Contact Us
Story
Story > Downstream > ทุกครั้งที่มีต้นน้ำ มันมีปลายน้ำอยู่จริงๆ
Share
ทุกครั้งที่มีต้นน้ำ มันมีปลายน้ำอยู่จริงๆ

" ..พี่ๆ รองเท้าหนูสวยไหม ?

..เห้ย สวยมากอะ สุดยอด ซื้อที่ไหน.."

รากำลังคุยกับน้องใยบัวอยู่ตอนนี้ ใยบัวเป็นลูกชาวประมงที่อยู่ในแถบพื้นที่จังหวัดระยอง ของโครงการ "รักษ์น้ำ...จากภูผา สู่มหานที"

หนึ่งในโครงการจาก SCG เราเดินทางมาในทริปนี้ตามคำชวนของพี่ๆ จาก SCG ที่คงจะเล็งเห็นแววตาหนุ่มนักอนุรักษ์ของเรา โดยได้รับการบอกว่าทริปที่เราจะไประยองกันครั้งนี้ มันเป็นทริปการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ปลายน้ำ

ซึ่งอันที่จริง SCG ทำโครงการนี้ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเป็นโครงการรักษ์น้ำที่ดำเนินการตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำอย่าง การทำฝายชะลอน้ำ เรื่อยมาจนถึงพื้นที่กลางน้ำ ด้วยการทำแก้มลิง และจนมาถึงตอนนี้ ในพื้นที่ปลายน้ำของจังหวัดระยองที่เรากำลังจะไปกัน ว่ากันง่ายๆ ก็คือ "รักษ์น้ำ" กันมาตั้งแต่ต้นน้ำจนมาถึงปลายน้ำ "จากภูผา สู่มหานที" ตามชื่อของโครงการ

ทริปนี้เรามีเพื่อนร่วมทางเป็นพี่ๆ พนักงานจาก SCG และน้องๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เค้ามีการตั้งชื่อน้องแก๊งนี้ด้วยนะ “YOUNGรักษ์น้ำ” ฟังแล้วรู้สึกเหมือน 10 โมงเช้าแล้วยังไม่ได้น๊อนนนน

พวกเราแนะนำตัวกันพอเป็นพิธี ตอนเริ่มต้น มีพี่คนนึงเป็นพนักงานของ SCG หน้าเหมือนพี่เต๋อ นวพลมากๆ จนอยากจะเข้าไปขอลายเซ็นเลย เออ พนักงานที่นี่เฟี้ยวดี ส่วนน้องๆ ที่มาร่วมในทริปนี้ ต้องผ่านการสมัครและคัดเลือก ด้วยการส่งผลงานการร่วมกิจกรรมจิตอาสาที่ผ่านมา ตลอดทั้ง 3 วันของทริปนี้ น้องๆทุกคนจะได้รับการฝึกฝนทักษะการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ก่อนจะต้องร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานขึ้นกลุ่มละ 1 ชิ้น เพื่อถ่ายทอดและส่งต่อเรื่องราวของชุมชนและชาวบ้านเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำออกไปให้ผู้คนอื่นๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาของน้ำ และเชื้อเชิญให้พวกเขาเหล่านั้นหันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เราคิดว่ามันเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และทำให้โครงการนี้น่าสนใจกว่าโครงการอื่นๆขึ้นมาก ตรงที่มันเป็นการรวบรวมขาประจำของพวกจิตอาสา ที่ธรรมดาน้องพวกนี้ก็คงตั้งหน้าตั้งตาทำงานจิตอาสาของตัวเองไปตามงานต่างๆ แต่มันจะไม่ดีกว่าหรอ ถ้าเราจะเอาอินเนอร์ตรงนี้มาเปลี่ยนมันเป็นอินไซต์ ที่จะสามารถเชิญชวนคนอื่นๆ มาทำกับเราด้วย และคราวนี้พวกเรากำลังจะทำมันร่วมกัน ซึ่งเราก็มาที่นี่ก็เพื่อช่วยเหลือน้องๆ ในเรื่องนี้ด้วย

