บางซื่อโมเดล

4 มิถุนายน 2020 13291 views

Highlight

  • บางซื่อโมเดล คือโครงการบริหารจัดการขยะ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของเอสซีจี ที่เริ่มต้นจากภายในเอสซีจีสำนักงานใหญ่บางซื่อ และขยายผลต่อไปยังครอบครัว ชุมชนในย่านบางซื่อและรอบโรงงาน ตามแนวทาง SCG Circular Way
  • เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งของ Circular Economy ที่เริ่มจากภายในสู่ภายนอก ผ่านการใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
  • ใช้ให้คุ้ม: ใช้ทรัพยากรหรือสิ่งของที่มีให้คุ้มค่า ซึ่งหลายอย่างเราสามารถใช้ซ้ำได้
  • แยกให้เป็น: คัดแยกขยะหรือสิ่งที่ต้องการทิ้งให้ถูกประเภท เพื่อความง่ายต่อการนำไปจัดการ
  • ทิ้งให้ถูก: ทิ้งให้ลงตามสีของถังในแต่ละประเภทที่แตกต่างกันทั้ง 6 ถัง เพื่อให้นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
  • หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่: นำทรัพยากร หรือขยะที่ผ่านการคัดแยกให้ถูกประเภท กลับมาชุบชีวิต ให้สามารถใช้งานได้อีกครั้ง
  • โรงอาหารเอสซีจีจะมีถังสำหรับใส่เศษอาหารให้กับพนักงาน แล้วนำเศษอาหารไปทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้

ถ้าพูดถึงคำว่า “โมเดล” เราคงนึกถึงการเป็นตัวอย่าง หรือต้นแบบของสินค้าที่สามารถจับต้องได้ ทำขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่นได้สัมผัส แต่ถ้าพูดถึง “บางซื่อโมเดล” กลับไม่ใช่ตัวอย่างของสินค้าที่มาจากบางซื่อแต่มันคือจุดเริ่มต้นเล็กๆที่เริ่มต้นที่บางซื่อทำเพื่อหวังให้โลกของเรามีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นและเป็นแนวทางที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แล้วบางซื่อโมเดลคืออะไรกันแน่ เรามีคำตอบให้

บางซื่อโมเดล (Bang Sue Model)  คือโครงการบริหารจัดการขยะ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยเริ่มจากภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเชื่อมต่อขยะกลับเข้าสู่ระบบตามหลักการ ผลิตใช้วนกลับ โดยมีหลักการง่าย ๆ เริ่มต้นที่การแยกสิ่งที่มีมูลค่า สามารถใช้ซ้ำได้ออกมา เพื่อส่งกลับเข้าวงจรการผลิต หรือรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกส่วนคือของเสียที่ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นขยะเศษอาหารนำไปทำปุ๋ย ทำเชื้อเพลิง หรือขยะอันตรายที่มีสารพิษก็ต้องนำไปทำลายโดยผู้เชี่ยวชาญให้ถูกวิธี

เพราะการบริหารจัดการขยะนั้นต้องเริ่มที่การสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะ และทิ้งลงถังให้ถูกประเภท เอสซีจีจึงได้ให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับพนักงาน เพื่อให้เป็นต้นแบบที่ดีด้านบริหารจัดการขยะ ตามแนวทาง SCG Circular Way ที่จะช่วยให้เราและโลกอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และปลูกฝังหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพนักงานผ่านเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ดังนี้

1. ใช้ให้คุ้ม 

ใช้ทรัพยากรหรือสิ่งของที่มีให้คุ้มค่า ซึ่งหลายอย่างในชีวิตประจำวันของเราสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง เช่น การพกกล่องข้าวไปทานอาหารกลางวัน นำกระติกน้ำส่วนตัวไปซื้อกาแฟหรือเครื่องดื่ม หลอดสเตนเลสแบบพกพาที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งแล้วล้างเก็บเป็นของส่วนตัวได้ ถุงกระดาษที่ใช้ใส่ของได้หลายครั้ง รวมถึงถุงพลาสติกที่พับใช้ซ้ำ หรือแชร์ให้เพื่อนใช้ร่วมกันได้

2. แยกให้เป็น

เริ่มจากการคัดแยกขยะ หรือสิ่งที่ต้องการทิ้งให้ถูกประเภท เพื่อความง่ายต่อการนำไปจัดการ ไม่ว่าจะเป็น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระดาษ หรือการแยกเศษอาหารออกจากภาชนะ แม้ว่าการคัดแยกขยะจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ว่าสามารถทำให้จัดการขยะได้ง่ายขึ้น

