ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ จ.ลำปาง

“ชุมชนเกษตรกรรมชนะภัยแล้งแห่งภาคเหนือ”





แล้งแล้วอด เงินทองหาไม่ได้

ปี 2558 บ้านสาแพะเหนือซึ่งเป็นเป็นชุมชนเกษตรกรรม 100% ทำเกษตรตลอดทั้งปี เกิดภัยแล้ง ต้นข้าวยืนต้นแห้งตายคานาเกือบทั้งหมู่บ้าน น้ำในอ่างห้วยแก้วก็แห้งขอด ไม่มีน้ำที่จะทำเกษตร แม้ชุมชนจะได้จัดวางระบบกระจายน้ำไว้แล้ว แต่แหล่งต้นน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว มีสภาพตื้นเขิน จากตะกอนดินที่เกิดจากการไถพรวนดินบนที่ทำกินถึงขอบอ่างและลำห้วย ทำให้ตะกอนไหลลงอ่าง เกิดตะกอนสะสมจนพื้นที่อ่างลดลงเก็บน้ำได้แค่ 50% จึงมีน้ำไม่เพียงพอต่อการจ่ายน้ำไปทำการเกษตร เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ข้าวก็ไม่มีมีกิน เงินทองหาไม่ได้




ขุมทรัพย์ความรู้ พลังความร่วมมือ เปลี่ยนแล้งเป็นรอด

ปี 2559 ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือกับเอสซีจีทำวิจัยเรื่อง “การจัดการ ดิน น้ำ ป่า” ทำให้เริ่มเก็บข้อมูลและสามารถหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงและเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างเป็นระบบ โดยได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ ได้แก่

  1. สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำของอ่างห้วยแก้ว
    ควบคู่กับการดูแลรักษาป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่าให้เปิดโล่ง ไม่เผาทำลายป่า
  2. สำรวจพื้นที่แหล่งน้ำตามเส้นทางน้ำจากอ่างห้วยแก้ว
    สร้างแหล่งเก็บน้ำเพิ่ม ปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเดิม ป้องกันตะกอนไหลลงแหล่งเก็บน้ำ เพื่อเอาน้ำมาเก็บไว้ใช้ทำเกษตรในฤดูแล้ง
  3. ขุดลอกตะกอนในอ่างห้วยแก้ว
    เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้มากขึ้นอีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร
  4. เมื่อขุดอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้ว จัดทำระบบจ่ายน้ำ
    จากอ่างเก็บน้ำไปสู่แหล่งเก็บน้ำที่สร้างใหม่ เพื่อกระจายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ 1,200 ไร่
  5. สร้างบ่อพวงคอนกรีต ที่มีความจุน้ำ 48 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 8 บ่อ
    ตามระดับความสูงของพื้นที่ เดินท่อ HDPE จากอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ลงมาที่บ่อพวงคอนกรีต ต่อพ่วงระบบจ่ายน้ำเข้าด้วยกันทั้ง 8 บ่อ ตามระดับความสูงที่ลดหลั่นกัน เพื่อกระจายน้ำให้ทั่วถึง
  6. สร้างฝายใต้ดิน และ Stop log ในลุ่มน้ำห้วยแก้ว
    ตลอดลำห้วยก่อนไหลออกสู่แม่น้ำวัง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำบนดิน จำนวน 14 จุด
  7. ขุดวังเก็บน้ำด้านหน้าฝายใต้ทราย ทั้ง 14 จุด
    เป็นหลุมเก็บสะสมน้ำในลำห้วยให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จะได้ใช้การสูบน้ำจากวังน้ำขึ้นไปใช้ทำการเกษตรได้อีกหลายครั้ง
  8. ติดมิเตอร์จากบ่อเก็บน้ำคอนกรีตไปยังสวนเกษตร
    เพื่อควบคุมการใช้น้ำ ไม่ให้ใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือย และเกิดประโยชน์สูงสุด
  9. ป้องกันตะกอนที่จะไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ
    เช่น เว้นระยะการไถติดลำห้วย โดยการปลูกต้นไม้ขอบลำห้วย และขอบอ่าง เป็นต้น










เมื่อชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ จึงมีชีวิต มีรายได้

จากความร่วมมือร่วมใจ รวมพลังสร้างฝายจำนวนมากกว่า 900 ฝาย ที่บ้านสาแพะเหนือ ทำให้ห้วยป่าไร่แหล่งต้นน้ำของอ่างห้วยแก้วที่เมื่อก่อนแห้งแล้งไม่มีน้ำ แต่พอมีฝนตกมาก็มีน้ำขังเป็นแอ่งอยู่เป็นเวลานาน สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเมื่อมีระบบฝายใต้ดิน Stop log และวังเก็บน้ำ ที่เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำที่ใช้แล้วจากแปลงเกษตร นำมาใช้ทำการเกษตรใหม่ในบริเวณโดยรอบได้อีกครั้ง ลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สุดท้ายเมื่อชุมชนมีน้ำ จึงสามารถปลูกผักกาดหวาน ซึ่งเป็นสินค้าหลักของชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น ไม่ต้องขายแบบขาดทุน สามารถเพิ่มยอดขายจากการปลูกถั่วพุ่มส่งขายต่างประเทศได้มากขึ้นอีก 16,000 บาทต่อไร่ต่อรอบการปลูก ทั้งยังขยายไปปลูกผลไม้ยืนต้น เช่น เงาะ ทุเรียน ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างรายได้อย่างยั่งยืน


วีดีโอ

ยังไม่มีวีดีโอ

โบรชัวร์

ยังไม่มีโบรชัวร์

ติดต่อเรา