ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต จ.ขอนแก่น

“ชุมชนรอดแล้งแห่งลุ่มน้ำชี”




แล้ง 4 ปี ฝนดี 2 ปี

ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต เป็นพื้นที่สูงลอนคลื่น ดินปนทราย เก็บน้ำยาก ประสบปัญหาแล้งที่สุดในภาคอีสาน ฝนตกน้อยที่สุด ปัญหาสำคัญ คือ แล้ง 4 ปี มีฝนดี 2 ปี หมุนเวียนซ้ำซากอยู่แบบนี้มากว่า 40 ปี เมื่อฝนตก น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ เก็บน้ำไม่ได้ การบริหารจัดการน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพ ชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา มีการขุดเจาะบ่อบาดาล แต่ได้น้ำน้อยมาก ลำห้วยที่มีอยู่เดิมอยู่ในพื้นที่ต่ำ น้ำจึงไหลไปรวมที่ต่ำหมด เมื่อต้องการใช้น้ำในการทำการเกษตร ต้องสูบน้ำจากด้านล่างขึ้นมาด้านบน ทำให้สิ้นเปลืองเงินและพลังงานเป็นจำนวนมาก ถ้าปีไหนแล้ง ฝนทิ้งช่วง จะไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย



รอดแล้ง ด้วยความรู้ ความร่วมมือ

แม้สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศจะเป็นความท้าทายใหญ่ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังชุมชน ลุกขึ้นมาร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหา หาความรู้ โดยเริ่มจาก ศึกษาสภาพพื้นที่ ด้วยการใช้แผนที่ชุมชน ชาวบ้านเรียนรู้การใช้แผนที่ GPS เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ของตัวเอง ต่อยอดด้วยการจัดทำระบบการบริหารหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ได้แก่

  • ขุดคลองดักน้ำหลาก “ฟ้าประทานชล” เชื่อมต่อกับแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำ ใช้การขุดคลองดักน้ำที่ไหลหลากจากที่สูง คล้ายการทำรางน้ำดักน้ำบนหลังคาบ้าน แล้วลำเลียงน้ำจากสูงไปต่ำเป็นสระขั้นบันได เพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันในสระที่เป็นแก้มลิง เก็บสำรองน้ำให้ชุมชนใช้ในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง
  • ใช้ภูมิปัญญาขาแค คือ การเชื่อมโยงน้ำส่วนเกินจากพื้นที่เก็บน้ำที่สูงลงไปที่ต่ำกว่า โดยไม่ต้องใส่ท่อระบายน้ำ แต่ใช้การยกคันดินกั้นให้สูงพ้นน้ำไม่ให้ล้นคัน บังคับน้ำที่เกินให้ไหลออกด้านข้าง (ขาแค) เหลือแค่ระดับการเก็บกักที่ต้องการ
  • ใช้แรงโน้มถ่วงกระจายน้ำ 3 ทิศทาง คือ วางจุดกระจายน้ำจากที่สูง แบ่งน้ำลงที่ต่ำได้ 3 ทาง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงไล่ระดับน้ำจากที่สูงไปยังที่ต่ำ สามารถกระจายน้ำให้เข้าสระประจำไร่นาเกษตรกร ขณะที่น้ำส่วนเกินจะไหลลงสู่ที่ต่ำเก็บเป็นชั้น ๆ ตามระดับขั้นบันได เกิดการใช้น้ำซ้ำหลายรอบ และไม่ต้องใช้ระบบสูบน้ำ
  • ต้อนน้ำหลาก รวบน้ำเกิน เติมน้ำอุปโภค เป็นการต้อนน้ำจากที่สูงเข้าสู่สระน้ำประจำไร่นา และแปลงเกษตร เมื่อมีน้ำเกินความต้องการ จะมีเส้นทางน้ำไหลเข้าสู่คลองที่รวบรวมน้ำ และทุ่งรับน้ำหลาก เป็นการรวบรวมน้ำทั้งหมดที่ไหลมา ไปเก็บไว้ที่แหล่งน้ำชุมชนเพื่อการอุปโภค บริโภค ในระดับครัวเรือนต่อไป
  • ตั้งกติกาการใช้น้ำร่วมกัน ถ้าน้ำอยู่ในระดับวิกฤต จะลดการใช้น้ำเหลือครอบครัวละไม่เกิน 10 คิว / เดือน เพื่อรักษาปริมาณน้ำเอาไว้
  • ปฏิรูปการจัดสรรที่ดินใหม่ ด้วยการปรับแบ่งพื้นที่มาขุดสระ เพื่อเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ เดิมปลูกข้าว ใช้น้ำมาก ปรับเปลี่ยนเป็นการลดพื้นที่ปลูกข้าว เพิ่มพื้นที่ปลูกผลผลิตอื่น ทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และเดิมปลูกมันสำปะหลัง พืชเชิงเดี่ยว มีรายได้ทางเดียว ปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตที่เก็บกินได้แบบรายวัน รายเดือน และรายปี







ขยายความสำเร็จจากหนึ่งชุมชน สู่เครือข่ายลุ่มน้ำชี

ด้วยความไม่ย่อท้อ ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ผสานกับความรู้ ความร่วมมือ ทำให้ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแตกลายเป็นชุมชนที่มีน้ำใช้ตลอดปี สามารถใช้น้ำซ้ำหลายรอบโดยไม่มีต้นทุน อีกทั้งเมื่อนำทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มาประยุกต์ใช้ในการจัดรูปที่ดินของชุมชน ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น วางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เดิมการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ เกษตรกรมีรายได้ 1,500 บาท/ปี หลังจากจัดรูปที่ดิน และวางแผนการผลิตใหม่ เกษตรกรมีรายได้ปีละ 200,000 บาท/ครัวเรือน ปัจจุบันมีเกษตรกรในเครือข่ายเปลี่ยนวิถีการผลิตจำนวน 68 ราย มีรายได้จากผลผลิตประมาณ 12 ล้านบาท/ปี อีกทั้ง ปัจจุบันยังเกิดการขยายผลด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่ชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำชีใน 9 จังหวัด 60 ชุมชน 37 ตำบล 12 อำเภอ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำแล้งน้ำหลาก ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีได้ประมาณ 200,000 ไร่


วีดีโอ

โบรชัวร์

ยังไม่มีโบรชัวร์

ติดต่อเรา