ชุมชนบ้านรางพลับ – ‘เราจัดการขยะเท่ากับเราจัดการชีวิต’

5 กุมภาพันธ์ 2020 14781 views

Highlight

  • ‘รางพลับ’ คือชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรีครั้งหนึ่งหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีขยะจำนวนมากผู้คน 1,236 ชีวิตจาก 358 หลังคาเรือนยังไม่รู้จักการคัดแยกขยะการเผชิญกับทางสัญจรที่เต็มไปด้วยขวดและถุงพลาสติกที่ถูกโยนทิ้งเกลื่อนกลาดและการรุกรานของโรคไข้เลือดออก
  • ทว่าในปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นไปในทางตรงกันข้ามบ้านรางพลับกลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ขึ้นชื่อเรื่องความสะอาดและเป็นต้นแบบในเรื่องการจัดการขยะพวกเขากวาดรางวัลชุมชนดีเด่นทั้งในระดับประเทศและในระดับจังหวัดมามากมายนับไม่ถ้วน
  • อะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้มากมายขนาดนี้ขยับสายตาของคุณเข้ามาใกล้ๆแล้วร่วมหาคำตอบไปด้วยกัน

ก่อนจะเป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการขยะได้อย่างดีเยี่ยม ‘บ้านรางพลับ’ เคยเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยความสกปรก 

      ข้อมูลจากเทศบาลตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี บ่งบอกว่าในแต่ละเดือน พื้นที่หมู่ 1 บ้านรางพลับ มีจำนวนขยะมากถึง 12 ตันต่อเดือน และหากขยายเวลาออกเป็นรายปี ตัวเลขขยะในพื้นที่จะพุ่งสูงขึ้นไปถึงเกือบ 150 ตัน ถ้านำมาเทรวมกัน บ้านรางพลับคงมีขยะกองสูงท่วมเป็นภูเขาเลากา 

      “เมื่อก่อนเวลาที่เทศบาลมาเก็บขยะในหมู่บ้านของเรา พวกเขาใช้เวลาร่วม 3-4 ชั่วโมง กว่าจะเก็บเสร็จ เจ้าหน้าที่แต่ละคนแบกขยะกันจนหลังแอ่น แล้วกลิ่นขยะนี่ก็เหม็นคลุ้งไปทั่วหมู่บ้าน เมื่อก่อนเทศบาลเขาจะมาเก็บขยะสัปดาห์ละ 2-3 วัน เขาเก็บไปวันเดียววันต่อมาขยะก็ล้นถังอีกแล้ว พอขยะล้นถังแต่ละบ้านก็เริ่มมีการเลื่อนถังขยะไปไว้ที่หน้าบ้านคนอื่น ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่พอใจกันขึ้นมาอีก นอกจากนั้นโรคระบาดก็ตามมา คนบ้านรางพลับเป็นไข้เลือดออกกันเยอะมาก เนื่องจากน้ำขังจากขยะในหมู่บ้าน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลาย 

      “สุดท้ายมันกลายเป็นว่าขยะไม่ได้ทำให้บ้านของเราสกปรกอย่างเดียว แต่ยังทำให้คนรางพลับแตกแยก เกลียดชังและล้มป่วยไปพร้อมๆ กันอีกด้วย”

ในฐานะผู้นำ สนั่น เตชะดี ผู้ใหญ่บ้านรางพลับ ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แม้จะไม่ใช่คนบ้านรางพลับโดยกำเนิด แต่กว่าครึ่งชีวิตที่มาตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่นี่ หากจะบอกว่าเขาเองได้กลายเป็นคนรางพลับเต็มตัวก็คงไม่ผิดนัก 

       ผู้ใหญ่สนั่น มองว่าขยะคือต้นตอของทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากจัดการปัญหาขยะให้ลดลงได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็จะทุเลาเบาบางลงไปด้วย อย่างไรก็ตามทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลากว่าจะพบเจอความสำเร็จ ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย ในช่วงแรกผู้นำชุมชนวัย 56 ปี ก็มีสภาพไม่ต่างอะไรจากคนตาบอดคลำช้าง