น้องหลายคนปรึกษาเราว่า พี่ครับ ผมไม่รู้ว่าจะทำมันให้น่าสนใจยังไง จะเป็นวีดีโอหรือเขียนเป็นบทความดี เราตอบว่าแต่ละอย่างมันก็มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันแหละ ก็ให้เราเลือกอันที่สื่อสารงานของเราได้ดีที่สุด และเราถนัดมันมากที่สุด เราตอบแบบมีหลักการมากๆ โคตรเท่ แต่เราสงสัยนิดนึงตรงที่ว่า เอ๊ะ แล้วถ้าจะทำวีดีโอนี่ ทุกคนแบกกล้องแบกคอมมาตัดต่อกันเลยบนนี้เลยหรอ น้องตอบว่า ใช่ครับ ! โอ้ว้าว ขนาดพี่ไปเรียนยังพกปากกาไปแค่แท่งเดียวเองน้อง น้องมาค่ายน้องพกอุปกรณ์มาขนาดนี้เลยเรอะะ นี่พูดแบบไม่เกรงใจเลยนะ มานี่พี่ยังพกมาแค่แปรงสีฟันเลย แล้วมันไม่ใช่แค่กลุ่มเดียว ! แต่ทุกกลุ่มเพียบพร้อมมาก ประหนึ่งว่าจะมาสร้างหนังโฆษณาไปประกวดที่คานส์ เออๆ ตัวท็อปจริงอะๆ ได้ ไอ้น้อง เรามาร่วมกันส่งต่อเรื่องราวพวกนี้กัน !

เราพึ่งมารู้ทีหลังว่าวันนี้เราจะได้ไปร่วมทำฝายชะลอน้ำที่เขายายดา ที่อยู่ในจังหวัดระยองนี้ด้วย ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมต้นน้ำเลย โชคดีมากๆทีแรกคิดว่าจะได้ทำแต่ปลายน้ำ การเดินทางไปที่เขายายดาไม่ค่อยง่ายเท่าไหร่ เพราะเป็นพื้นที่บนภูเขา ทำให้เราได้เปลี่ยนไปนั่งท้ายรถซ่อมเสาไฟฟ้าแทน ประสบการณ์ใหม่ !

บนเขายายดา เราได้เจอกับ ดร.พงษ์ศักดิ์ ที่สมัยก่อนแกก็เป็นพนักงานของ SCG นี่แหละ แต่พอเกษียณมาแล้วบ้านอยู่ระยองพอดี เขาก็เลยคัมแบ็คกลับมาเป็นนักวิจัยของโครงการรักษ์น้ำนี้แทน จริงๆ พอเขียนนำขึ้นต้นด้วยคำว่า ดร.แบบนี้ มันทำให้ดูนึกภาพได้เป็นนักวิชาการผู้เคร่งขรึมมากกว่า ทั้งที่จริงแกดูน่ารักและเป็นกันเองมาก แถมแกยังแทนคำเรียกทุกคนด้วยคำว่าลูกด้วย จนเรารู้สึกอยากจะเรียกแกว่าคุณลุงซะมากกว่า ดร.

แกเป็นคนออกแบบงานนี้ทั้งหมด ว่าเราจะต้องวางฝายทั้งเขาจุดไหนบ้าง เท่าไหร่ หรืออย่างไร เพื่อให้มันมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งไอ้ฝายนี่ ก็ใช่ว่าจะเหมาะสมกับทุกพื้นที่ ดร. แกว่า พื้นที่ที่เหมาะสมกับการสร้างฝายมากที่สุดก็คือพื้นที่ที่แห้ง ไม่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ฝายมันทำหน้าที่กักเก็บน้ำ และคืนความชุ่มชื้นให้ผืนป่า

