Contact Us
Story
Story > Upstream > การออกทริปไปทำประโยชน์อะไรสักอย่าง
Share
การออกทริปไปทำประโยชน์อะไรสักอย่าง

พอเรียนจบแล้ว การออกทริปไปทำประโยชน์อะไรสักอย่าง อย่างที่เคยทำอย่างมีพลังในตอนเรียนนั้นเริ่มหดหายไป

ด้วยเวลาที่ไม่เหมือนเดิม ด้วยความสนใจ ความใส่ใจตอนเรื่องต่างๆ รอบตัวเริ่มเปลี่ยนไป ได้แต่เสพย์ภาพความประทับใจการออกเดินทางไปช่วยเหลือของคนอื่น พลางคิดไปเองว่าการรับรู้ถึงสิ่งที่คนอื่นช่วยกันเหล่านั้น จะช่วยส่งเสริมพลังบางอย่างไปให้พวกเขา โดยที่บางที ไม่จำเป็นต้องมีเราก็ได้

ผมออกเดินทางไปจังหวัดลำปาง หลังจากได้รับคำเชื้อเชิญจากทาง SCG เพื่อให้ลองไปออกทริปร่วมกับเด็กๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างฝาย เพื่อชะลอน้ำ ชะลอเวลาให้ผืนป่ามีเวลาดูดซึมความชุ่มชื่นให้มากพอ

คนที่ห่างไกลการออกค่ายแบบผมมาเป็นเวลานาน ใช้เวลาไม่นานที่จะตอบตกลงแล้วรีบแพ็คกระเป๋าออกเดินทาง รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที นี่คือชื่อทริปที่ผมเข้าร่วมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยคอนเซปฟังดูง่ายๆ การดูแลผืนป่า ตั้งแต่ต้นน้ำ ลากยาวไปจนสุดสายป่านอย่างมหาสมุทร แต่มันไม่ได้ง่ายเหมือนชื่อที่ฟังดูคล้องจอง คุ้นหู เป้าหมายและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ต้องผ่านการทำงาน การร่วมมือของคนมหาศาล ทั้งคนในชุมชนและคนที่อยู่ห่างไกลจากป่านั้นเช่นเดียวกับผม

ผมไม่เคยรู้เลยว่า การจัดการเกี่ยวกับน้ำฝน การจัดการพื้นที่ป่า การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ รวมถึงการสร้างฝายชะลอน้ำที่ถูกวิธี มันคืออะไร ผมแค่รู้ว่า ป่าเหลือน้อยแล้ว ฝนตกทีไร น้ำก็ท่วมทุกที พอฝนไม่ตก ก็แล้ง แล้งแล้วยังไง ก็ปิดทีวี วางโทรศัพท์ แล้วก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แบบที่ไม่ได้สนใจว่า อีกด้านหนึ่งกำลังเดือดร้อนกับอะไร

หลังจากที่ได้ฟังความรู้กับผู้เชี่ยวชาญในทริปนี้ สามารถเล่าได้ง่ายๆ ว่า จริงๆ แล้วการรักษาน้ำ รักษาป่า ก็คล้ายๆ การออมเงิน เราต้องรู้ว่าเรามีรายรับเท่าไหร่ มีรายจ่ายเท่าแล้ว แล้วกระเป๋าตังที่มีอยู่ สามารถเก็บเงินได้เท่าไหร่ เราต้องรู้ว่า เรามีน้ำฝนทั้งปีในปริมาณเท่าไหร่ แล้วเราต้องใช้มันกับทุกกิจกรรมไปเท่าไหร่ แล้วป่า หรือแหล่งที่กักเก็บน้ำของเรา มีพื้นที่สำหรับกักเก็บมันไว้ได้มากมายขนาดไหน อยากมีเงินเก็บมากๆ ก็หามาให้ได้มากกว่าที่ใช้ ขยายกระเป๋าสตางค์ตัวเอง ให้พร้อมรับเงิน และไหลออกเมื่อต้องจับจ่ายอย่างพอดี การสร้างฝายจึงเกิดขึ้นในทริปนี้

