ส่อง How to ดีๆ จาก 4 ชุมชน ที่ส่งน้องขยะกลับบ้านเกิดใหม่ได้สุดปัง

30 พฤศจิกายน 2021 4469 views

เมื่อขยะเกิดไม่เลือกที่ พี่ๆ คนดีเลยต้องช่วยกันจัดการ! เพื่อส่งทรัพยากรใช้แล้วไปหมุนเวียนเกิดใหม่ และทำให้บ้านและชุมชนที่เราแคร์กลับมาสวยงามน่าอยู่ดังเดิม ซึ่งแต่ละชุมชน ต่างก็มีวิธีการในแบบฉบับของตนเองในการสร้างจิตสำนึกและชักชวนคนในชุมชนมาร่วมจัดการขยะ เพราะความสำเร็จไม่สามารถเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนไม่ว่าเพศไหน วัยไหนก็ตาม เพราะยุคนี้ #TrashlessSociety is Everywhere… แต่ละชุมชนจะมีไม้เด็ดอะไร มาทัวร์ทั้ง 4 ชุมชน จาก 4 ภาคไปพร้อมกันเลย

ภาคเหนือ : บ้านสาและเมืองมาย จ.ลำปาง

ด้วยความที่ ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย ใน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง มีป่า ภูเขา แม่น้ำอุดมสมบูรณ์ ชุมชนจึงอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด อาศัยการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ยังชีพ แต่เมื่อการพัฒนาชุมชนเพิ่มขึ้น วิถีชาวบ้านก็เปลี่ยนไป เกิดขยะมูลฝอยจำนวนมากที่ขาดการจัดการอย่างถูกวิธี กระทบต่อวิถีชีวิตที่เคยสุขสงบ เมื่อปัญหามากขึ้น SCG จึงนำความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาถ่ายทอดให้คนในชุมชน เมื่อผสานเข้ากับความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน จึงเกิดโครงการจัดการขยะมาตั้งแต่ปี 2540 ณ ต.บ้านสาเป็นแห่งแรก ก่อนขยายผลไปสู่ชุมชน ต.เมืองมายที่อยู่ใกล้เคียง จากมือสมัครเล่นที่เริ่มจัดการขยะในชีวิตประจำวันแบบบ้านใครบ้านมัน จนเทิร์นโปรสู่มืออาชีพกันทั้งชุมชน และได้เป็น “ต้นแบบชุมชนเชิงนิเวศ ECO CITY” ที่เห็นความสำคัญของการคัดแยกและสร้างมูลค่าให้ขยะได้เกิดใหม่ ผ่านโครงการดีๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารขยะรีไซเคิล ศูนย์จัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โครงการชุมชนปลอดขยะอันตราย และโครงการทำน้ำหมักจากขยะเปียกสุดปัง จนสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น เกิดเป็นชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจขยะกันทุกครัวเรือน ตามส่องกันต่อได้ที่นี่ https://bit.ly/2Z6vEEE

ภาคกลาง : บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ถ้านึกถึงเมืองเศรษฐกิจของ จ.ราชบุรี อ.บ้านโป่ง ก็นับว่าติดโผเป็นอันดับต้นๆ ก็ว่าได้  เพราะที่นี่มีโรงงานอุตสาหกรรมถึงเกือบ 600 แห่ง และมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 173,000 คน แน่นอนว่าเมื่อคนเยอะ ขยะก็เยอะตามไปด้วย และหากไม่จัดการขยะให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง ก็อาจทำให้กระทบความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากเป็นวงจรต่อไป “บ้านโป่งโมเดล” จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน โดยเริ่มจากการส่งเสริมองค์ความรู้และสร้างจิตสำนึกที่ดีให้คนในชุมชนด้วยการจัดอบรมของภาครัฐ การให้ความร่วมมือของภาคเอกชน หนึ่งในนั้นคือ SCGP ที่เข้าไปให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อนำมาหมุนเวียนให้เกิดเป็นทรัพยากรใหม่ที่ใช้ได้อย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน จากหนึ่งชุมชน ขยายสู่ชุมชนข้างเคียง จนเปลี่ยนเมืองแห่งนี้ให้มีแต่ความสะอาดน่ามอง สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อใจทุกคน อยากรู้เคล็ดลับความปังของชุมชนนี้เพิ่ม คลิกเลย https://bit.ly/2WNNUAY