การสร้างฝายของที่นี่ทำโดยการใช้หินก้อนเล็กก้อนใหญ่มาเรียงต่อๆกันเป็นฝายหิน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในหน้าแล้ง กลายเป็นทรัพยากรในการเพาะปลูก เป็นทุเรียนและมังคุดแสนรักที่เรากินกันก่อนจะขึ้นมานี่แหละ แต่พอถึงเวลาหน้าฝนที่น้ำเยอะๆ แล้ว เวลาน้ำไหลลงมาที พื้นที่เกษตรกรรมแถบนี้แทบจะหายไปเกลี้ยง เจ้าฝายนี่ก็ทำหน้าที่ในการชะลอน้ำแทน

ดร. ยังสอนเราด้วยว่า วิธีการดูวิถีของน้ำในป่า ให้ดูที่เรือนยอดของต้นไม้ ถ้าเรือนยอดชั้นเดียวแบบนี้ เวลาฝนตกลงมา น้ำมันก็ไหลแรงแน่นอน ง่ายมากไอ้หนุ่ม ดูสิ งงใช่เปล่าล่ะ เออ เราก็งง ไม่เห็นง่ายเลย เห้ย แต่ไอ้ที่เราเล่ามาเมื่อกี้ ไม่ใช่ว่า ดร. แกเปิดสไลด์ยืนถือไมค์อยู่หน้าห้องแล้วพูดให้ฟังนะ แกพูดไปแบกหินไป ยืนทำฝายอยู่กับเรานี่แหละ โคตรได้ๆ ก่อนหน้านี้เจอพลังคนรุ่นใหม่แบกอุปกรณ์มาทำคอนเทนต์ก็ว่าเท่แล้ว แต่เจอพลังคนรุ่นเก๋าแบกหินเข้าไป เป็นไงล่ะผู้ร่วมทริปนี้ของเรา ของจริง

วันนั้นพวกเราช่วยกันสร้างฝายได้เยอะใช้ได้ ก่อนที่เย็นวันนั้นของพวกเราจบลงด้วยร้านอาหารชิวๆ ริมทะเล เป็นรางวัลสำหรับคนทำดี ! หลังจากชั่วโมงของการแบกหามจบลง ตอนนี้หัวสมองเรากำลังนึกถึงภาพกุ้งที่รออยู่บนโต๊ะอาหาร แต่สิ่งแรกที่สายตาเรามองเห็นหลังจากเดินเข้าร้านอาหาร มันกลับไม่ใช่กุ้งบนโต๊ะเลย แต่มันเป็นภาพท้องฟ้าสีชมพูๆ อมเหลือง และแกมฟ้าอีกนิดหน่อยตรงหน้า ที่สะท้อนลงพื้นทะเลอีกชั้น และมีนกบินวนไปวนมาอีก 3-4 ตัว ที่ลับกับช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตกพอดี กลายเป็นภาพที่เหมือนคนใช้สีน้ำมันวาดมันไว้บนผ้าใบและวางโชว์ตามงานแกลลอรี่ต่างๆ มันทำให้เรากำลังนึกถึงบทสนทนาในหนังสั้นที่เคยดูมาเมื่อนาน อันนี้หรือเปล่านะ ที่เรียกว่า Vanilla Sky ตอนนี้เราเข้าใจความหมายของการกระทำทั้งหมดในวันนี้ และของโครงการนี้ทั้งหมดนี้แล้ว ด้วยภาพตรงหน้า เออ เราอนุรักษ์น้ำ อนุรักษ์ทะเล อนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่ง อนุรักษ์กันมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ก็เพื่อให้ภาพความสวยงามอุดมสมบูรณ์มันคงอยู่แบบนี้นี่เอง เราถ่ายรูปมันเก็บไว้เพื่อย้ำเตือนใจถึงเหตุผลที่พวกเราทุกคนมาที่นี่ และหันมาซัดกุ้งที่ติดค้างให้เรียบร้อย สบายใจมากสำหรับค่ำคืนนี้

