ไขรหัสความสำเร็จ SCG Circular Way ทางออกวิกฤตปัญหาขยะ

2 ตุลาคม 2020 2566 views

Highlight

  • รู้ไหม? จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยระบุว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเฉลี่ยเกิดขึ้นปีละ 27.8 ล้านตัน
  • ตัวอย่างการจัดการขยะในองค์กร บางซื่อโมเดล สู่ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะในชุมชน
  • กุญแจสำคัญของการจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน คือ ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในสังคม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหา “ขยะล้นโลก” ที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคและถูกทิ้งอย่างไม่ถูกวิธี รวมถึงการจัดการขยะด้วยการนำไปฝังกลบและเผา เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสร้างมลภาวะต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างไม่รู้ตัว

เอสซีจี ตระหนักถึงปัญหาขยะในประเทศไทย จึงได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ ควบคู่กับกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป ซึ่งเอสซีจีได้ผลักดันแนวคิดและแนวทางปฏิบัติให้เข้ากับองค์กรและชุมชนรอบด้าน จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมโครงการต่าง ๆ และความร่วมมือเพื่อหาโซลูชันร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับรหัสความสำเร็จของ SCG Circular Way ทางออกในการแก้วิกฤตปัญหาขยะกัน

เริ่มต้นในองค์กร ขยายผลสู่ชุมชน

โครงการจัดการขยะในองค์กร “บางซื่อโมเดล (Bang Sue Model)” เอสซีจี ได้ประยุกต์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way นำมาใช้กับการจัดการขยะในองค์กร ควบคู่กับการให้ความสำคัญของการหมุนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่ (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ โดยผ่านกระบวนการที่เหมาะสม ซึ่งโมเดลนี้รองรับการจัดการขยะให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และช่วยส่งเสริมพฤติกรรมของพนักงานภายใต้แนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”

จากความสำเร็จภายในองค์กรจนนำไปการต่อยอดกับชุมชนมาบตาพุด จ.ระยอง ภายใต้ชื่อ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ที่เชื่อมโยงระหว่าง บ้าน-โรงเรียน-วัด-ธนาคารขยะ เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรและขยะตั้งแต่ต้นทาง มีเป้าหมายคือเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล ควบคู่กับการลดการฝั่งกลบขยะ โดยการเข้าไปให้ความรู้สร้างความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชน สู่สมาชิกชุมชน ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินโครงการมาแล้ว 1 ปี สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึง 6,500 กิโลกรัม

นวัตกรรม : โซลูชันเพื่อความยั่งยืน

นอกเหนือจากการเป็นองค์กรต้นแบบเรื่องความยั่งยืน ที่ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการส่งเสริมและสร้างค่านิยมที่ดีให้กับคนในองค์กรและขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงแล้ว เอสซีจียังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการขับเคลื่อน คือ “คุ้มค่า (KoomKah)” เว็บแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การบริหารจัดการธนาคารขยะแบบครบวงจรและมีประสิทธิภาพ โดยทำควบคู่กับโครงการ “บางซื่อโมเดล (Bang Sue Model)” และ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ซึ่งช่วยบันทึกข้อมูลขยะและจำนวนยอดเงินจากการซื้อขาย มีระบบช่วยจัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้มสะสมคะแนน และช่วยทำรายงานการรับซื้อและขายขยะ ผู้ใช้งานสามารถเลือกช่วงเวลาประเมินผล และดาวน์โหลดออกมาในรูปแบบ Excel

นอกจากนี้ เอสซีจี ยังคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมชุดบำบัดน้ำเสีย โดยการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมให้ตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ดังนี้

  • ถังดักไขมัน DIY ผลิตจากวัสดุที่หาซื้อทั่วไป สามารถประกอบได้เองในครัวเรือนสำหรับกรองอาหาร  และช่วยแยกไขมันออกจากน้ำก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำ
  • Aquonic 600 ช่วยจัดการและปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากห้องน้ำและน้ำเสียในครัวเรือนด้วยกระบวนการทางชีวภาพและเคมีไฟฟ้า ทำให้น้ำที่ได้ปราศจากเชื้อโรค กลิ่น และสี สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ HDPE-Bone นวัตกรรมทุ่นกักขยะที่ผลิตจากพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE ทำให้ทุ่นฯ สามารถลอยน้ำได้ดี และจัดเก็บขยะลอยน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทนทานต่อรังสียูวี มีอายุการใช้งาน 25 ปี ซึ่งสามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างคุ้มค่า ขณะนี้ติดตั้งไปแล้ว 24 จุด รวม 13 จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถกักขยะได้กว่า  40 ล้านตัน ลดปัญหาขยะไหลลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดี

สร้างความร่วมมือขยายผลแนวคิด

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเอสซีจี มุ่งมั่นในการปลูกฝังและให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way ให้เกิดขึ้นกับทุกคนในองค์กรและส่งผ่านแนวคิดนี้ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งความสำเร็จในการผลักดันแนวคิดที่เป็นมิตรกับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในระดับประเทศเอสซีจีได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับ กรมทรัพยาการชายฝั่งทะเล (ทช.) และความร่วมมือระดับนานาชาติ เอสซีจีได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรต่าง ๆ อาทิ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะในทะเลผ่านการสร้างโซลูชันจัดการขยะ และ The Ocean Cleanup องค์กรสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในไทย

ความร่วมมือร่วมใจและปลูกจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกันเป็นอีกหนึ่งรหัสสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตขยะ ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือประชาชนผ่านโครงการต่าง ๆ และการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อหานวัตกรรมและโซลูชันให้ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพตามแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่วันนี้คุณก็เริ่มเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เพียง #ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก เพื่อให้ทรัพยากรถูกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 5 / 5. Vote count: 2

No votes so far! Be the first to rate this post.