      “เรารู้แต่เพียงว่าต้องจัดการเรื่องขยะ แต่ไม่รู้วิธีการจัดการที่ถูกต้องสำหรับหมู่บ้านเรา ว่ามันต้องเริ่มจากตรงไหน เราไปดูงานที่ต่างจังหวัดเห็นหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จเขามีวิธีจัดการเรื่องแยกขยะ เราก็ทำโครงการแยกขยะบ้าง แต่ปรากฎว่าแยกไป 2 อาทิตย์ขยะก็กลับมาล้นถังแบบเดิม เราจึงกลับมาคิดทบทวนใหม่ ก่อนจะพบว่าปัญหาของหมู่บ้านเราจริงๆ มันอยู่ที่ถังขยะ ตราบใดที่ยังมีถังขยะอยู่ชาวบ้านก็จะไม่จริงจังในการแก้ปัญหา คิดว่ายังไงก็มีที่ทิ้งอยู่ดี แต่ถ้าไม่มีที่ให้ทิ้งขยะแล้ว เขาจะคิดมากขึ้นว่าอะไรควรทิ้ง อะไรไม่ควรทิ้ง

      “เราเชื่อว่าแต่ละชุมชนมีวิธีแก้ปัญหาของตัวเองไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้คนเป็นผู้นำต้องมองให้ออกว่า วิธีการใดเหมาะสมกับชุมชนของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องจริงจังในการแก้ปัญหา แรกๆ อาจจะพลาดอาจจะผิดบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราไม่ย่อท้อ และเอาจริง ผมเชื่อว่าสุดท้ายมันจะสำเร็จ”

      ผู้ใหญ่สนั่นเดินหน้าเอาจริงทันที โดยการเจรจากับทางเทศบาลให้เก็บถังขยะในหมู่บ้านกลับไปให้หมด พร้อมกำชับอย่างหนักแน่นว่าหากชาวบ้านมาเจรจาขอถังขยะคืนในภายหลัง ห้ามนำถังขยะกลับไปตั้งคืนให้เด็ดขาด หากไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ต้องเก็บขยะจนหลังแอ่น 3-4 ชั่วโมงเหมือนเดิมอีก

      ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่จะหักด้ามพร้าด้วยเข่าไปเสียทั้งหมด หากแต่ในช่วงแรกผู้ใหญ่สนั่นค่อยๆ ให้ชาวบ้านปรับตัวด้วยการแจกถุงดำให้ใช้แทนถังขยะไปก่อน ก่อนที่ให้เลิกใช้อย่างเด็ดขาดในเวลาต่อมา แน่นอนว่าช่วงเริ่มต้นอาจมีเสียงต่อต้านจากลูกบ้านอยู่บ้าง ทว่าในเวลาต่อมาเสียงเหล่านั้นก็เงียบสงบลง

      “พอไม่มีที่ทิ้ง พวกเขาก็เริ่มแยกขยะกันอย่างจริงจัง พอเป็นอย่างนั้น ขยะก็เหลือน้อย เราเองก็ออกมาตรการเลยว่า ขยะแต่ละบ้านที่จะทิ้งในแต่ละสัปดาห์ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัม เราถือกิโลเดินชั่งตามบ้านทีละหลังเลย ต่อมาเมื่อขยะน้อยลง เราก็บอกเทศบาลให้มาเก็บขยะแค่อาทิตย์ละครั้งพอ โดยเขาจะมาเก็บในทุกเช้าวันจันทร์”

      จากที่เคยแบกขยะหลังแอ่น 3-4 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 2-3 วัน กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ของทางเทศบาลใช้เวลาในการเก็บขยะที่บ้านรางพลับ 358 หลังคาเรือน ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงเพียงแค่วันจันทร์เท่านั้น มิหนำซ้ำขยะที่ใส่ถุงวางตั้งอยู่หน้าบ้านแต่ละหลัง ยังเบาราวกับปุยนุ่น รวมทั้งยังคัดแยกเอาไว้ให้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

