ช่องทางการติดต่อ
เรื่องราวรักษ์น้ำ
เรื่องราวรักษ์น้ำ > ต้นน้ำ > “ออกเดินทางอนุรักษ์ธรรมชาติที่ลำปาง มีดีกว่าที่คิด ”
Share
“ออกเดินทางอนุรักษ์ธรรมชาติที่ลำปาง มีดีกว่าที่คิด ”

“ออกเดินทางอนุรักษ์ธรรมชาติที่ลำปาง มีดีกว่าที่คิด ”

ฮัลโหลทุกคนนนนน มีใครเคยไปเที่ยวพร้อม เรียนรู้ ดูแลสิ่งแวดล้อมมาแล้วบ้าง ยกมือขึ้นสิ

เราคนนึงแหละที่ .. ไม่เคยไป ฮ่าๆๆ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลยในชีวิตที่เราได้ไปร่วมทริปแบบนี้ เพราะปกติเราก็มีแต่ไปเที่ยวเล่นชิวๆตามสไตล์ ไม่ค่อยมีสาระอะไร ตอนที่รู้ว่าตัวเองต้องไปทริปนี้ก็แอบหนักใจอยู่ว่าจะรอดมั้ยนะ โปรแกรมก็คงแน่น เหนื่อย เพื่อนร่วมทริปก็คงมีแต่พี่ๆนักวิชาการ ออกแนวเครียดเล็กน้อยแบบนี้แน่เลยแกกกก .

จนได้ไปถึงสถานที่และร่วมทำกิจกรรมจริงๆ ก็พบว่า สิ่งที่กลัวและคิดไปเองนั้น ไม่มีเกิดขึ้นเลยแม้แต่อย่างเดียวจ้า ฮ่าๆๆ ขอขำให้กับการคิดมโนไปไกลของตัวเองอีกรอบ .

โดยทริปนี้เรามีโอกาสได้ไปที่อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง กับทาง SCG ในโครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที ที่แค่ได้ยินชื่อก็ร้องว้าววววว ชื่อยาวจังเลย

โครงการนี้จัดขึ้นตามศาสตร์การรักษ์น้ำของพระราชา โดยประโยคที่ว่า “จากภูผา สู่มหานที” ก็หมายถึง เราจะต้องเริ่มดูแลรักษาน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งในแต่ละพื้นที่การดูแลน้ำก็จะแตกต่างกันออกไปค่ะ

นอกจากดูแลแล้วเรายังต้องมีระบบในการจัดสรรน้ำที่ดี เพื่อให้น้ำไหลเข้าถึงชุมชน ชาวบ้านก็จะได้มีน้ำกินน้ำใช้กัน เย้! .

การเดินทางครั้งนี้ให้อะไรเราเยอะกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนใหม่ ความรู้ใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนอีกด้วยนะ ดูเป็นคนสวยแถมจิตใจดีขึ้นมาเลยทันที อิอิ เดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟังค่ะว่าตลอด 5 วัน 4 คืน ที่เราได้ไปร่วมทริปกับ SCG นั้นดียังไง


เราออกเดินทางจากกรุงเทพไปยังจังหวัดลำปาง ด้วยรถไฟฉึกฉัก แบบตู้นอนที่ทาง SCG เค้าจัดไว้ให้พวกเราและน้องๆ นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศ ที่มาร่วมทริปนี้ด้วยกันนะคะ เรียกได้ว่าสะดวก สบาย นอนกันยาวๆไปถึงลำปางเลยเน้อเจ้าาา

ในช่วงเช้าของวันแรกจะเป็นการเรียนรู้วิธีการสร้างฝายชะลอน้ำ เพราะการจะสร้างฝายให้สามารถใช้งานได้จริงและเกิดประโยชน์ เราต้องสร้างให้ถูกวิธีและเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม ซึ่งก็คือพื้นที่แห้งแล้ง โดนทำลายนั่นเองงงงง ฟังแล้วงงเลยใช่มั้ยล่ะ ว่ามันเหมาะสมยังไงเนี่ย คือแบบนี้ค่ะ เราเลือกพื้นที่เสื่อมโทรม เพราะต้องการให้พื้นที่ป่าตรงนั้นกลับมาเป็นสีเขียวเหมือนเดิมไง แล้ววัสดุที่ใช้ในการทำฝายก็เป็นวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อเลยแม้แต่บาทเดียว . การสร้างฝายถ้าสร้างผิดวิธีหรือเลือกพื้นที่ในการสร้างไม่เหมาะสม นอกจากฝายจะใช้งานไม่ได้แล้ว อาจจะกลายเป็นสาเหตุที่ไปทำลายสิ่งแวดล้อมแทนได้ เป็นไงคะฟังดูมีความรู้มั้ย นั่งฟังบรรยายแปปเดียว ฮ่าๆๆ เอาจริงๆตอนเรียนนี่ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกค่ะ นึกภาพไม่ออกว่าต้องทำยังไง จนได้ไปลองของจริง


