Contact Us
Story
Story > Downstream > คืนความสมบูรณ์ธรรมชาติ ดูแลปลายน้ำตามศาสตร์พระราชา
Share
คืนความสมบูรณ์ธรรมชาติ ดูแลปลายน้ำตามศาสตร์พระราชา

เชื่อว่าหลายคนคงเคยท่องเที่ยวทะเลกันบ้าง บางคนไปตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ถึงแม้โตแล้ว แต่ผืนน้ำและท้องทะเลก็ยังเป็นสิ่งที่จรรโลงใจพวกเราได้อยู่เสมอ แต่เคยสังเกตกันไหมครับว่า ผ่านมา 10 ปีแล้วทะเลไทยเป็นอย่างไร หรือ 5 ปีที่แล้วล่ะเป็นอย่างไร และปัจจุบันเป็นอย่างไร...

ถึงแม้จะไม่อยากยอมรับ แต่เราต่างรู้ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร จากจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลทั้งไทยและต่างชาติ ทะเลไทยได้เสื่อมโทรมไปพอสมควร แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบทั้งในเชิงการท่องเที่ยว และการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่

แต่ท่ามกลางเรื่องราวน่าเศร้าก็ยังมีมุมดีๆ ที่ซ่อนอยู่ หลายครั้งหลายคราเราพบว่า ทั้งภาคเอกชน ชาวบ้าน หรือประชาชนทั่วไปพยายามออกมาช่วยรณรงค์และลงมือทำ

วันนี้เราจะพาทุกท่านมาพบกับเรื่องราวดีๆ ขององค์กรอย่างเอสซีจีที่ได้ผลักดันโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” โดยเป็นโครงการสร้างบ้านปลา บ้านมดตะนอย จ.ตรัง โดยเป็นโครงการเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development-SD) ผ่านกิจกรรมที่ช่วยอนุรักษ์น้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ส่วนโครงการจะเป็นอย่างไร มีรายละเอียดหรือประสบความสำเร็จไปถึงแล้วนั้น เรามาติดตามได้เลยครับ


พื้นที่ต้นน้ำ

หากจะดูแลกันให้ดี ก็ต้องย้อนกลับไปดูที่พื้นที่ต้นน้ำกันก่อน อย่างพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำพุ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่อยู่ใกล้พื้นที่แหล่งน้ำ ช่วงฤดูฝนน้ำหลากทำให้หน้าดินถูกชำระล้าง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรม แต่พอถึงหน้าแล้ง ยางซึ่งเป็นพืชหลักของการเกษตรของโซนนี้ ก็ให้ผลผลิตน้อย พืชชนิดอื่นก็ตายเพราะขาดน้ำ ในปีที่ผ่านมาทางเอสซีจีจึงได้เชิญชวนแกนนำชุมชน ไปศึกษาดูงานการสร้างฝายที่ประสบความสำเร็จจากจังหวัดลำปาง เพราะฝายจะช่วยทั้งการชลอน้ำ ดักตะกอน และดักกักเก็บน้ำเอาไว้ จนได้แรงบันดาลใจนำเอาความรู้กลับไปสร้างฝาย ในพื้นที่บ้านน้ำพุของตน


ฝายในใจคน

การสร้างฝายได้สร้างผลประโยชน์ที่ดีเยี่ยม ช่วยลดระยะเวลาแล้ง โดยฝายที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีบทบาทเข้าไปถึงจิตใจของชาวบ้าน เป็นการทำให้ชาวบ้านเข้าใจจริงๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่ามันมีประโยชน์ เพราะหากชาวบ้านเข้าใจว่าสิ่งนี้ดีจริง วันข้างหน้าเขาก็จะพัฒนาสิ่งนี้ด้วยตัวเอง

โดยตั้งใจจะให้พื้นที่นี้มีฝายให้ได้ 300 ฝายในเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันสำเร็จไปแล้ว 100 ฝาย และยังรวมถึงการขยายพื้นที่ไปในตำบลอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน


กลางน้ำก็ต้องดูแล

นอกจากจะสร้างฝายที่ต้นน้ำแล้ว เอสซีจียังคงเน้นย้ำการดูแลจัดการน้ำแบบยั่งยืน อย่างพื้นที่กลางน้ำก็ต้องดูแล การคืนสมดุลระบบนิเวศน์ ยังช่วยส่งต่อน้ำไปสู่สระพวงเชิงเขา โดยเป็นการดำเนินการอย่างการสร้างสระพวงเพื่อเป็นแหล่งสำรองน้ำ และการจัดการน้ำโดยระบบแก้มลิงเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในทางเกษตรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย


พื้นที่ปลายน้ำ

สำหรับพื้นที่ปลายน้ำ อย่างบ้านมดตะนอย ต.ลิบง อ.กันตัง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ชาวประมง ซึ่งช่วงมรสุม ชาวบ้านจะไม่สามารถออกไปหาปลาได้ ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงต้องการบ้านปลาหรือซั้งกอ ที่เป็นดั่งแหล่งอนุบาลและพึ่งพิงของสัตว์ มาช่วยเพิ่มทรัพยากรปลาในพื้นที่ ทำให้ช่วงมรสุมไม่ต้องเสี่ยงกับการออกเรือ และต่อยอดการทำประมงอย่างยั่งยืนอีกด้วย พอพูดถึงบ้านปลา เรามาดูประโยชน์ของมันกันสักนิด


ประโยชน์ของบ้านปลา

เราลองมาดูประโยชน์ของบ้านปลาคร่าวๆ กันก่อนดีกว่า

เชิงสิ่งแวดล้อม: บ้านปลาปูนทนน้ำทะเลเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา ที่จะดึงดูดสัตว์น้ำหลากหลายประเภท จะเป็นดั่งพื้นที่อนุบาลและหลบภัยของปลาได้อีกด้วย

เชิงในแง่ของสังคม : ในช่วงมรสุม เป็นช่วงเวลาที่ชาวประมงไม่สามารถนำเรือออกไปทำประมงได้ และบ้านปลาก็เข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ได้อย่างดีเยี่ยม การมีบ้านปลาในคลองลัดมดตะนอย จะช่วยสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ แม้จะเป็นช่วงเวลามรสุมก็ตาม

ส่วนใครที่กังวลเรื่องผลกระทบของบ้านปลา ก็ขออธิบายไว้ดังนี้ครับ

จากวิจัยทำให้เราพอทราบได้ว่า ถึงแม้บ้านปลาจะทำจากปูนซีเมนต์ผสมเถ้าลอย แต่มันก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย เพราะไม่ได้ปล่อยโลหะหนักในระดับที่กระทบสิ่งแวดล้อมนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ต้องช่วยกันกำหนดเงื่อนไข ในการทำประมงร่วมกันให้ชัดเจน ไม่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย หรือเครื่องมือทำประมงที่ทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงเร็วเกินควร

ผสานนวัตกรรมกับการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ทางเอสซีจียังร่วมงานกับภาครัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาบ้านปลา เพื่อให้เป็นต้นแบบของชุมชน โดยนำนวัตกรรมปูนทนน้ำทะเลและ 3D Printing มาใช้ ซึ่งปูนทนน้ำทะเลจะทนทานต่อสภาพแวดล้อมดีกว่าปูนซีเมนต์ทั่วไป เรียกได้ว่ามีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และไม่กระทบต่อส่งแวดล้อมอีกด้วย

ส่วนการดีไซน์นั้น รูปทรงของบ้านปลาได้นำเทคโนโลยี 3D Printing เข้ามาตอบโจทย์ ประหยัดเหล็กที่ใช้ในโครงสร้าง แต่ก็ทนทานแข็งแรงในแบบฉบับปูนซีเมนต์

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่บ้านปลา แต่มันคือการอนุรักษ์ชายฝั่งและท้องทะเล

นอกจากบ้านปลาแล้ว ยังมีการสนับสนุนงานวิจัยภายในชุมชนอีกมากมาย พัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่น การเพาะพันธุ์ป่าชายเลนและพืชผักต่างๆ การกำจัดขยะเพื่อคืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเล รวมถึงการส่งเสริมชุมชนที่เข็มแข็ง ต่อยอดสู่การสร้างอาชีพทำประมงอีกด้วย

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือการสร้างแรงบันดาลใจ ให้มีการยืนหยัดด้วยตัวเอง พร้อมทั้งส่งต่อองค์ความรู้และแนวคิดให้คนรุ่นหลัง ทั้งในเรื่องของจิตอาสาและแนวทางการปฏิบัติบริหาร เพื่อผลลัพธ์ของทุกชีวิตที่ยั่งยืน

แล้วคุณล่ะครับ มีเรื่องราวไหนที่เกี่ยวการอนุรักษ์ชายฝั่ง หรือท้องทะเลแบบยั่งยืนกันบ้าง มาร่วมแชร์กันได้เลยครับ


ขอขอบคุณบทความจากทาง Brand Think

สามารถติดตามบทความได้ที่ : https://www.facebook.com/brandthinkbiz/posts/2059645051027703

Back