      การจัดการขยะของบ้านรางพลับ จะยึดเอานโยบาย 3 R เป็นหลัก โดยข้อแรกคือ Reduce หรือ การลดการใช้ พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่จะทำให้ขยะเพิ่มขึ้นมา คนรางพลับจะงดใช้ทันที ข้อสอง Reuse การใช้ช้ำ อะไรที่ใช้ไปแล้วพวกเขาจะนำกลับมาใช้ใหม่จนกว่าจะใช้ไม่ได้อีก และข้อสุดท้าย Recycle ขยะส่วนนี้ชาวบ้านจะแยกเก็บไว้ให้เทศบาลนำไปแปรรูปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ขณะที่ขยะอันตราย อาทิเช่น หลอดไฟหรือเคมีภัณฑ์ต่างๆ ทุกคนจะนำไปไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นจุดทิ้งขยะอันตรายที่ทางชุมชนกำหนดไว้

      มิเพียงแต่ทำให้ขยะลดลงเท่านั้น หากแต่ผู้ใหญ่สนั่นยังทำให้ขยะมีมูลค่าด้วยการทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการรับซื้อขยะและของเก่าในพื้นที่ ให้รับซื้อขยะจากบ้านรางพลับในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป นั่นทำให้ชาวบ้านยิ่งเอาจริงเอาจังกับการจัดการขยะมากยิ่งขึ้นไปอีก  

      “ถ้าเขาทิ้งขยะนั่นเท่ากับเขากำลังทิ้งรายได้ของตัวเอง กลายเป็นว่าทุกอย่างที่เหลือใช้รอบตัวพวกเขา มันไม่ใช่ขยะอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือรายได้ที่ทำให้เขามีเงินทองเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้คนรางพลับมีรายได้จากการคัดแยกไม่น้อยเลย”

      คำพูดของผู้ใหญ่สนั่นไม่ใช่ก้อนเมฆในอากาศที่ลอยไปลอยมาจับต้องหาความจริงไม่ได้ ป้าฟอง ทองกันยา นักแยกขยะแแห่งบ้านรางพลับยืนยันว่า ทุกวันนี้เธอมีรายได้จากการแยกขายขยะ รวมทั้งนำของเหลือใช้บางอย่างมาประดิษฐ์ ทำให้ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณหลายร้อย

      “สำหรับคนอื่นอาจจะดูเป็นเงินที่ไม่ได้มากมาย แต่กับชาวบ้านอย่างเราถือว่าไม่น้อยนะ เป็นเงินเปล่าๆ ที่เราไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย อย่างหมวกเราก็เอาขยะเหลือใช้บางส่วนมาทำ ลงทุนแค่ค่าด้ายไม่กี่บาท ส่วนขยะถ้าเรารู้มูลค่าของมัน เราก็จะยิ่งทำรายได้จากการคัดแยกได้มากขึ้นกว่าเดิม” 

      ป้าฟองจัดเป็นนักแยกขยะมือวางอันดับ 1 ของบ้านรางพลับ คนอื่นอาจจะมองขยะเป็นของสกปรกเน่าเหม็น ทว่าสำหรับเธอมันมีความหมายไม่ต่างอะไรจากขุมทรัพย์เงินทอง 

      “ทุกวันนี้เวลาไปไหนมาไหนนี่เห็นขยะไม่ได้เลยนะ เห็นแล้วอยากจะเก็บไปหมด ขยะแต่ละชิ้นมันมีราคาต่างกัน ถ้าเรารู้ราคา เราก็จะแยกได้อย่างละเอียด แล้วก็ทำเงินได้มาก อย่างขวดน้ำพลาสติกใส คนไม่รู้ก็จะขายไปทั้งขวด แต่ถ้าเราแยกฝาออกมา เราจะได้ค่าฝาแยกต่างหากซึ่งมีราคาสูงกว่า ถ้าเรามีความรู้ เราจะรู้เลยว่าขยะมันมีค่า อย่างที่ผู้ใหญ่สนั่นบอกจริงๆ”

