บ้าน
ด้วยความที่เป็นชุมชนกึ่งเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมทำให้มีปริมาณขยะจำนวนมาก ส่งผลให้ชุมชนในแถบมาบตาพุดต้องหันหน้ามาช่วยกันดูแลเรื่องการจัดการขยะเป็นพิเศษ
“เราคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรดี สุดท้ายจึงคิดว่าให้คนในชุมชนคัดแยกขยะที่ขายได้กับขายไม่ได้เสียก่อน ถ้าเราทำได้ปัญหาขยะก็จะหมดไป ทีนี้ชุมชนของเราก็จะสะอาดและเป็นระเบียบขึ้น”
แนวคิดของจำลองหอมหวล นับเป็นการแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดและได้ผลดี ประธานชุมชนโขดหิน 2 จัดการนำอวนซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในพื้นที่ทำมาเป็น ‘ห่วงรักษ์ พักขยะ’ ก่อนจะนำไปแจกจ่ายให้กับบรรดาสมาชิกในชุมชนเพื่อนำไปใส่ขยะที่ขายได้อย่างเช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระดาษ ขวดแชมพู ฯลฯ
ปัจจุบันสมาชิกของชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ จังหวัดระยอง ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพและชุมชนเขาไผ่มีร่วม 200 กว่าครัวเรือน โดยคุณจำลองมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มตัวเลขให้มากขึ้นไปอีก คงเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากบ้านทุกหลังภายในชุมชนจะหันมาคัดแยกขยะด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามการจัดการขยะของที่นี่ไม่ได้เริ่มต้นแค่ที่บ้าน หากยังแต่ยังแผ่ขยายไปยังสถานที่อื่น ๆ ในชุมชน
‘วัดโขดหิน’ คือหนึ่งในนั้น
วัด
วัดโขดหิน (ปักษีคีรีราม) นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจ ยังเป็นแหล่งรวมขยะและของเหลือใช้จำนวนมากจากญาติโยมที่เข้ามาแวะเวียน เรียกว่าไม่ง่ายเลยที่จะจัดการขยะทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเข้ารูปเข้ารอยอย่างที่ควรจะเป็น
“อาตมาสังเกตว่าเวลาที่ญาติโยมมาวัดเอาอาหารมาถวาย เขาจะห่อใส่ถุงพลาสติกกันมาแล้วมาแกะใส่จาน ถุงพลาสติกก็เหลือทิ้งจำนวนมาก อาตมาก็เลยบอกญาติโยมให้ทำบุญด้วยการล้างถุงพลาสติกเหล่านี้ให้สะอาด แล้วก็แยกขยะประเภทต่าง ๆ ให้วัด ทางวัดก็จะเอาขยะนี้ไปขายให้กับคนที่มารับซื้อ เงินที่ได้มาก็นำมาเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็ก ๆ และเณรที่มาบวช ถือว่าได้ทำบุญร่วมกัน ซึ่งญาติโยมก็ให้ความร่วมมือกันดี”
นอกเหนือจากการลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วพระอาจารย์มหานักรบอัคคธัมโม เจ้าอาวาสวัดโขดหิน ยังจัดการขยะใบไม้ ขยะเศษอาหาร ถังสังฆทาน และจีวรลดอย่างได้ผลดีเกินคาดอีกด้วย
“เราสร้างเสวียนสำหรับเก็บใบไม้เอามาทำปุ๋ยอินทรีย์และดินหอม ส่วนพวกขยะเศษอาหารชาวบ้านเขาก็จะเอาไปเลี้ยงสัตว์ขณะที่ถังสังฆทานทางโรงเรียนในพื้นที่เขาได้มาขอนำไปใช้แยกขยะภายในห้องเรียนทุกชั้น ส่วนจีวรที่พระมาบวชใหม่เหลือทิ้งไว้ที่วัด อาตมาก็ถือโอกาสนี้ให้ชาวบ้านนำมาตัดเย็บเป็นหน้ากากใส่ป้องกันโรคโควิด-19 โดยได้ทำการเขียนยันต์ปลุกเสกเพิ่มเข้าไปเพื่อเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านได้พากันหันมาใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรค”
โรงเรียน
ในช่วงแรกที่ บุษบา ธนาภรณ์ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 มีปัญหาขยะล้นโรงเรียน ด้วยเหตุนี้เธอจึงไปขอถังสังฆทานมาจากวัดและนำมาทำถังแยกขยะในห้องเรียนทุกห้อง
“ขยะที่แยกออกมาทั้งหมดมี 4 ประเภทคือ 1.ไม้ 2.กระดาษ 3.พลาสติก 4.ถุงนม จากนั้นเราก็ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ อย่างไม้เราก็ให้นักเรียนเอามาทำของประดิษฐ์ ขณะที่พลาสติกที่เหลือใช้เราก็นำมาทำเป็นแจกัน เป็นกล่องดินสอ ส่วนกระดาษจะนำมาทำเป็นสมุดบันทึก ทำเป็นหมวกเทวดานำไปถวายให้กับทางวัดเพื่อใช้เวลาไปประกอบพิธีทางศาสนา ส่วนถุงนมเราก็ให้เด็ก ๆ ล้างให้สะอาดแล้วก็ส่งให้ทาง SCG นำไปทำโต๊ะและเก้าอี้รีไซเคิล”
ผลจากการจัดการขยะอย่างถูกต้องเหมาะสมทำให้ขยะภายในโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 ลดจำนวนลงทันที อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งหนึ่งที่นอกจากจะไม่ได้ลดลงเหมือนจำนวนขยะแต่กลับงอกงามเพิ่มขึ้น นั่นก็คือจิตสำนึกในการจัดการขยะของเด็ก ๆ ทุกคน
เด็กๆทุกคนที่ไม่ใช่แค่เป็นอนาคตของชาวโขดหินหากแต่ยังเป็นอนาคตของประเทศไทย
ณภัทร ภูมิรัตนโชติ – ผู้จัดการธนาคารขยะแห่งชุมชนเขาไผ่
“แอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า’ (KoomKah) จากทาง SCG มาช่วยในการจัดการขยะ การทำงานระหว่างธนาคารขยะของเรากับทางชุมชนก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนในชุมชนก็ต่างให้ความสนใจ ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ธนาคารขยะชุมชนธรรมดา ๆ จะมีดิจิทัลอะไรแบบนี้มาใช้ด้วย และผลที่ได้คือสมาชิกธนาคารขยะของเราเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเลยทีเดียว”
“เราเห็นว่าการจัดการขยะไม่ควรเป็นหน้าที่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ควรเป็นหน้าที่ร่วมกันของเราทุกๆคน”