ภาคใต้ : บ้านนาไม้ไผ่  จ.นครศรีฯ

จากปัญหาในชุมชนที่มีทั้งเด็กด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ขาดคนดูแล ไปจนถึงปัญหาขยะ ทำให้เด็กๆ ในชุมชนบ้านนาไม้ไผ่ จ.นครศรีธรรมราช ฮึดสู้ขึ้นมารวมตัวกันเป็นแกนนำ เกิดเป็นพลังเด็กที่ไม่เล็กเท่าขนาดตัวในชื่อกลุ่ม “เยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ” ชักชวนพี่ป้านาอาลุงป้าข้างเคียง สร้างการมีส่วนร่วมของ “เด็ก-ผู้ใหญ่” ลงมือทำให้เห็นว่าการจัดการขยะอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ชุมชนสะอาด น่าอยู่ และสร้างความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้นมากแค่ไหน จนทำให้ทุกคนร่วมใจกันสร้าง “ชุมชนไร้ (Like) ขยะ” ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้สำเร็จ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในชุมชนด้วยการจัดการอย่างถูกวิธีแล้ว คนในชุมชนก็สามารถนำขยะไปสร้างรายได้กลับมาช่วยเหลือดูแลคนในชุมชนกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการขายขยะที่คัดแยก การนำไปประดิษฐ์เป็นของใช้ หรือส่งต่อไปผลิตเป็นเชื้อเพลงได้อีกด้วย ทำให้ล่าสุดพวกเขาได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ครั้งที่ 20 ประเภทกลุ่มเยาวชน สร้างความภูมิใจ และเป็นแรงกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมจัดการขยะต่อเนื่อง ถ้าอยากรู้ว่ามีกิจกรรมอะไรอีก คลิกอ่านได้เลย https://bit.ly/2V7Hzjw

ภาคตะวันออก : ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ และชุมชนเขาไผ่ จ.ระยอง

ถ้านึกถึงจังหวัดระยอง นอกจากทะเลสวยใสแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมากเพราะเป็นแหล่งของโรงงานอุตสาหกรรมและศูนย์กลางการขนส่ง จนทำให้เกิดปัญหาขยะตามมา คนในชุมชนในแถบมาบตาพุด จึงหันมาผสานพลังจัดการขยะกันทั้งบ้าน วัด โรงเรียน เพื่อปลุกปั้นต้นแบบ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ด้วยการเริ่มจากการคัดแยกขยะใน “บ้าน” แล้วรวบรวมขยะนำไปขายเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กในชุมชน โดยมีแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า’ (KoomKah) ที่พัฒนาโดยทีมงานธุรกิจเคมิคอลส์ SCG มาช่วยจัดการธนาคารขยะ ขณะที่ “วัด” ซึ่งเป็นแหล่งรวมขยะและของเหลือใช้จำนวนมากจากญาติโยมที่เข้ามาแวะเวียน ก็มีการรณรงค์ให้ญาติโยมร่วมลดขยะและคัดแยกขยะด้วย ส่วนขยะที่มีมากใน “โรงเรียน” อย่างถุงนมโรงเรียน ยังถูกคัดแยกส่งให้ SCG นำไปแปลงร่างเป็นเก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล คืนกลับมาสร้างความสุขให้เด็กๆ ในโรงเรียนอีกด้วย ปังขนาดนี้ จึงพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนอื่นๆ นำไปลองทำตามแล้วล่ะ อยากรู้เคล็ดลับดีๆ ของชุมชนนี้อีกก็คลิกเลย https://bit.ly/3DOFhGG

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าทุกภาค ทุกชุมชนในไทย ร่วมกันจัดการขยะได้แบบนี้ บอกเลยว่าอนาคต #TrashlessSociety ของประเทศเรา คงเกิดได้ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน

#SCG #เปลี่ยนเพื่อโลกที่คุณแคร์ #TrashlessSociety #SCGCircularWay #CircularEconomy #เศรษฐกิจหมุนเวียน

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 2 / 5. Vote count: 3

No votes so far! Be the first to rate this post.