3. ทิ้งให้ถูก

นอกจากจะแยกให้ถูกตามประเภทแล้ว การทิ้งให้ถูกก็เป็นสิ่งสำคัญในการจัดการขยะ เริ่มจากการทิ้งให้ลงตามสีของถังในแต่ละประเภท แบ่งออกเป็น 6 ถัง ดังนี้

  • ถังเทา สำหรับขยะเศษอาหาร น้ำ เปลือกผลไม้ ฯลฯ ซึ่งย่อยสลายได้
  • ถังฟ้า สำหรับขยะกระดาษปนเปื้อน ทิชชู กล่องนม ไม้เสียบลูกชิ้น และตะเกียบ
  • ถังเขียวสำหรับขยะพลาสติก กล่องโฟม ที่ล้างทำความสะอาดแล้วก่อนทิ้งลงในถัง
  • ถังขาว สำหรับขยะขวดน้ำพลาสติก PET เท่านั้น เพราะนำไปรีไซเคิลต่อได้ง่าย 
  • ถังเหลือง สำหรับขยะโลหะและแก้ว เช่น กระป๋องเครื่องดื่ม ขวดแก้ว
  • ถังสีแดง สำหรับขยะอันตราย ต้องการการจัดการหรือทำลายทิ้งโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ

4. หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ 

เป็นการนำเอาทรัพยากรที่เราได้ใช้ให้คุ้ม และขยะที่ผ่านการคัดแยกให้ถูกประเภท  แล้วทิ้งให้ถูกถังกลับมาชุบชีวิต กลับมามีประโยชน์สามารถใช้งานได้อีกครั้งอย่างเช่น ที่โรงอาหารเอสซีจีจะมีถังสำหรับใส่เศษอาหาร แล้วนำเศษอาหารที่รวบรวมได้ในแต่ละวันไปทำเป็นสารปรับปรุงดิน หรือปุ๋ย แล้วนำกลับมาใช้กับต้นไม้ภายในเอสซีจีบางซื่อ รวมถึงการนำถุงปูนที่รอการทำลายมาบวกเข้ากับความเป็นแฟชั่น จนได้เป็นกระเป๋าถุงปูนนั่นเอง

“บางซื่อโมเดล” มีจุดเริ่มต้นที่เอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ และได้ขยายผลต่อไปยังชุมชนในพื้นที่รอบบางซื่อ โดนเอสซีจีเข้าไปให้ความรู้ เพื่อให้ชุมชนได้นำแนวทางไปประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าใต้สะพานสูงข้างเอสซีจี วัดธรรมมาภิตาราม ชุมชนบางซื่อ โรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย2 และขยายผลสู่อีก 4 โรงเรียนรอบบางซื่อ หรือแม้กระทั่งสถานีรถไฟฟ้า MRT บางซื่อ ก็ถูกเนรมิตให้เป็นสถานีรักษ์โลก ที่มีการให้ข้อมูลความรู้ในการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” กับผู้ใช้บริการ MRT และมีจุดรับบริจาคขยะที่นำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น ถุงพลาสติก ฝาพลาสติก ฯลฯ เพื่อนำกลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ บางซื่อโมเดล ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี เช่น โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ที่ส่งต่อหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและ SCG Circular Way ให้กับชุมชน โดยเชื่อมต่อบ้าน วัด โรงเรียน รวมถึงการมีธนาคารขยะและมีเครื่องมือดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการขยะอีกด้วย

บางซื่อโมเดล แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นจากภายในองค์กร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของการทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและยังสามารถขยายผลต่อยอด ส่งต่อแรงบันดาลใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นได้ แน่นอนว่าการทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่สามารถทำได้คนเดียว แต่ต้องร่วมมือกับทุกคน ทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนทรัพยากรที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตอยู่ในขณะนี้ และทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น

วันนี้ เพื่อน ๆ ได้ใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีให้คุ้ม แยกขยะให้ถูกประเภท ทิ้งให้ถูกที่ทาง แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งแล้วหรือยัง?

ถ้ายังไม่เริ่ม เรามาเริ่มไปด้วยกันนะ

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.4 / 5. Vote count: 13

No votes so far! Be the first to rate this post.