เช้าวันรุ่งขึ้นเริ่มต้นอีกครั้ง วันนี้เป็นคิวของกิจกรรมปลายน้ำแล้ว วันนี้เราต้องสร้างบ้านปลากัน พี่ๆ ชาวประมงที่นี่เล่าว่า สมัยก่อน มีช่วงหนึ่งที่ปลาหายไปเกือบหมด ออกไปจับปลากี่ครั้งก็กลับมามือเปล่าแทบจะทุกครั้ง จนกระทั่งบ้านปลานี้ถือกำเนิดขึ้นมา The legend is born ! บ้านปลาเป็นสิ่งที่ SCG คิดค้นขึ้นจากท่อ PE100 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มแหล่งประมงชายฝั่ง และเป็นแหล่งรายได้ของชุมชนในแถบจังหวัดระยองและชลบุรี บ้านปลาของ SCG พัฒนาแปลงร่างกันมาหลายเว่อร์ชั่น จนกระทั่งมีหน้าตาเป็นพีระมิดแห่งท่ออย่างที่เรากำลังทำตอนนี้ พอเอาไปทิ้งลงทะเล นานวันเข้า ปลาก็มาว่ายเวียนวนมุดท่อไปมา ชวนเพื่อนมามุดด้วย จนกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาหลากหลายสายพันธุ์ ชิวๆอะ บ้านปลาแต่ละหลังสร้างง่ายนิดเดียว แค่เอาสว่านมาเจาะ กะรูให้ตรง เลื่อยออก ยัดใส่เข้าไปในแกน เอาประแจมาขัน ของพวกนี้เราทำมาตั้งแต่ ป.3 แล้ว ! แต่ขออนุญาตนั่งพักแปปครับ

แถวๆนั้นมีพวกลูกๆชาวประมงวิ่งเล่นกันอยู่ด้วย มองแล้วก็อิจฉา สมัยเด็กๆ ถ้าเราจะเล่นหินดินทราย ก็ต้องไปตามสนามเด็กเล่น หรือไม่ก็หาเอาจากไซส์ก่อสร้าง แต่เด็กที่นี่มีทรายให้เล่นเต็มไปหมดดดด จะก่อปราสาท ตักทรายกี่รอบก็ไม่มีคนแย่ง เราเดินไปเดินมา เข้าไปใกล้น้องแก๊งค์นั้นโดยไม่รู้ตัว

“' พี่ๆ รองเท้าหนูสวยไหม ? “ อะ กูโดนละ คำทักทายจากเจ้าถิ่น ! ไม่สวย ปัญญาอ่อนมาก รองเท้าไรอย่างติงต๊อง ! ล้อเล่น ใครจะบ้าตอบไปแบบนั้น “ เห้ย สวยมากอะ สุดยอด ซื้อที่ไหน " มันเป็นรองเท้าเจ้าหญิงจากดิสนี่ย์สีสันสดใสมากๆ แบบฉบับที่เด็กผู้หญิงในวัยนั้นจะต้องชอบแน่ๆ พอๆกับพวกเสื้อลายขบวนการ 5 สี ที่เราเคยคลั่งไคล้สมัยเด็กๆ น้องบอกว่าแม่หนูซื้อให้ ก่อนจะพาเราไปรู้จักชาวแก๊งค์อีกสองคนที่เหลือ บ้าไปแล้ว นี่มันชาวแก๊งค์รองเท้าเจ้าหญิง !