และแล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง พวกเราต้องเดินเข้าไปในป่าลึกพอสมควรกว่าจะถึงจุดที่เหมาะแก่การสร้างฝาย ใครที่เป็นขาลุย ชอบเดินป่าอยู่แล้วรับรองได้เลยว่าสนุกชัวร์

ส่วนวิธีการสร้างฝายก็ง่ายมากๆ คือเราแค่เอาลำต้นของต้นไผ่มาตัดแล้วปักลงในดิน แล้วก็เอาก้อนหินไปวางไว้ให้เต็ม ฝายนี้จะช่วยลดความรุนแรงของการเกิดน้ำป่าไหลหลากค่ะ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นดินในบริเวณนั้นด้วย . ใครที่ยังไม่เคยทำไม่ต้องกลัวว่าจะทำผิดนะคะ เพราะเราก็ทำไม่เป็นเลย แต่ก็รอดมาได้ ฮ่าๆๆ เพราะมีทั้งพี่ๆจาก SCG และตัวแทนของคนในชุมชนที่เค้าเคยทำมาก่อนแล้ว มาช่วยแนะนำและช่วยสร้างด้วยค่ะ

คืออยากจะบอกว่าตอนที่ช่วยกันทำเนี่ย มันเป็นภาพที่น่าประทับใจมากเลยนะ ลองคิดดูสิ เราแต่ละคนต่างไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ตอนที่ช่วยกันสร้างฝายจะได้ยินประโยคที่ว่าผมช่วยนะครับ ไหวมั้ยคะ หรือระวังก้อนหิน กิ่งไม้ด้วยนะ อะไรประมาณนี้ตลอดเวลา พอเราได้ยินแล้วรู้สึกแบบ เอออออรู้สึกดีอะ ฟังแล้วอบอุ่น ชอบ ประทับใจ

แถมในช่วงเย็น ทางชุมชนเค้าก็ยังมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ที่ถือเป็นการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างพวกเราที่เดินทางมาไกล พร้อมกับโชว์พื้นบ้านเล็กๆน้อยๆ จากน้องๆที่อาศัยอยู่ในชุมชนด้วย


วันถัดมาโปรแกรมของเราคือต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อออกไปเรียนรู้การผสมพันธุ์พืช ตอนแรกเรางงมากๆว่านี่คือเอาฉันไปทำอะไรเนี่ย ทำไมต้องไปผสมพันธุ์พืชตอนฟ้ามืดๆด้วย รอตอนเช้าไม่ได้หรอไรงี้ . เมื่อเกิดความสงสัยก็ต้องถามค่ะ คำตอบที่ได้จากพี่ๆชาวบ้านคือ เราต้องไปก่อนแมลงตื่น เรานี่แบบเห้ยจริงดิ หลอกปะเนี่ย แต่ไม่เลยจ้า เค้าพูดจริงๆ เพราะถ้าเราปล่อยให้เจ้าแมลงไปทำงานก่อน การผสมพันธุ์จะเกิดแบบสุ่ม แต่ถ้าเราไปทำเองเราจะสามารถเลือกต้นพืชที่อยากจะผสมได้ . แล้วก็เหมือนเดิมค่ะ เรามีทั้งพี่ๆทีมงานจาก SCG และชาวบ้านที่ตื่นแต่เช้าพร้อมพวกเรา มาคอยสอน และช่วยเหลือระหว่างที่พวกเราทำกันอย่างใกล้ชิด


เช้าวันสุดท้ายที่ลำปาง เราตื่นกันเช้ากว่าเดิมอีกค่ะ เราตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อเดินขึ้นไปบนดอยฟ้างามเพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้น กว่าจะไปถึงด้านบนก็ทำเอาเหนื่อยไม่ใช่เล่น ทางเดินมืดสนิทต้องใช้ไฟฉายส่องทางเดินกันขึ้นไปค่ะ แต่บรรยากาศด้านบนก็คุ้มค่ากับการยอมเหนื่อยเดินขึ้นมามากกกกก แล้วตอนอยู่ข้างบนอากาศมันยังเย็นๆอยู่ไง ดีงามไปหมดบอกเลย


ไม่เหมือนตอนบ่ายที่เราไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อากาศมันเริ่มร้อนแล้วค่ะ โดยส่วนตัวเราเป็นคนไม่ชอบอากาศร้อนอยู่แล้วเลยไม่ค่อยเอนจอยเท่าไหร่ เลยลงไปเดินเล่นแปปนึง ดูคนอื่นเค้าเอาไข่ลงไปต้มในน้ำ เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นแอ่งน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 70-80 องศาเซลเซียส ได้ยินมาว่าจะต้มไข่ให้สุกได้ในเวลาประมาณ 15 นาที ใครที่มาที่นี่แล้วจะซื้อไข่ไก่มาลองต้มจับเวลาเล่นๆก็ได้นะคะ เค้ามีวางขายอยู่