      นอกจากทำให้ขยะมีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ชาวบ้านรางพลับยังนำขยะในส่วนอื่นๆ ที่ขายไม่ได้จำพวกขยะแห้งหรือเศษอาหาร มาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ปลูกข้าวและผักสวนครัวมากมายเอาไว้กินเอง ต่อยอดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านอีกด้วย 

      ทุกวันนี้คนบ้านรางพลับแทบไม่ต้องเสียเงินซื้ออะไรกิน พวกเขาปลูกข้าวกินเอง มีโรงสีข้าวของหมู่บ้านไว้สำหรับคนในชุมชน ขณะที่พืชผักสวนครัวก็ปลูกไว้รอบๆ รั้วบ้าน ข้าวทุกเม็ด ผักทุกต้น ล้วนงอกงามจากปุ๋ยที่ทำจากขยะ

      “เราวางนโยบาย ‘ผักสวนครัวรั้วกินได้’ ขึ้นมา โดยให้ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวของตัวเองกินในครัวเรือน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมักจากขยะ แต่เราจะเน้นไม่ให้แต่ละบ้านปลูกครบทุกอย่าง ถ้าขาดอะไรก็ให้ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านเอา เพื่อที่ว่าจะได้เกิดการพึ่งพาอาศัย เกิดความสัมพันธ์ ความรักความสามัคคีขึ้นในชุมชนของเรา”  

      วิเชียร โสภา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านวัย 43 ปีซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของบ้านรางพลับ บอกถึงกุศโลบายที่เขาสอดแทรกเข้าไปในเป้าหมายหลัก จากที่เคยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่บ้าน กลับกลายเป็นว่าทุกวันนี้ คนรางพลับรักใคร่กลมเกลียวกัน เวลาไปไหนมาไหนก็สามารถฝากบ้านไว้ให้เพื่อนบ้านดูแลได้ บางทีนี่อาจเป็นรั้วบ้านที่ดีที่สุด ยิ่งกว่าพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้เสียด้วยซ้ำ 

ผู้ใหญ่สนั่น และผู้ช่วยวิเชียรยังมองการณ์ไกลกว่านั้น พวกเขาไม่ต้องการให้สิ่งดีๆ ในหมู่บ้านของตัวเองจบลงแค่นี้ หากแต่ต้องการถ่ายทอดและส่งต่อให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ด้วยเหตุนี้จึงนำเรื่องของการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเข้าเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน รวมทั้งนำเยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมมีบทบาทในพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นไกด์พานักท่องเที่ยวเดินชมการทำงานของชุมชน

      “ถ้าเราไม่ถ่ายทอดสิ่งที่เราทำให้กับคนรุ่นต่อไป ทุกอย่างก็จะจบลงแค่คนรุ่นเรา ความยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้น วันหนึ่งทุกอย่างก็จะกลับมาย่ำแย่เหมือนเดิมอีก แต่ถ้าเราปลูกฝัง บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เขามีความรักในบ้านเกิดตั้งแต่วันนี้ ดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วม เขาก็จะเห็นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ถึงวันหนึ่งเขาก็จะต่อยอดในสิ่งที่พวกเราทำให้ก้าวหน้าต่อไป แล้วเชื่อเถอะว่าเมื่อวันนั้นมาถึงเขาจะทำมันได้ดีกว่าคนรุ่นเราเสียอีก” 

      อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า แต่สิ่งที่บ้านรางพลับเริ่มทำให้เกิดความยั่งยืนในวันนี้ก็คือการถ่ายทอดประสบการณ์ และเป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้เดินตาม นับเป็นการขยายหมุดหมายออกไป รวมทั้งทำให้เกิดความเข้มแข็งรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่อีกด้วย