ถ้าได้บอกว่าเราต้องสร้างฝายอีกเป็นหมื่นเป็นแสนฝาย กว่าที่จะทำให้ผืนป่า ต้นไม้ฟื้นฟู ฟังแล้วอาจดูหมดกำลังใจ ว่ากว่าจะครบ จะกว่าโต เราจะอยู่ถึงรอดูผลงานของเราไหม แต่ตอนนี้มีคนที่เขาเริ่มทำ เริ่มสร้างไปก่อนเราแล้วเป็นสิบปี การมาทำครั้งนี้ไม่ใช่การเริ่มต้นของอะไรบางอย่างที่เห็น แต่เป็นการต่อยอดของสิ่งที่พวกเขาก่อนหน้า ได้สร้าง และพยายามทำให้มันคงอยู่ เยียวยา รักษา ให้มันกลับมาสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด

เราเลือกพื้นที่ที่แห้งแล้ง พื้นที่ที่โดนทำลายจนแทบไม่เหลือน้ำ เรียกว่าบอบช้ำตรงไหน ไปสร้างฝายตรงนั้น เอาวัสดุจากธรรมชาติแถวนั้นไปสร้าง เอาไผ่ เอาหินไปรักษา เพื่อให้บาดแผลที่แตกระแหงกลายเป็นป่ากลับคืนมา ผมไปร่วมลงมือสร้างฝายกับน้องๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ กลุ่มที่ผมต้องไปร่วมด้วย เป็นน้องจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา หนุ่มใต้ห้าคน ที่ลงทุนนั่งรถไฟ รถทัวร์จากมหาสมุทร เพื่อมาสร้างฝายบนภูผา เห็นแล้วรู้สึกเหมือนกันว่า ช่วงเวลาที่เรามีพลังที่สุด น่าจะเป็นช่วงแบบนี้แหละ ช่วงเวลาที่มีความสามารถที่จะทุ่มเทให้กับสิ่งที่เราเชื่อ เราศรัทธา ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ โดยมีเสียงหัวเราะ แล้วก็กำลังใจจากเพื่อนท่ีเชื่อเหมือนกับเราข้างๆ

เหนื่อยนะ ทำฝาย แต่มันจะเหนื่อยน้อยลง ถ้าเรามีคนทำด้วยกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ฝายหรอก มันก็ทุกเรื่องในชีวิตนั่นแหละ นั่นทำให้เราต้องจับมือร่วมกับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ให้ความรู้ เผื่อที่หลังจากที่เราขึ้นมาช่วยเขาที่นี่แล้ว คนเหล่านี้ต่างหาก ที่จะเป็นคนดูแลมันต่อไป สร้าง รักษา แล้วก็ดูในแต่ละพื้นที่ มันไม่ใช่แค่ทริปที่มาสร้างฝายแล้วปล่อยทิ้ง แต่มันคือการมาสร้างวิธี สร้างความเชื่อในการรักษา พื้นที่ทำกิน แบบถูกวิธี

มันทริปสั้นๆ ที่คนที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่บนภูผาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นทริปที่เปลี่ยนมุมมองความคิดของการเป็นส่วนร่วมในการแก้ไข และฟื้นฟูสิ่งที่ผมละเลยและทำเป็นไม่รับรู้มาเป็นเวลานาน สิ่งที่ผมกับน้องๆ ในทริป รวมทั้งพนักงานของ SCG ไปร่วมทำ อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เราสะสมเงินกับทีละเล็กทีละน้อย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับปีต่อๆ ไป เปลี่ยนมาก เปลี่ยนน้อย ก็ต้องคอยติดตาม แต่ที่เปลี่ยนไปหลังจากที่กลับมา คือความเป็นไปของเรา ที่ให้ความสำคัญกับน้ำ มากกว่าเดิม

ขอขอบคุณบทความจาก บันทึกนึกขึ้นได้

สามารถติดตามบทความได้ที่ : https://www.facebook.com/sleepydiary/posts/969216323242357

Back