระดาษเหลือใช้จากสำนักงานและการเรียนการสอน ก็ถูกนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน รวมๆ แล้วส่งขยะไปเกิดใหม่ได้กว่า 493 ตันภายใน 4 ปี! ปรบมือให้ดังๆ ก่อนไปอ่านเพิ่มเติมคลิก  https://bit.ly/3jA6B4h

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยจำนวนคนที่มาก มีพื้นที่กว้างขวาง และมีหลายวิทยาเขต ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยากเปลี่ยนขยะจำนวนมากในมหาวิทยาลัยที่เคยไร้ค่า ให้กลับมามีค่าใหม่อีกครั้ง ด้วยการพัฒนาโครงการดีๆ มากมาย ทั้งการรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะทั่วมหาวิทยาลัย ไปพรัอมกับการจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อรับซื้อขยะรีไซเคิล สร้างรายได้กลับมาทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยอย่างแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” มาช่วยจัดการธนาคารขยะให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดเวลาในการกรอกข้อมูล แถมลดการใช้กระดาษในการจดบันทึก  หรือการร่วมมือของร้านสะดวกซื้อที่ลดการแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง พร้อมมีจุดบริการให้ยืมถุงผ้าใส่ของและนำมาวนคืนในครั้งถัดไปด้วย อยากรู้เพิ่มก็อ่านต่อได้ที่นี่เลย : https://bit.ly/3DS0mA6 , https://bit.ly/3jcvNNO

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ไม่ใช่แค่รณรงค์แยกขยะในมหาวิทยาลัย แต่พัฒนาให้กลายเป็นงานดีไซน์รักษ์โลกสุดว้าวได้ บอกเลยว่าเจ๋งจริง! ด้วยการฉีกกรอบแนวคิดเดิมๆ เพิ่มเติมไอเดียสู่การ Upcycling นำขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยากจะจัดการ อย่างซองขนมหรือซองกาแฟสำเร็จรูปที่มีความทนทานเป็นพิเศษ เพราะมีส่วนผสมหลายอย่างที่ป้องกันไม่ให้น้ำและอากาศเข้า ที่หากจะนำไป Recycle ก็จะต้องแยกชั้นซึ่งมีกระบวนการและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ มทร.ธัญบุรี ก็เกิดไอเดียเก๋ ลบข้อจำกัดเดิมๆ ด้วยการแปรรูปขยะเหล่านี้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แข็งแรงทนทาน แถมสวยงามแบบสุดๆ ทั้งแผ่นไม้กระดานเทียม หรือเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ต่างๆ ทั้งโซฟา หรือเก้าอี้สุดปัง อยากรู้ว่าเค้าทำได้ไงก็คลิปอ่านต่อได้ที่ https://bit.ly/3nWAaze 

เห็นมั้ยว่าไม่ว่าจะอยู่มหาวิทยาลัยไหน แต่ถ้าหากทุกคนร่วมมือช่วยกันลบคำว่า “ขยะ” ออกไป ด้วยการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ก็จะช่วยให้มหาวิทยาลัยของเราน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ เพราะเกิดป็น #TrashlessSociety ที่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากการมีส่วนร่วมของทุกคนนั่นเอง

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 2.6 / 5. Vote count: 5

No votes so far! Be the first to rate this post.