      “ถ้าเราสำเร็จอยู่เฉพาะแค่หมู่บ้านเรา มันไม่ยั่งยืนหรอก แต่ถ้าเพื่อนบ้านรอบข้างเรา เขามีความก้าวหน้าในการจัดการขยะและมีวิถีชีวิตที่ดีเหมือนกันกับเรา มันจะยั่งยืนกว่า ตอนนี้เรามีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับหมู่บ้านอื่นๆ อีก 17 ชุมชน โดยเราจะให้องค์ความรู้ แนะแนวทาง ขณะเดียวกันก็ให้เขามาดูงานในหมู่บ้านของเรา แล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง 

      “แนวโน้มในขณะนี้ถือว่ามีทิศทางที่ดีเลย ทั้ง 17 ชุมชนสามารถลดขยะในพื้นที่ของตนเองลงได้เกินกว่า 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งถ้าพวกเขาประสบความสำเร็จก็จะเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นได้ทำตามต่อไป เท่ากับสิ่งดีๆ ที่เราทำไว้ก็จะขยายเป็นวงกว้างออกไปเรื่อยๆ”

      ปัจจุบันบ้านรางพลับเป็นชุมชนที่ได้รับรางวัลในด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ ประจำปี 2562 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการสะอาดบุรี ซึ่งทั้งสองรางวัลถือเป็นรางวัลระดับประเทศ ที่จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือจะเป็นรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับจังหวัด ฯลฯ 

      อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รางวัลต่างๆ มากมายสักเท่าใด นั่นคงเทียบไม่ได้กับรางวัลสูงสุดที่พวกเขาได้รับในทุกๆ วัน

      มันไม่ใช่รางวัลระดับโลก ไม่ใช่รางวัลระดับประเทศ หากแต่เป็นรางวัลธรรมดาๆ ที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนาจะได้รับ

รางวัลธรรมดาของคนรางพลับมีชื่อว่า ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’

ด.ช. ธีรโชติ​ ศรีวิชัย​ (เจิ้น)​ ไกด์​ตัวจิ๋ว-อนาคตแห่งบ้านรางพลับ

       “หนูเป็นคนรางพลับตั้งแต่เกิด​ ทุกวันนี้หนูอยู่กับตา-ยาย​ ส่วนพ่อและแม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ​ ปีใหม่-สงกรานต์​ถึงจะได้เจอกัน​ ถึงจะไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่​ แต่หนูก็มีความสุขดีไม่เคยรู้สึกเหงา​ เพราะที่บ้านเรามีกิจกรรมมากมายให้หนูได้ทำอยู่ตลอด​ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการขยะ​ หรือว่าเป็นไกด์นำนักท่องเที่ยวเข้ามาทัศนศึกษาและเยี่ยมชมงานในหมู่บ้านของเรา

      “เวลามีนักท่องเที่ยวหรือแขกจากที่อื่นมาที่หมู่บ้านรางพลับ​ ผู้ใหญ่บ้านเขาจะไปขอตัวหนูกับทางโรงเรียน​ หนูก็จะพาคนที่มาดูงานไปดูการคัดแยกขยะ​ ดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่​ของคนในหมู่บ้าน​ ที่ผ่านมาเคยต้อนรับคณะมากที่สุดก็ร่วม​ 200​ คน​ การเป็นไกด์​ทำให้หนูได้รู้จักผู้คน​ ได้ประสบการณ์​ แล้วก็รู้ว่าหมู่บ้านของเรามีสิ่งดีๆ​ ที่ผู้ใหญ่สร้างไว้ให้เด็กๆ​ อย่างหนูมากมาย

      “ถ้าถามว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร​ หนูอยากเป็นผู้บริหารเอสซีจี​ (หัวเราะ)​ เพื่อที่จะมาทำอะไร​ดี​ๆ​ ให้กับหมู่บ้านของเรา​ แต่ถึงไม่ได้เป็น​ หนูก็จะทำสิ่งที่ดี เพื่อบ้านรางพลับอยู่ดี​ เพราะที่นี่คือบ้านของหนู”