ปิดท้ายก่อนกลับกรุงเทพด้วยการแวะไปเดินหาของกิน ซื้อของฝาก ที่ถนนคนเดินกาดกองต้า มันจะเป็นถนนคนเดินที่ตั้งอยู่ตามซอกซอยเล็กๆ มีหลายซอยให้เดินอยู่เหมือนกันค่ะ ถ้าเราอยากเดินให้ครบก็ใช้เวลาสักพักเลยแหละ แต่เพราะเรามีเวลาจำกัด เนื่องจากต้องเดินทางไปสถานีรถไฟลำปาง เพื่อกลับกรุงเทพกันแล้ว ในใจตอนนั้นแบบ ฮืออออ ยังไม่อยากกลับอ่ะ ไม่อยากกลับไปทำงาน เจอคนเยอะ รถติดไรงี้


กลับกลายเป็นว่าการเดินทางครั้งนี้ที่ตอนแรกเรามโนไปเองว่ามันคงไม่สนุกหรอก กลับสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้อยู่ตลอดเวลา สนุกนานเฮฮามากค่ะ มันเป็นอีกทริปนึงเลย ที่เราได้เจอเพื่อนใหม่ ได้ความรู้ใหม่ ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ได้เห็นน้องๆนักศึกษาที่ไปร่วมทริปยังมีใจรักษ์น้ำอยากร่วมสานต่อวิธีรักน้ำผ่านการลงมือทำจริง และสร้างสรรค์สื่อในรูปแบบต่างๆเพื่อส่งต่ออย่างยั่งยืน . และที่สำคัญที่สุด ทริปนี้ทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไป จากคนเมืองที่มีน้ำใช้ไม่เคยขาด แล้วมาเจอคนที่เค้าไม่มีน้ำจะใช้ ต้องดิ้นรนช่วยเหลือกันทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ตนเองอยู่รอด เราเลยรู้สึกว่าแบบไม่ได้แล้วนะ ต้องใช้น้ำประหยัดบ้างละ จะเปิดทิ้งๆขว้างๆไม่ได้อะไรประมาณนี้ ใครที่ยังใช้น้ำเปลืองอยู่ ให้มันน้อยๆลงหน่อยก็ดีนะแกกกกก เชื่อเราเถอะ ถ้าเรายังไม่เริ่มดูแลรักษาน้ำตั้งแต่ตอนนี้ วันนึงเราเองก็อาจจะไม่มีน้ำใช้ไปด้วยก็เป็นได้นะ

และจากที่สัมผัสมาชาวบ้านที่นี่เค้าไม่ได้โทษโชคชะตาเลยว่าทำไมฉันต้องมาอยู่ในที่แบบนี้ด้วย แต่เค้าช่วยกัน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่ชุมชนเดียว แต่กระจายไปทั่วจังหวัด หรือตอนนี้อาจจะกระจายไปทั่วประเทศแล้ว ทำให้วันนี้ชาวบ้านเค้าสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีน้ำมาทำการเกษตร เมื่อทำการเกษตรได้ ก็มีรายได้เข้ามาแล้ว . และด้วยความโชคดีที่เรายังมีกลุ่มคนภายนอกที่สนใจจะร่วมช่วยแก้ปัญหานี้ นั่นก็คือพี่ๆจาก SCG ที่มาร่วมมือกับชาวบ้านหาทางแก้ปัญหา เรียนรู้ร่วมกันเพื่อที่เค้าจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆต่อไป แล้วพอคนต้นน้ำมีน้ำ คนกลางน้ำมีน้ำ คนปลายน้ำก็จะมีน้ำ เพียงเรารู้จักบอกรักน้ำอย่างถูกวิธีและยั่งยืน

อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า เราไม่เคยไปร่วมทริปอะไรแบบนี้มาก่อนเลย ทำให้ทริปนี้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากการไปเที่ยวในหลาย ๆ ทริปที่ผ่านมา ถ้าเราไปเที่ยวเองเราคงจะไม่ได้มีโอกาสมาลองทำอะไรแบบนี้ เราอาจจะไม่เลือกพักในชุมชนเล็กๆกับชาวบ้าน และเราก็จะไม่ได้เห็นภาพบรรยากาศที่น่ารักแบบนี้แน่นอน . สำหรับใครที่อยู่บ้านนอนเล่นชิวๆ ไม่มีอะไรทำ ลองไปหากิจกรรมแบบนี้เข้าร่วมดู ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของ SCG ก็ได้ค่ะ แต่ถ้านึกไม่ออกก็ไปกดเพจ SCG ไว้ก็ได้ค่ะ เค้ามีกิจกรรมดีๆรออยู่เพียบ เพราะเวลาไปร่วมกิจกรรมพวกนี้ นอกจากจะได้บอกรักคืนให้ธรรมชาติแล้วก็เหมือนได้ไปเที่ยวอีกด้วยนะ แล้วมันก็ให้อะไรเรากลับมามากกว่าที่คิดจริงๆค่ะ


ขอบคุณบทความจาก Go Went Go

สามารถติดตามบทความเต็มได้ที่ :  https://www.facebook.com/gowentgotravel/posts/1808817719424095

กลับ