บ้านโป่งโมเดล – เราจัดการขยะทั่วทั้งอำเภอ

25 พฤษภาคม 2020 5942 views

Highlight

  • เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและมีรายได้เฉลี่ยของประชากรสูงกว่าอีกหลายๆ อำเภอในจังหวัดราชบุรี จึงทำให้อำเภอบ้านโป่งมีประชากรจำนวนมาก และมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะตามมา ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานไปจะยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขได้ ด้วยเหตุนี้ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงจับมือร่วมกันสร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เรียกว่า ‘บ้านโป่งโมเดล’ ขึ้นมา
  • นี่คือโมเดลที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านโป่งทั้งอำเภอให้กลายเป็นเมืองแห่งความสะอาด ที่สำคัญโมเดลนี้ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงแค่สภาพแวดล้อม หากแต่ยังหมายรวมถึงทัศนคติและจิตใจของคนบ้านโป่งทุกคนอีกด้วย

ที่นี่บ้านโป่ง

บ้านโป่งนับเป็นอำเภอเศรษฐกิจของจังหวัดราชบุรี ที่นี่มีโรงงานอุตสาหกรรมถึงเกือบ 600 แห่ง และมีประชากรมากถึง 173,000 คน เมื่อมีประชากรจำนวนมาก อำเภอบ้านโป่งก็มีปัญหาการจัดการขยะให้ต้องแก้ไข หากไม่มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพเสียตั้งแต่ต้นทางแล้ว อนาคตข้างหน้าอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่เหมือนไฟลามทุ่งที่ยากเกินกว่าจะเอาอยู่

“การจะเปลี่ยนมาจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเราต้องเปลี่ยนทัศนคติ ต้องสร้างความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชน ซึ่งในขณะนั้นทางรัฐบาลก็ได้มีแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนลงมา โดยเน้นในเรื่องของการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางพอดี เราเองก็อยากจะผลักดันในเรื่องนี้อยู่แล้ว เลยคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะจัดการขยะอย่างจริงจังในอำเภอบ้านโป่ง” ทศพล เผื่อนอุดม อดีตนายอำเภอบ้านโป่งกล่าวอย่างหนักแน่น

“เราคนเดียวทำไม่สำเร็จหรอกการที่บ้านโป่งโมเดลจะสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน”

ทศพล เผื่อนอุดม – อดีตนายอำเภอบ้านโป่ง

ร่วมแรงร่วมใจ

“บ้านโป่งโมเดลเกิดจากความร่วมมือกันของทั้ง 3 ภาคคือ 1.ภาคราชการ ได้แก่อำเภอบ้านโป่ง ท้องถิ่นอำเภอบ้านโป่ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กิ่งกาชาดอำเภอบ้านโป่ง 2.ภาคเอกชน ได้แก่บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมาช่วยในเรื่องของการให้องค์ความรู้ในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ สถานที่ และจัดกิจกรรมหลายอย่าง 3.ภาคประชาชน ได้แก่ประชาชนรวมไปถึงสื่อในท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดจะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้เลย ถ้าทั้ง 3 ฝ่ายไม่ได้เดินไปทิศทางเดียวกัน บ้านโป่งโมเดลไม่มีทางสำเร็จแน่นอน”

“เราคิดว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน เราไปสอนไปบอกเขาอย่างเดียวนี่เขาไม่ฟังหรอก เพราะเราไม่ได้มีตัวอย่างที่เชื่อถือได้ เราก็เลยถามทางท้องถิ่นอำเภอว่าที่บ้านโป่งพอจะมีชุมชนที่เป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ไหม ก็ปรากฏว่าในบ้านโป่งเรามีอยู่พอดี”

บ้านรางพลับ หมู่ 1 ตำบลกรับใหญ่ คือชุมชนในอำเภอบ้านโป่งที่มีชื่อเสียงในเรื่องการจัดการขยะมานานหลายปี ชุมชนแห่งนี้คือเจ้าของรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นรางวัลระดับประเทศที่จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

“เมื่อเราลงไปดูบ้านรางพลับ เห็นว่าเขาทำจริงและมีการจัดการขยะที่ดีมาก เราจึงให้เอาบ้านรางพลับนี่แหละเป็นครู แล้วก็ให้ชุมชนที่สนใจมาเรียนรู้การจัดการขยะที่รางพลับ”

ไม่ใช่แค่เรียนรู้แต่ทางนายอำเภอยังกระตุ้นให้เกิดความเอาจริงเอาจังด้วยการจัดโครงการประกวด ’ชุมชน Like (ไร้) ขยะอำเภอบ้านโป่ง’ ขึ้น โดยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 17 แห่ง คัดเลือกชุมชนหรือหมู่บ้านที่อยู่ในการปกครองของตนเองมาอปท.ละ 1 แห่ง ซึ่งทั้ง 17 ชุมชนที่เป็นตัวแทนต้องไปดูงานที่บ้านรางพลับแล้วก็นำมาถอดบทเรียนจัดการขยะในชุมชนของตนเป็นระยะเวลา 4 เดือน ใครที่มีการจัดการขยะที่ดีที่สุดก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศไป

จากที่เคยมีรางพลับเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะ อำเภอบ้านโป่งก็จะมีชุมชนที่เป็นต้นแบบขึ้นมาอีก 17 ชุมชน ซึ่งในการดำเนินงานครั้งต่อไปทางทีมงานบ้านโป่งโมเดลคาดการณ์ว่าจะเพิ่มชุมชนต้นแบบให้มากขึ้น

สหรัฐ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงงานบ้านโป่ง บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ในเอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่า “เอสซีจี ยินดีที่ได้ร่วมสร้างชุมชนต้นแบบที่มีการจัดการขยะ โดยร่วมส่งเสริมความรู้ด้วยการจัดอบรม และส่งทีมงานไปช่วยในแต่ละพื้นที่ในเรื่องของการคัดแยกขยะเพื่อหมุนเวียนนำขยะที่ดีกลับมาเป็นทรัพยากรใช้ใหม่อย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งการดำเนินโครงการในปี 2562 สำเร็จไปได้ด้วยดี  ทั้งนี้ เอสซีจี จะยังคงให้ความร่วมมือกับอำเภอบ้านโป่งในการขยายผลชุมชนต้นแบบการจัดการขยะให้ครบทุกชุมชนในอำเภอบ้านโป่งต่อไป”

จากอำเภอที่มีปัญหาขยะ บ้านโป่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่อำเภอที่จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง 

นี่คือจุดหมายที่แท้จริงของ ‘บ้านโป่งโมเดล’

บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่

คลิกเพื่อโหวตบทความ

Average rating 3 / 5. Vote count: 2

No votes so far! Be the first to rate this post.