ถังหมักรักษ์โลก

      สิ่งที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของบ้านรางพลับ คือการใช้นวัตกรรมมาจัดการขยะ และนวัตกรรมที่ดีที่สุดของพวกเขาก็คือถังหมักรักษ์โลก นี่คือนวัตกรรมที่ใช้สำหรับย่อยสลายขยะให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ภายในเวลาไม่กี่วัน

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะที่เราผลิตมันทุกวันก็คือพวกเศษอาหารที่เรากินเหลือ หากไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหน เราก็แค่เทมันลงไปในถังหมักรักษ์โลกที่เรามีอยู่ ตรงนี้ต้องขอบคุณทางเอสซีจีที่ให้ความรู้และนำนวัตกรรมนี้เข้ามาให้กับชาวรางพลับ” ผู้ใหญ่สนั่นกล่าว

“ถังหมักรักษ์โลกผลิตขึ้นมาจากถังพลาสติก 3 ใบ โดยถังใบแรกนำมาเจาะรูให้ทั่วที่ด้านล่างของถัง ส่วนถังใบที่ 2 ให้เจาะรูเล็กๆ รอบขอบด้านข้างพร้อมกับนำก้นออกแล้วนำมาวางคว่ำครอบบนถังใบแรก ขณะที่ถังใบสุดท้ายก็ตัดเอาก้นออกแล้วนำมาครอบถังใบที่ 2 จากนั้นก็ปิดฝาแล้วนำถังหมักรักษ์โลกไปฝังลงในดิน เมื่อถึงเวลาก็นำเศษอาหารที่ย่อยสลายไม่ยากนักเทใส่ลงไป จุลินทรีย์และสัตว์ในชั้นดินต่างๆ ก็จะย่อยสลายเศษอาหาร เป็นธาตุอาหารแพร่ลงสู่ดิน ทำให้พืชผักของเราเติบโตงอกงาม โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอะไรเลย เป็นการเติมธาตุอาหารเข้าไปในดินโดยอัตโนมัติ

“นี่คือนวัตกรรมที่คนรางพลับภาคภูมิใจ เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ให้ประโยชน์สูง เป็นนวัตกรรมที่ดีงามและทำให้เรามีความสุข”

ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันหมดอายุ

ในหมู่บ้านรางพลับ ไม่มีบ้านหลังไหนปราศจากของใช้ที่ทำจากขยะ

      ผู้คนที่นี่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาแปรรูปของเหลือใช้ไม่มีประโยชน์ให้กลายเป็นของสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเตาอบไมโครเวฟที่พังแล้วมาเป็นตู้รับจดหมาย เปลี่ยนตู้เย็นเก่าๆ มาเป็นตู้เก็บหนังสือ หรือจะเป็นหมวกกันน็อคที่ไม่ใช้แล้ว กล่องนม กระป๋องน้ำอัดลม หรือกระเช้าเก่ามาเป็นกระถางปลูกต้นไม้ เปลี่ยนกระป๋องเบียร์มาเป็นกล่องใส่ทิชชู่ และแม้แต่จานดาวเทียมเก่าก็นำมาทำเป็นป้ายบอกทางได้ เป็นต้น

      “ถ้าคุณเดินไปรอบๆ บ้านรางพลับ คุณจะเห็นของใช้ที่สร้างมาจากขยะที่ไม่ใช้แล้วอยู่เต็มไปหมด อยู่ที่ว่าคุณจะเห็นของสิ่งไหนบ้างเท่านั้น แต่ไม่มีทางที่จะไม่เห็น” วิเชียร โสภา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านวัย 43 ปี พูดถึงสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านตนเองด้วยรอยยิ้ม

      ว่ากันว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีอายุขัยเป็นของตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมีวันหมดอายุด้วยกันทั้งนั้น  อย่างไรก็ตามมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานไหร่ กลับยิ่งสดใหม่และไม่มีวันสูญสลาย

บางสิ่งบางอย่างที่ว่านี้มีอยู่ในตัวของคนรางพลับ
ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันหมดอายุ

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 4.6 / 5. Vote count: 9

No votes so far! Be the first to rate this post.