น้องคนที่มาคุยกับเราชื่อใยบัว ใยบัวเป็นลูกชาวประมงแถวนั้น ซึ่งจริงๆ แม่ของใยบัวก็นั่งอยู่ใกล้ๆ นั้นนั่นแหละ น้าแกกำลังนั่งแกะปลาออกจากแหอยู่ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการออกไปจับปลาในวันพรุ่งนี้ ใยบัวยังคงอวดรองเท้าเราอย่างต่อเนื่อง ถึงส่วนใหญ่ใยบัวจะพูดไม่ค่อยชัด และเราก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เราก็สัมผัสได้ว่าใยบัวภาคภูมิใจกับรองเท้าเจ้าหญิงของตัวเองมาก สมัยเด็กๆ มันจะมีอะไรที่มีความสุขไปกว่าการได้ของเล่นหรือสิ่งของจากการ์ตูนเรื่องโปรดอีกล่ะ เราเข้าใจมันดี และตอนนี้ก้อนความสุขของใยบัวกำลังวิ่งชนเราเข้าเต็มๆ

เช้าวันสุดท้ายของทริป น่าเสียดายที่เราไม่ทันได้อยู่ดูว่าสุดท้ายแล้วน้องๆ YOUNGรักษ์น้ำ ทำคอนเทนต์ออกมาเป็นยังไงกันบ้าง เพราะมีธุระต้องรีบกลับกรุงเทพก่อนในเช้าวันนั้น

แต่เราเลือกแล้วว่าเรื่องของใยบัว คือคอนเทนต์ที่เราอยากจะถ่ายทอดมัน ให้ทุกคนหันมาสนใจการทำกิจกรรมจิตอาสา และการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในทุกครั้งที่พวกเราไปกิจกรรมจิตอาสาตามที่ต่างๆ พวกเราไม่เคยได้อยู่ที่นั่นนานพอ จนได้เห็นคนที่มาใช้ห้องน้ำหรือห้องสมุดที่เราสร้างขึ้น ว่ามันจะเป็นยังไง และหินทุกก้อนที่เรายกในวันแรก เราก็คงไม่มีโอกาสจะได้อยู่ดูมัน ในเหตุการณ์ที่ฝายเหล่านั้นช่วยชะลอหรือกักเก็บน้ำจริงๆ หรือบ้านปลาทุกหลังที่เราสร้าง เราก็คงไม่ทันได้อยู่ดูว่าจะมีปลาสักกี่ตัวมาอาศัยอยู่ในนั้น

เพราะในหลายๆครั้งที่เรายืนอยู่ที่ต้นน้ำ พวกเราไม่เคยได้เห็นเลยว่าที่ปลายน้ำมันเป็นยังไง และน้ำที่เราส่งไปจะไหลลงไปถึงตรงนั้นหรือเปล่า แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นมัน สิ่งที่พวกเราทุกคนต่างได้ร่วมกันทำทั้งหมดในทริปนี้ เราได้เห็นคนที่อยู่ตรงนั้น ตรงที่สุดเป็นปลายน้ำนั่นและพวกเขาได้รับมันจริงๆ เราเห็นใยบัวที่ยืนอยู่ตรงนั้น พร้อมกับรองเท้าคู่ใจ ที่ส่งมันมาเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่เราเขียนอยู่นี้

เพราะทั้งหมดที่พวกเราทำกันวันนี้ มันยังทำให้แม่ของใยบัวที่กำลังนั่งแกะปลาออกจากแหอยู่ตรงนั้น ยังสามารถจับปลาได้ในวันถัดๆไป และเปลี่ยนมันเป็นเงินที่ใช้จ่ายในครอบครัว เพื่อให้ใยบัวได้มีชีวิตที่มีความสุขต่อไปในแบบที่เด็กคนนึงควรจะได้รับ

ขอบคุณ SCG สำหรับคำเชื้อเชิญ และขอบคุณทุกคนที่เป็นต้นน้ำสำหรับสิ่งดีๆ เหล่านี้ ให้มันมาถึงปลายน้ำที่เรายืนอยู่ ณ ตอนนี้ จนเราได้เห็นมันกับตา ตอนนี้เราได้รู้แล้วว่า ทุกครั้งที่มีต้นน้ำ มันมีปลายน้ำอยู่จริงๆ


ขอขอบคุณบทความจาก วันนี้เราไปเจอนี่มา

สามารถติดตมบทความได้ที่ : https://www.facebook.com/1565285110432872/posts/1870483206579726/

Back